ประชาไท รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ประตูแดง ได้ถูกรื้อออกจากที่เกิดเหตุ ใน ต.พระประโทน อ.เมือง จังหวัดนครปฐม
รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’ รอแสดงนิทรรศการบันทึกความรุนแรงรัฐต่อ ปชช.
โครงการบันทึก 6 ตุลา รื้อประตูแดงที่ 2 ศพพนักงานการไฟฟ้าถูกแขวนคอ ชนวนนำไปสู่ ‘6 ตุลา’ เพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมข้าวของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุ 6 ตุลา ระยะยาวหวังทำหอจดหมายเหตุความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ด้านญาติผู้เสียชีวิตกล่าวทุกวันนี้ยังเสียใจอยู่ ขอให้วิญญาณไปสู่สุขคติ
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นวันนั้นที่ประตูแดง
บ้างว่าพวกเขาถูกฆ่าในโรงพัก ต้องล้างคราบเลือดในห้องสอบสวน ก่อนถูกพาร่างมาแขวนคอไว้ที่นี่ บ้างบอกว่ามีการซ้อมทรมานก่อนที่จะฆ่า บ้างเชื่อว่าวิญญาณของพวกเขาอาจยังอยู่ แต่ไม่ได้หลอกหลอนให้ใครหวาดกลัว
เดือนกันยายน 2519 ในช่วงกระแสขวาพิฆาตซ้าย ช่วงเวลาที่นักกิจกรรม นักศึกษา หรือนักวิชาการถูกทำร้ายและลอบสังหาร ในวันที่ 24 กันยายน วิชัย เกษศรีพงศ์ษาชาวบุรีรัมย์ และชุมพร ทุมไมยชาวอุบลราชธานี พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในสภาพลิ้นจุกปาก ศพถูกแขวนคออยู่ที่ประตูสีเทาอมฟ้าที่สนิมกัดกร่อนจนชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า ‘ประตูแดง’
ภาพความโหดเหี้ยมของการฆาตกรรมครั้งนี้ปรากฎเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ
จากนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้แสดงละครเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำกับประชาชนที่รณรงค์ต่อต้านการกลับมาของเผด็จการถนอมประพาส โดยมีฉากแขวนคอเลียนแบบเหตุการณ์ที่ประตูแดง นำไปสู่การใส่ร้ายป้ายสีว่านักศึกษากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาท เนื่องจากใบหน้าของนักศึกษาที่แสดงเป็นคนถูกแขวนคอละม้ายคล้ายกับองค์รัชทายาท ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงวันที่ 6 ตุลาคม
รื้อประตูแดง สู่นิทรรศการ และหอจดหมายเหตุความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน
ประตูแดงหลังเหตุการณ์เกือบ 43 ปีต่อมา ถูกขนย้ายในบ่ายวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ด้วยการริเริ่มของโครงการบันทึก 6 ตุลา
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมโครงการบันทึก 6 ตุลาอธิบายว่า ย้ายประตูเพื่อต้องการเก็บรักษาไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ หลังจากเห็นว่าประตูทุรดโทรมลงมาก บางส่วนถูกคนลักลอบตัดเอาไปขาย ขณะเดียวกันเริ่มมีการทำถนน ที่ดินแพงขึ้น และกำลังจะกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีแนวโน้มหากไม่รื้อประตูอาจมีกำแพงของหมู่บ้านใหม่มาทับ ซึ่งประตูนี้สำคัญจึงไม่อยากให้เป็นแค่เศษเหล็ก
“นอกจากประตูเรายังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง ระหว่างที่ทำโครงการบันทึก 6 ตุลา เราได้เจอญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งหลายครอบครัวยังเก็บสมบัติของคนที่เขารักไว้อยู่ เช่น เสื้อผ้าที่เขาใส่วันที่เสียชีวิต มีรอยเลือดอยู่ หรือหนังสือ หรือข้อเขียน หลักฐานเหล่านี้เราอยากนำมาจัดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่เสียชีวิต เกี่ยวกับครอบครัวเขา”
