Forget Me Not (2018) โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล จะฉายที่งานพิธีเปิดฝังลูกนิมิต ณ The MANIFESTO by MAIELIE ริมบึงแก่นนคร ต. ในเมือง อ. เมือง จ. ขอนแก่น
วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เวลา 18.30 น.
คัดสรรโดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ(ผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้)
เกี่ยวกับภาพยนตร์
Forget Me Not เป็นผลงานศิลปะภายใต้นิทรรศการ MEDIA/ART KITCHEN AOMORI -Politics of Humor and Play ที่ร่วมจัดโดย ACAC และเจแปนฟาวน์เดชั่นเอเชียเซ็นเตอร์ และกลายมาเป็นนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยว Behind the Painting ที่ร่วมจัดโดยเจแปนฟาวน์เดชั่นกรุงเทพฯ และ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และในปี 2560 จุฬญาณนนท์ได้สร้าง Museum of Kirati เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่ Bangkok CityCity Gallery
รายละเอียดภาพยนตร์
2018 / Romantic Drama / Thailand / 90 min/ sound / color / 16:9 / Thai with English subtitle
เกี่ยวกับศิลปิน
จุฬญาณนนท์ ศิริผล เกิด พ.ศ. 2529 เขาสนใจในการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆในงานภาพเคลื่อนไหว เขาเป็นทั้งผู้กำกับภาพยนตร์และศิลปิน งานของเขามีตั้งแต่หนังสั้น หนังทดลอง สารคดี ไปจนถึงวิดิจัดวางซึ่งเกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัวและของสังคม งานของเขาตั้งคำถามถึงความเชื่อในคุณงานความดีและอุดมคติผ่านการเสียดสีเย้ยหยัน ภาพลวงตา และอารมณ์ขันของเขา ผลงานของเขาได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงและได้รับรางวัลในหลายเทศกาลและงานนิทรรศกาลศิลปะทั่วโลกได้แก่ งาน Singapore International Film Festival, The 34th International Film Festival Rotterdam, Yamagata International Documentary Film Festival, The 11th International Film Festival Hannover, Germany (2011), Arkipel: Jakarta International Documentary & Experimental Film Festival, Indonesia (2015).
หนังสั้นล่าสุดของเขา PLANETARIUM ได้รับคัดเลือกฉายใน 2018 Cannes Film Festival ถือเป็นหนึ่งในสี่เรื่องสั้นในภาพยนตร์ 10 YEARS THAILAND ประกอบไปด้วยผู้กำกับสี่ท่าน ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล
ปัจจุบันเขาทำงานและอาศัยที่กรุงเทพฯ
Curator’s Note
ท้าวเพียเมืองแพนลูกหลานเจ้านครจำปาศักดิ์ที่แยกตัวเป็นอิสระจากนครเวียงจันทร์ได้เข้ามาก่อตั้งเมืองขอนแก่นในช่วงปี พ.ศ. 2340 (สมัยรัชกาลที่ 1) บริเวณชุมชนเก่าติดกับบึงบอน ขึ้นกับเจ้าเมืองนครราชสีมา พระยานครราชสีมาก็ได้กราบทูลไปยังกรุงเทพฯ ต่อมาได้ยกบ้านบึงบอนให้เป็นเมืองขอนแก่น แต่ก็มีการปกครองแบบหัวเมืองลาว โดยที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เข้ามาุยุ่งเพียงแต่ต้องมีการส่งส่วย หรือเข้ากรุงเทพฯไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละสองครั้ง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ราชสำนักสยามหวาดกลัวว่าฝรั่งเศสจะยึดหัวเมืองลาว จึงแบ่งเมืองเป็นมณฑลเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและการเก็บภาษี เมืองขอนแก่นถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลลาวพวนภายใต้การดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม นี่เองถือเป็นการสร้างความมั่นคงในพระราชอำนาจให้มากยิ่งขึ้น
