นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกร มักใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งใช้มากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดทั้งหมด 6,079 คน คิดเป็นอัตราป่วย 12.95 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดแมลง 2,956 คน คิดเป็น อัตราป่วย 6.3 ต่อแสนประชากร
สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถเกิดพิษได้ 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลัน อาการจะเกิดขึ้นทันที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า แสบตา และแบบเรื้อรัง เกิดจากการสัมผัสเป็นเวลานาน และเกิดพิษสะสมจนก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาต่อสุขภาพ เช่น มะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด การสูญเสียการได้ยิน และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
นพ. สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนโรคเนื้อเน่า นั้น ทางการแพทย์เรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส (Necrotizing fasciitis) จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง มีอัตราตายและพิการสูง พบในอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ต้องเดินลุยดงหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา ทำให้มีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือในน้ำได้ง่าย ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มี ภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า
สำหรับภาคอีสานพบเกษตรกรป่วยมากที่สุด 5อันดับของประเทศ 1.โคราช : 505 คน
2.ร้อยเอ็ด : 483
3.บุรีรัมย์ : 371 คน
4.อุบลราชธานี : 315
5.มหาสารคาม : 234 คน
สำหรับโรคเนื้อเน่ายังเป็นปัญหาของเกษตกรที่ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปว่าเป็นเพราะสาเหตุใด โดยเฉพาะจังหวัดหนองบัวลำภู ในปี 2560 มีผู้ป่วย กว่า 120 ราย
Comments