พวงทองกล่าวว่า เจ้าของบ้านได้ตกลงที่จะรื้อถอนประตูโดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้นำประตูใหม่มาเปลี่ยนแทน ระหว่างนี้จะนำไปเก็บไว้ในโกดังโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ และจะนำมาจัดนิทรรศการเป็นระยะ ซึ่งวางแผนเป็นทั้งนิทรรศการออนไลน์ และนิทรรศการเคลื่อนที่ไปจัดแสดงตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
ไม่ใช่แค่นิทรรศการ แต่ในระยะยาวโครงการบันทึก 6 ตุลาอยากมีสถานที่ถาวรที่เป็นทั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน ทั้งเรื่อง 6 ตุลา รวมถึง 14 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 รวมถึงกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องมีเจตจำนงของสังคม ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและรัฐ ที่เห็นความจำเป็นที่เราต้องมีสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงของเราเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประเทศอื่นทำกันแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ยุโรป อเมริกา แต่สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐเท่าไหร่นัก” พวงทองระบุ
ความรุนแรงของรัฐและวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล
“ผมคิดว่าตำรวจเป็นคนทำ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันสายเกินไปแล้ว พยานบางคนก็ตายไปแล้ว เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ถ้าเป็นฆาตกรรมธรรมดาควรจะจบในที่เกิดเหตุ ไม่เอามาประจานแบบนี้หรอก แต่นี่เขาประจานด้วย เขาทำได้ยังไง ทำแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ”
ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของชุมพรเล่าความรู้สึกให้ฟัง เขาเดินทางมาจากอุบลราชธานีเพื่อมาเยี่ยมประตูแดงครั้งสุดท้ายก่อนถูกรื้อถอน และก่อนที่พื้นที่แถบนี้จะเปลี่ยนแปลงไป
เช่นเดียวกับที่พวงทองเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
“วันที่พวกเขาถูกทำร้ายคือวันที่พวกเขาไปเผยแพร่ใบปลิวเชิญชวนให้คนไปชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เพื่อขับไล่พระถนอมที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ฉะนั้นเข้าใจว่าตำรวจในท้องที่จ้องเขาอยู่ วันเกิดเหตุเขาไปติดโปสเตอร์ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ เข้าใจว่าเขาถูกทำร้ายที่นั่น”
ไม่มีหลักฐานทางการ ไม่มีเอกสารชันสูตรพลิกศพ ศพถูกฝังทันทีหลังจากพบร่างโดยไม่รอให้ญาติมาระบุตัวผู้ตาย ผู้ต้องสงสัยคือนายตำรวจ 5 แต่เมื่อไม่มีหลักฐานและไม่มีการสืบสวนต่อ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง 6 ตุลา และหลังจากนั้นมีการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในคดีที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ คดีนี้จึงถูกเก็บเข้าลิ้นชักด้วย จนถึงปัจจุบันคดีหมดอายุความ โดยไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด
“เราไม่ได้หวังเพียงแค่จะให้มีการรื้อฟืนคดี แต่เราหวังว่าจะมีการรื้อฟื้นเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นหลังเห็นด้วยว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนมีอำนาจลอยนวลพ้นผิด และมีกระบวนการทางกฎหมายที่ช่วยกันปกป้องคนในกลุ่มเดียวกันให้ไม่ต้องรับผิด” พวงทองกล่าว
ความเสียใจที่ยังคงอยู่
“เขาเป็นคนดี ในบรรดาพี่น้อง 8-9 คน เขาดีที่สุด ทุกคนรักเขา เพื่อนฝูงก็รักเขา เวลาเขากลับบ้านคนก็จะมาหาเขา เขาจะดูแลพ่อแม่พี่น้องทุกคน แต่เขาตายก่อน พ่อแม่ก็เสียใจ จนถึงตอนนี้พอถึงเดือนที่เขาตาย ญาติพี่น้องที่เหลืออยู่จะทำบุญทุกปี ” ศรีไพร ทุมไมย ภรรยาของชุมพล ทุมไมยเล่าถึงชุมพรในความทรงจำของเธอ