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของสยามได้เป็นการเปลี่ยนรูปโฉมศักดินาเข้าสู่ระบอบทุนนิยมซึ่งนำไปสู่การกำเนิดของระบบราชการ แนวคิดชาตินิยม และการศึกษาสมัยใหม่ที่ไม่ศรัทธาในชาติกำเนิดวงศ์ตระกูล แม้ระบอบนี้จะมีอายุขัยสั้นแต่ก็ได้สร้างชนชั้นกลางกระฎุมพีขึ้นมาได้แก่นักเขียน นักกฎหมาย และข้าราชการ
เนื่องด้วยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลจากระบอบเก่า คนเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นตัวตั้งตัวดีในการปฏิวัติสยาม 2475 นำเมืองไทยเข้าสู่รัฐประชาชาติ บรรยากาศทางการเมืองได้ทำให้คนอีสานแสดงถึงความคิดที่ถูกปิดกั้นมานานผ่านกลุ่ม ส.ส.อีสาน
กลุ่มอำนาจเดิมถูกลดทอนกำลังลงอย่างมากและมีฐานที่มั่นในพื้นที่อีสานเพื่อต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ในจังหวัดขอนแก่นมีการจัดตั้งหน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏบวรเดช จากจังหวัดนครราชสีมา ประชาชนร่วมกันแจกอาหารให้ทหารที่ปราบกบฏกลุ่มอนุรักษ์นิยม หน่วยอาสายังได้ทำการระเบิดทางรถไฟเพื่อไม่ให้กบฏหนีถอยร่นมาที่ขอนแก่น
ปลายปี พ.ศ. 2492 มีกรณีสังหารสี่รัฐมนตรี(3 จาก 4 เป็นรัฐมนตรีอีสาน จากกลุ่มที่ถูกเรียกว่าสี่เสืออีสาน) หลังจากถูกกล่าวหาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน เตียง ศิริรขันธ์หลบหนีไปยังเทือกเขาภูพาน ครูครอง จินดาวงศ์เคลื่อนไหวคัดค้านการร่วมสงครามเกาหลี สนับสนุนกองกำลังกู้ชาติในอินโดจีน ภายใต้การจับตาจ้องมองโดยรัฐ จนกระทั่งหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สุดท้ายครูครองถูกจับและประหารชีวิต
ช่วงสงครามเย็นรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาอีสานเพื่อป้องกันไม่ให้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ สร้างสำนึกความเป็นชาติร่วมกันกับภูมิภาคอื่น บึงบอนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบึงแก่นนครในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาเมือง ในระยะแรกคณะทำงานได้เข้ามาปักหลักกางเต้นทหารพักแรมบริเวณบึงแก่นนคร เขียนแผนแผ่ขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการทหารของตน พร้อมๆกัน ก็ค่อยๆสร้างความนิยมจากสาธารณชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่เป็นที่น่าสนใจว่าหลังช่วงปี 2510 เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของ ส.ส. อีสาน จากที่เคยรวมกลุ่มกันด้วยสำนักภูมิภาคนิยม กลายเป็นอยู่บนฐานของเศรษฐกิจ-การเมือง ประนีประนอมและเชื่อมโยงอีสานเข้ากับรัฐไทยได้โดยสะดวก เพราะเดิมกลุ่ม ส.ส. มาจากพ่อค้านักธุรกิจท้องถิ่นที่พร้อมเปิดรับการเข้ามาของทุนนิยมที่เอื้อโดยรัฐ
การนำนิยายที่มีฉากหลังในช่วงการเปลี่ยนแปลง (ย้อนหลังและไปหน้า) การปกครองของไทยกลับมาตีความใหม่ในรูปแบบภาพยนตร์ขนาดยาวที่ล้อไปกับเวอร์ชั่นของเชิด ทรงศรี ภายใต้นิทรรศการ MUSEUM OF KIRATI ของจุฬญานนท์ ศิริผล กลายเป็นภาพยนตร์ชื่อ Forget Me Not ที่มีภาคต่อของนิยายและได้ถูกขยับขยาย มีปฏิกิริยาตอบโต้กับเหตุการณ์ร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ เมื่อชีวิตของนพพรหลังแต่งงานกับปรีด์ และการเสียชีวิตของหม่อมราชวงศ์กีรติได้ถูกรบกวนจากพลังงานบางอย่างเบื้องหลังภาพวาดที่คุณหญิงได้มอบไว้ให้นพพรก่อนลาโลกนี้ไป
อย่างปฏิเสธไม่ได้ว่ากุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ประพันธ์นิยาย ข้างหลังภาพ(ใช้นามปากกว่า ศรีบูรพา) ซึ่งถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงหนังสือพิมพ์ในช่วง พ.ศ. 2479 และเป็นผู้เขียนบทความ(ชุด 3 ตอน)ที่มีชื่อว่า มนุษยภาพ (2474) ที่วิจารณ์ความอ่อนด้อยของระบอบเก่าและยังเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมของมนุษย์ กุหลาบคือบุคคลที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างเหนียวแน่นและพร้อมกันเขาเองก็คือชนชั้นกลางที่เติบโตจากระบบการศึกษาสมัยใหม่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
