top of page
Writer's pictureThe Isaander

สมัย อ่อนวงศ์ : ยอดขุนพลแคนนอกอีสาน แล้วเลาคนบ้านใด๋?

Updated: Feb 5, 2020

สมัย อ่อนวงศ์ : ผู้บุกเบิกนำแคนมาใช้ประกอบดนตรีลูกทุ่งจนโด่งดังไปทั่วโลก ไม่ไช่คนอีสาน แล้วเลาคนบ้านได๋ ?

มาจากไหน ?

คำถามสั้นๆแต่หนักแน่นกินความหมายสไตล์นักโบราณคดี "หนุ่มหน่ายคัมภีร์ " ผุดขึ้นมาในความคิดแทบทุกครั้ง

เมื่อเราได้เชื่อมเสพวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใด อาจจะเป็นเพลงสักอัลบั้ม หนังสือสักเล่ม หรือการละเล่นเช่นละคอนสักบทตอน

ความรับรู้และสัมผัสถึง สิ่งๆนั้นมาจากที่ไหน พื้นที่ภูมิภาคใด นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากชุดประสบการณ์ที่ได้รับชมรับฟัง แต่ก็มีบางครั้งสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น กลับไม่ใช่

เช่นเดียวกับที่ ทีมงาน The Isaander เคยเข้าใจผิดว่า สมัย อ่อนวงศ์ นักเพลงเจ้าของฉายา ขุนพลแคนสยาม เป็นคนอีสานโดยกำเนิด ซึ่งผิด !!

"บ่เป็นหยังดอก" "ปืนบ่มีลูก" "คนหูหนวก" "เปิดเบิ่ง" "หนาวๆร้อนๆ" นักฟังเพลงรุ่นหลังอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าเพียงแค่เอาลิสต์ชื่อเพลงเหล่านี้ไปค้นหาในยูทูปและเปิดเล่น

มากบ้างน้อยบ้าง จังหวะดนตรีม่วนๆระคนเฮฮาเหล่านี้คงผ่านโสตประสาทคุณบ้างสักครั้ง

-------

86 ปีที่แล้ว ที่บ้านทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี สมัย อ่อนวงศ์ เกิดในครอบครัวชาวไทยทรงดำ ที่บรรพบุรุษถูกกวาดต้อนมาจากเมืองแถน แคว้นสิบสองุไท ประเทศลาว ที่ติดพรมแดนเวียดนามตอนเหนือใกล้กับพรมแดนจีนในขณะสงครามตั้งแต่ปี 2321

จากการที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ตายายเป็นผู้เลี้ยงดู หลังบวชเรียนจนจบและลาสิกขา ด้วยนิสัยชอบดนตรีไทยและเพลงพื้นบ้านประเภทหมอลำและพอฝึกฝนเล่นได้ ระยะแรกจึงรับหน้าที่เป่าแคนให้วงหมอลำ

แต่เป็นหมอแคนของสมัยนั้น ได้เงินน้อยสู้ หมอลำไม่ได้ จึงไปหัดเล่นหมอลำ กระทั่งสมัครเป็นลูกศิษย์หัดร้องกลอนลำจากอาจารย์เสี้ยว เสือแป้น หมอลำชื่อดังของเมืองไทย

ตำนานก็เริ่มขึ้นเมื่อเข้าเมืองหลวง สมัย อ่อนวงศ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท "แคน" จากงานประกวดที่สถาบันดนตรีแห่งหนึ่ง เมื่อปี 2500

นั่นเป็นจุดเริ่มและกำลังใจที่อยากพัฒนาดนตรีประเภทแคนไทยให้ได้รับความนิยมมากขึ้น

นำมาสู่การตั้งวงดนตรีแคนประยุกต์แบบมาตรฐานขึ้นมา เพื่อออกตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ เปิดทำการแสดงครั้งแรก ที่วงเวียนใหญ่ ท่ามกลางผู้คนให้ความสนใจเข้าชมอย่างล้นหลาม

ว่ากันว่าวงการลูกทุ่งไทยเข็มไมล์จะเริ่มหมุนในปี 2507 แต่ปีถัดมาของสมัย อ่อนวงศ์ นั้น เขาพยายามคิดค้นวิธีประยุกต์แคนไทยให้เป็นแคนไฟฟ้าเพื่อไปอวดสายตาชาวโลก

จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จและสามารถรวบรวมเป็นวงดนตรีแคนประยุกต์ไฟฟ้า เปิดทำการแสดงครั้งแรกที่สถานีวิทยุประชาสัมพันธ์ 7 ใต้สะพานพุทธยอดฟ้า และได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ก่อนสมัย อ่อนวงศ์ จะบันทึกเสียงครั้งแรกกับเพลง "แคนสวาท" ที่แต่งจากปลายปากกาของครูไพบูลย์ บุตรขัน และร่วมก่อตั้งวงดนตรี "สมัย อ่อนวงศ์" ร่วมกับครูกานท์ การุณวงศ์ เพื่อนสนิท

จนชีวิตนักดนตรีของเขาจะก้าวสู่ช่วงรุ่งโรจน์ระหว่างปี2513-2527 เมื่อมีโอกาสไปแสดงดนตรีตามที่ต่างๆทั่วโลก

ยุคสมัยนั้น สมัย อ่อนวงศ์ เปรียบดั่งทูตทางวัฒนธรรมที่ใช้ "แคน" ไปสื่อสารให้คนหลายๆประเทศเห็นความรุ่มรวยของเสียงพิณ แคน และท่วงทำนองอีสาน

อีกทั้งความสนุกสนานในแบบไทยๆ เขาเคยเดินทางไปเล่นดนตรี กล่อมขวัญทหารไทย ในเวียดนามและประเทศลาว ได้รับเหรียญเสรีชน จากรัฐบาลยุคนั้นหลายครั้ง

และสร้างชื่อเสียงอีกครั้งเมื่อ ตัวแทนนักเรียนไทยในประเทศเยอรมันให้ไปโชว์ “แคนไทย” ใน 6 ประเทศ ในทวีปยุโรป คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ

ที่ประเทศญี่ปุ่น สมัยได้รับโอกาสให้ไปแสดงโชว์ที่เมืองโอซากา และโตเกียว ทางสถานีโทรทัศน์สองช่องหลัก เป็นเวลาร่วมเดือน ซึ่งบทเพลงแคนร่วมสมัยได้รับความ นิยมอย่างมากจากชาวญี่ปุ่น

กระทั่งก้าวเข้าสู่เกียรติยศ ได้รับรางวัลเป็นหมวก “ ยอดขุนพล” ซึ่งมอบให้แก่บุคคลผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงได้รับสมญานามว่า “ ยอดขุนพลแคนแดนสยาม”

ตลอดชีวิต สมัย อ่อนวงศ์ มีบันทึกแผ่นเสียงเพลงของครูเพลงชื่อดังมากกว่า 100 เพลง เช่นเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน, กานท์ การุณวงศ์, ประเทือง บุญญประพันธ์, ณรงค์ โกษาผล , , มงคล อมาตยกุล

ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง เช่น "บ่เป็นหยังดอก" "คนหูหนวก" และ "ปืนบ่มีลูก"

ด้านชีวิตส่วนตัว สมัยสมรสกับคุณรวม อ่อนวงศ์ มีทายาทรวม 5 คน สมัย อ่อนวงศ์ เสียชีวิตเมื่อปี 2539 ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ขณะอายุ 65 ปี

ได้รับการยกย่องจากสำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้เป็น “ศิลปินเมืองเพชร” สาขาดนตรีและการแสดง ก่อนหน้านี้เคยรับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแล้ว

หลังการเสียชีวิต เทศบาลเขาย้อยร่วมกับครอบครัวและประชาชนชาวอำเภอเขาย้อยจัดสร้าง “อนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์” ขึ้นที่บริเวณด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย เป็นรูปเหมือนเท่าตัวจริง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง ผสมทองแดง ความสูง 170 เซนติเมตร ในลักษณะท่ายืนก้าวเท้าขวาเล็กน้อย

หันหน้าไปทางทิศเหนือ สวมชุดผ้าลายแตงโม ซึ่งเป็นผ้าทอมือพื้นบ้านชาวไทยทรงดำ มือซ้ายถือแคน แนบอก มือขวาถือโล่รางวัลแผ่นเสียงทองคำ

อันเป็นการรำลึกถึง ขุนพลแคนแดนสยาม ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีเพลงแคนพื้นบ้าน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นต้นแบบของนักเพลงรุ่นหลังหลายๆคนและ เป็นความภูมิใจให้กับชาวอำเภอเขาย้อยและชาวไทยเป็นอย่างมาก

ภาพประกอบ:

1,271 views0 comments

Comments


bottom of page