ขณะที่ชุมพลเองยังเก็บรักษาหนังสือพิมพ์ในช่วง 24 กันยา 19 ถึง 6 ตุลา 19 ไว้ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของน้องชาย และอยากเอาไว้เป็นหลักฐานเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงถ้าเป็นไปได้
เมื่อเราถามเขาว่าคิดยังไงกับคำว่าให้อภัย เขาหัวเราะขื่นๆ บอกว่า ถ้าคิดได้แบบนั้นก็เป็นสุข ถ้าคิดว่าคนใดก่อกรรมใดก็ได้กรรมนั้น ก่อกรรมดีได้กรรมดี ก่อกรรมชั่วได้กรรมชั่ว แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังเสียใจอยู่
“คนอยู่นอกเหตุการณ์อาจไม่คิดอะไรมาก แต่สำหรับผมตามวิสัยของธรรมชาติมนุษย์ มันก็มีความรักความคิดถึงกัน วันนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะไม่มีอดีตที่แห่งนี้อีกแล้ว ขอให้วิญญาณของน้องและวิชัยได้ไปดีมีสุขในทุกที่ มันจะจบแล้ว หายไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรให้คิดอีก” ชุมพลพูดปนสะอื้น
ประวัติศาสตร์เคลื่อนที่ แต่การเมืองแห่งความเกลียดชังยังอยู่
สิตา การย์เกรียงไกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้มาเยี่ยมประตูแดงครั้งสุดท้ายเล่าว่า ที่มาเพราะรู้สึกผูกพันกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เหมือนเป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำ และขณะนี้ตนก็ได้พยายามบันทึกเหตุการณ์ในแง่มุมของคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
“หลักๆ เลยก็คือชนชั้นปกครองทำอะไรก็ได้ที่เขาจะรักษาอำนาจของเขาได้ แม้กระทั่งการฆ่าคนกลางเมืองเพื่อรักษาฐานอำนาจของเขา เป็นบทเรียนชิ้นใหญ่ เขาไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม เขาไม่คำนึงถึงผู้คน” เขากล่าวถึงบทเรียนในเหตุการณ์ 6 ตุลา
สิตามองว่า ย้อนกลับไปช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความสูญเสียที่กลุ่มประชาชนนักศึกษามุ่งจะทำอะไรพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินแต่ยังไปไม่ถึง แต่ทั้งนี้ประวัติศาสตร์ไม่ได้จบลงแค่ช่วง 30-40 ปี ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ และคงไม่จบในรุ่นตน ขณะเดียวกันตอนนี้ได้เห็นความตื่นตัวในระดับกว้าง การเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็ทำได้ง่ายมากขึ้น สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียได้ ยกตัวอย่างเรื่องพานไหว้ครู ทำให้เห็นว่าเยาวชนเริ่มกบฏต่อสังคมรอบตัว
พวงทองเองก็เห็นตรงกันว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยรับรู้ 6 ตุลาผ่านทางโซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากมิวสิควิดีโอ ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ทำให้คนสนใจ 6 ตุลามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้พวงทองมองว่า ถ้าคนรุ่นใหม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลา จะรู้ว่าสังคมไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่ถูกพร่ำสอนกันมา และถ้ามองลึกเข้าไปจะเห็นว่า 6 ตุลา ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากรัฐแต่เกิดจากมวลชนธรรมดาที่ร่วมมือกันกลายเป็นมือสังหารให้กับรัฐในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความเกลียดชัง และขณะนี้สังคมไทยเองก็อยู่ในบรรยากาศการเมืองแห่งความเกลียดชังเช่นกัน
เผยแพร่ครั้งแรกที่ประชาไท ชมวิดีโอ : https://prachatai.com/journal/2019/06/83050 #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #6ตุลา #ไทอีสาน #ลาว #เหยื่อ #พนักงานการไฟฟ้า #ประตูแดง #ประชาชน #คือผู้สูญเสีย #ขออย่าให้มีอีก
Comments