กุหลาบและนพพรจึงเป็นภาพสะท้อนของมรดกสมบูรณาญาสิทธิราช หม่อมราชวงศ์กีรติก็เช่นกันหากแต่หมายถึงเศษซากปรักหักพังของระบอบหลังจากถูกท้าทายโดยคณะราษฎร ในรุ่งเช้า วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
Forget Me Not ได้ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของการฟื้นคืนชีพของหม่อมราชวงศ์กีรติผ่านตัวตนของนพพรที่ผนวกรวมเข้ากับชนชั้นเจ้าที่ค่อยๆ ก่อตัวหลังการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรเมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แนวคิดเรื่องราชาชาตินิยมที่กลับมาสร้างฐานที่มั่นคงผ่านการที่กลุ่มนิยมเจ้า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2492 อันนำไปสู่วาทกรรม “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นครั้งแรก
และยังอาจกล่าวได้ว่าจุฬญานนท์ก็ถือเป็นผลผลิตหรือมรดกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ รัฐบาลของพลเอกเปรมประสบความสำเร็จอย่างมากในการเชิดชูเฉลิมพระเกียรติผ่านการจัดงานและการนำเสนอโครงการพระราชดำริ
พร้อมกันนั้นยังได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจนำไทยเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ รายได้ต่อหัวเพิ่มมากขึ้น มีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เพื่อให้ประชากรฝ่ายซ้ายวัยทำงานที่หลบหนีในป่าหลังจากชุมนุม 6 ตุลาฯ กลับเข้ามาในโลกทุนนิยม รู้สำนึกผิดและดำเนินชีวิตต่อภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
นี่เองทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมาอีกระลอกซึ่งคนกลุ่มนี้เองได้กลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของฝ่ายขวาในปัจจุบัน ผู้เป็นกำลังหลักในการกำจัดนักการเมืองที่มาตามระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองที่ถูกสร้างภาพให้เป็นผู้เลวร้าย และประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งของต่างชาติที่ไม่มีวันเข้าได้กับสังคมไทย
การนำเอา Forget Me Not กลับมาฉายบริเวณบึงแก่นนคร ในทางหนึ่งอาจช่วยฉายให้เห็นภาพของการปะทะสังสรรค์ระหว่างเรื่องเล่าท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง และถือว่าเป็นการได้เห็นพัฒนาการของชนชั้นกระฎุมพีขบถผ่านนพพรและสะท้อนตอบโต้ไปยังประวัติศาสตร์ชนชั้นกลางขบถในอีสานที่ต่างแปรเปลี่ยนตามกาลเวลาและถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอย่างสมบูรณ์หลังยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
อ้างอิง
- ลลิต บินซอและฮ์. ราชาชาตินิยมกับการสถาปนาอำนาจนำในรัฐบาลพลเอกเปรม. 2562. Intelligenzia
- ชานันท์ ยอดหงษ์. สามัญปัญญาชนหญิงร่วมปฏิวัติ 2475. 2562. Intelligenzia
- ณัฐพล ใจจริง. กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475. 2017
- อภิศักดิ์ ไฝทาคำ. แนวทางการพัฒนาพื้นที่ว่างสาธารณะสำหรับชุมชนเมือง : กรณีศึกษาเมืองขอนแก่น. 2542
- ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. การรวมกลุ่มทางการเมืองของ "ส.ส. อีสาน" พ.ศ. 2476-2494. 2543
- อนุชิต สิงห์สุวรรณ. ประวัติศาสตร์นิพนธ์อีสาน พ.ศ. 2475 ถึงสิ้นทศวรรษ. 2553 #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ForgetMeNot #จุฬญาณนนท์ #กฤตภัทธ์ #MANIFESTO #ขอนแก่น #เบิ่งแหน่เด้ #หนัง #หนังแท้ #อีหลีเด้ #พี่น้อง
Comments