พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้รับเลือกจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี (อีกครั้ง) ด้วยคะแนนเสียง 500 เสียง
พล.อ.ประยุทธ์ หรือ ลุงตู่ ขวัญใจคนดูโทรทัศน์วันศุกร์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ สามารถเอาชนะคู่แข่งที่หนุ่มกว่าอย่าง พ่อของฟ้า ธนาธรจึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปได้ในการประชุมสภาที่มีการอภิปรายยาวเหยียด แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้
ธนาธร ได้ 244 เสียง ขณะที่มี 3 รายงดออกเสียง คือ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย
ขณะที่ ธนาธร ไม่ได้โหวตเนื่องจากถูกให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกในวันนี้
ก่อนกลายมาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการทหารบก และตั้งตัวเองเป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
หลังได้อำนาจบริหารด้วยข้ออ้างความไม่สงบ คุณลุงชาวนครราชสีมาผู้นี้ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ก่อนแต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อให้ทำงานสำคัญงานแรก ในการเลือกเขาเองเป็นนายกรัฐมนตรีถาวร เริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ภายใต้การรักษาความสงบของ คสช.
ต่อมา คสช. ได้แต่งตั้ง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ขึ้นมาเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนฉบับที่ คสช. ได้ฉีกไปก่อนหน้านั้น และให้โอกาสประชาชนได้ลงประชามติ แต่ไล่จับกุมกลุ่มคนที่รณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว หรือกระทั่งดำนเนิคดีกับผู้ที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความดีเลวของร่างฉบับนั้น
หลังลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2559 รัฐธรรมนูญประกาศใช้จริงในปี 2560 พ่วงบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. ที่มาจากการคัดสรร มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ในช่วง 5 ปี หลัง คสช. สิ้นอำนาจ
ในการบริหารประเทศ รัฐบาลที่มาจาก คสช. ได้จัดตั้งโครงการที่เรียกว่า ประชารัฐ เพื่อดำเนินนโยบาย ที่อ้างว่า ไม่ใช่ประชานิยม ต่อมาก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ไม่นานนัก รัฐมนตรีในรัฐบาลของลุงตู่ ได้ก่อตั้งพรรค พลังประชารัฐ ซึ่งบังเอิญมีชื่อคล้ายกับ นโยบาย หรือโครงการของรัฐบาลอย่างน่าประหลาด
และพรรคพลังประชารัฐ ประกาศตัวพร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้ง ที่ลูงตู่ เคยสัญญาว่า จะให้เลือกตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งจะได้เลือกหลังจาก คสช. ครองอำนาจกว่า 4 ปี
ในการต่อสู้ครั้งนี้ พลังประชารัฐได้รวบรวม อดีต ส.ส. หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยสังกัดพรรคอื่น เข้ามาอยู่ในพรรคตัวเอง จำนวนมาก
และในที่สุด ต้นปี 2562 ประเทศไทยได้เห็นโฉมหน้าของส.ว. 250 คน ที่ได้รับการรับรองโดย คสช.
หลังเลือกตั้ง ส.ส. 24 มีนาคม 2562 แม้ว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด แต่ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. รองลงมา กลับประกาศว่า จะจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่สนใจธรรมเนียมปฏิบัติเดิมของ สภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สิทธิ พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด ตั้งรัฐบาลก่อน
ท่ามกลางความสับสนเรื่องคะแนน และการคำนวณ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค กกต. ที่มาจากการรับรองโดย สนช. ที่แต่งตั้งมาโดย คสช. ได้คำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยกระจายคะแนนเสียงให้แก่ พรรคหน้าใหม่ หลายพรรค แม้บางพรรคมีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง จำนวน ส.ส.ที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ
ต่อมา พรรคเหล่านั้นไม่แตกแถว ประกาศชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ก็เอากับเขาด้วย ประกาศร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ โดยอ้าง เสถียรภาพของรัฐบาล
และ 5 มิถุนายน 2562 ส.ว. จากการรับรองของ คสช. ส.ส. พรรคจิ๋ว จากการรับรองของ กกต. รวมทั้ง ส.ส. พรรคที่ประกาศร่วมหัวจมท้ายกับพลังประชารัฐ ก็ได้ร่วมยกมือเลือก หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และพวก รวม 7 พรรค จึงต้องไปเป็นฝ่ายค้านตามระเบียบ เก็บตกวันเลือกนายกฯ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ชวนนักข่าวอ่านแอนิมอลฟาร์ม และ 1984 และแถลงว่า
“ทุกท่านทราบแล้วว่า ประชาธิปัตย์มีมติเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมยืนยันจุดยืนเดิม ผมไม่สามารถเดินไปในห้องประชุม และเดินไปลงคะแนนฝ่าฝืนมติพรรคได้ จะให้ผมลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์ ก็ทำไม่ได้ ผมขอโทษกับพี่น้องประชาชน ดังนั้น ผมเหลือทางเดียว ที่จะรักษาเกียรติภูมิหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะต้องรักษาคำพูด ผมจึงจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงวิสัยทัศน์หน้าสภา หลังจากที่ประชุมรัฐสภาไม่อนุญาตให้เขาเข้าไปพูดข้างในห้องประชุม
“ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความจริง ความเปลี่ยนแปลง และนำพาประเทศไทยไปข้างหน้า”
“เราจำเป็นต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ ที่เต็มไปด้วยความเป็นจริงอันซับซ้อน พร้อมที่จะถีบคลื่นโลกาภิวัฒน์ได้เต็มที่ เราต้องกล้าฝัน และผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลง”
“เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ หลายปัญหาเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจ แต่ทางออกที่ชัดเจนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโครงสร้าง เผชิญหน้ากับกลุ่มทุนขนาดใหญ่”
“ถ้าเราแก้ปัญหาที่ต้นตอ คิดอย่างเป็นระบบ และทำงานเป็นทีม ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี”
“สิ่งที่ผมจะสร้างคือ คนไทยต้องเท่าเทียมกัน”
เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง มาพร้อมเฝือกที่แขนขวา และโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย (โดยมีตัวแทนรับหนังสือ)
“คัดค้านการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ว. ชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
“เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หัวหน้ารัฐบาลจึงควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อความสง่างาม ดังนั้นผมจึงเห็นไม่สมควรให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี”
ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายคุณสมบัติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือลุงตู่ หรือบิ๊กตู่ หรือหัวหน้า คสช. ซึ่งถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ วันนี้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็เป็นหัวหน้าคณะความสงบเรียบร้อย(พูดผิด)แห่งชาติด้วย ตำแหน่งนี้ท่านได้จากการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และท่านก็ตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ใช้ประกาศ และคำสั่ง หัวหน้า คสช.”
“เราปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญถึง 2 เดือนเต็ม หลังจากนั้นจึงมีการตรารัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ในมาตราสุดท้ายนั้น ไปนิรโทษกรรมการก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความข้อนี้ หมายความว่า ตัวพลเอกประยุทธ์ ก็รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำการยึดอำนาจ เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าท่านไม่รู้ว่าท่านกระทำผิดกฎหมาย ท่านไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมตัวเอง”
“เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คือ ความผิดฐานกบฏ ฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แสดงให้เห็นเองว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย”
“อย่าพยายามปล่อยปละละเลย จนมันลื่นไถล ให้มีการสืบทอดอำนาจ และมีจุดจบเหมือนพฤษภาคม 2535 สมาชิกวุฒิสภา ท่านได้รับการแต่งตั้งแล้ว ท่านเป็นอิสระจาก หัวหน้า คสช. ดังนั้น ขอความกรุณางดออกเสียง เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี”
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นแย้ง ปิยบุตร หลังจากได้กล่าวหาพลเอกประยุทธ์ว่า ไม่ฝักใฝ่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตย
“ผมนิยมเผด็จการประชาธิปไตย”
“ในช่วงที่ก่อนรัฐประหาร บ้านเมืองมีความแตกแยก กระทบความผาสุกของพี่น้องประชาชน ปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมาไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากฝ่ายการเมืองพวกเรากันเอง กลียุค มีการปิดถนนกันเป็นปีๆ มีการเผาบ้านเผาเมืองสิ่งที่ท่าน(ปิยบุตร แสงกนกกุล)ว่า ท่านพลเอกประยุทธ์กระทำขัดจริยธรรม ท่านไม่ได้กระทำอะไรเลย สิ่งที่ท่านทำในช่วงที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขวิกฤตของประเทศ มันเกิดขึ้นจากปัจจัยของประเทศ ที่ทำให้เกิดเรื่องเหล่านั้น”
“แม้วุฒิสภาถูกเลือกโดย คสช. ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถึงท่านไม่ชอบใจ รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ท่านไม่ชอบ แต่ท่านก็เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ”
“ที่ผ่านมามีการเรียกตัวเองฝ่ายประชาธิปไตย มีฝ่ายเผด็จการ แต่ช่วงที่ผ่านมาประชาชนไม่มีเสรีภาพตรงไหน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทั่วๆไป พลเอกประยุทธ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี… สมาชิกวุฒิสภามีอิสระ ไม่ต้องตอบแทนใคร เราจะพิจารณาเรื่องนี้โดยเหตุผล และข้อมูล”
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงความจำเป็นในการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ในฐานะ หัวหน้า คสช. เพื่อยืนยันว่า รัฐประหารจำเป็น และพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ทำผิดจริยธรรม แม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดรัฐประหารก็ตาม
“ประเด็นหนึ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกอภิปรายมากที่สุดอาจจะไปอยู่ในเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรม อาจจะไปอยู่ในเรื่อง การเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พูดง่ายๆก็คือ การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้าเราจะพูดถึงแต่การรัฐประหาร ไม่มีใครเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่เราก็ต้องพูดถึงเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารด้วยว่ามีเหตุการณ์ใด ที่ทำให้เกิดความจำเป็นของคณะทหารที่ตัดสินใจทำรัฐประหารนั้น”
“ผมเคยจดไว้เป็นสถิติว่า ตลอดระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีการชุมนุมชนิดปักหลักพักค้าง ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมระยะเวลา 8 ปีเศษ เรามีการชุมนุม ของฝ่ายต่างๆ ของสีต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ ปิดถนน และมีความรุนแรงเกิดขึ้น รวมทั้งสิ้น 701 วัน เท่ากับว่าในระยะเวลา 8 ปีเศษ มีการชุมนุมปักหลักพักค้าง 2 ปีเศษ คิดเป็น 1 ใน 4 ของระยะเวลาทั้งหมด"
“ในการชุมนุมรวมกันทุกฝ่ายมีความรุนแรงเกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิต 131 คน มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยถึงสาหัส 3,388 คน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมทุกอย่าง 2 ล้านล้านบาท”
“ผมถามว่า ณ วันที่ท่านตัดสินใจทำรัฐประหารท่านเสี่ยงไหม? ถ้าไม่สำเร็จเป็นกบฏ”
พรรณิการ์ วานิช อดีตผู้ดำเนินรายการช่องวอยซ์ทีวี ปัจจุบัน เป็น ส.ส. และโฆษก พรรคอนาคตใหม่
“วันที่ 25 มีนาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ มีภาวะอารมณ์เสีย และมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งต่อสื่อมวลชน โดยสื่อถามว่า พลเอกประยุทธ์ต้องการให้สื่อทำหน้าที่อย่างไร พลเอกประยุทธ์ บอกว่า สื่อที่เสนอข่าวสร้างความแตกแยกจะให้ประหารชีวิตดีหรือไม่”
“เป็นการพูดเล่น ที่พลเอกประยุทธ์บอกว่าพูดหยอกเย้ากับสื่อมวลชน แต่คำพูดของพลเอกประยุทธ์ ที่มีการพูดต่อมาว่าจะใช้ เครื่องประหารหัวสุนัขกับนักข่าว คำพูดนี้ถูกนำไปเป็นพาดหัวในสื่อต่างประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวรอยเตอร์ อัลจาซีร่า อินดิเพนเดนซ์ วอชิงตันโพสต์ วีโอเอ ซึ่งเป็นสำนักข่าวชั้นนำระดับโลก”
“รอยเตอร์ได้ไปสัมภาษณ์ตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และผู้แทนของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้มีการพิพากษ์ วิจารณ์คำพูดดังกล่าวว่า เราหวังอย่างจริงใจว่า การข่มขู่นี้ไม่ใช่การข่มขู่ที่จริงจัง เพราะว่าคำข่มขู่นี้แม้ว่าจะไม่จริงจัง แต่ทำให้เกิดบรรยากาศที่เสรีภาพนั้นถูกริดรอนกดขี่”
“ท่ามกลาง 5 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่ผ่านมา มีการลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 59 ครั้งด้วยกัน ในจำนวนนั้นมีการปิดสถานีข่าวทั้งสถานีถึง 14 ครั้ง”
“ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวของพลเอกประยุทธ์ทำให้เห็นได้ว่า กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์นายกรัฐมนตรี”
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ผู้เคยคุยโวว่า เป็นผู้ทำให้ ส.ว. มีสิทธิเลือก นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นพูด โดยที่ไม่มีใครปรบมือให้เขาในรัฐสภาวันนี้
"ผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเอา 2 คนมาเปรียบกัน เพื่อจะดูคุณสมบัติประกอบการตัดสินใจ พลเอกประยุทธ์ กับอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ คุณธรรม จริยธรรม ต่างกัน"
"พลเอกประยุทธ์ มาจากประชาชนมากที่สุดเมื่อรวมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุน ผมนับดูแลเกือบ 15 ล้านเสียง มากกว่าอีกคนนึงที่เสนอ การเลือกวันนี้ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้เอาปืน ไม่ได้เอาทหารมาจี้ เพราะฉะนั้นพลเอกประยุทธ์ มาจากประชาชน"
"คนที่มีคดีติดตัวจะเลื่อนตำแหน่ง จะขยับอะไรยากลำบาก ปรากฎว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่มีคดีค้างอยู่ในโรงในศาล แต่อีกคนนึง มีคดีค้างอยู่ในโรงในศาล"
"พลเอกประยุทธ์ มาจากรัฐธรรมนูญที่คนส่วนใหญ่กำหนด ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดเอง เมื่อเปรียบเทียบ พลเอกประยุทธ์ มีคุณสมบัติเหนือกว่า ไม่มีประวัติในความไม่น่าไว้วางใจ ทุจริต ไม่มีประวัติการซุกหุ้น"
มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ คือ ส.ส. ที่ช่างภาพถามหามากที่สุดในช่วงเช้าวันประชุมสภา "เต้ พระราม 7 มายัง" "เต้ พระราม 7 อยู่ไหน" คือประโยคสุดฮิตในหมู่พรานล่าภาพ
"บ่ได้เสี่ยง บ่ได้เสีย แต่บ่ปาก บ่หยัง ซือ ซือ" เต้ ไม่ได้กล่าว มื้อเลือกนายกฯ
Comentarios