“มีผู้ปกครองมาขอลาเอานักเรียนไปเลี้ยงควายให้ เพราะว่ามารดาเขาไปหาเข้า แล้วไม่มีใครจะไปเลี้ยงควาย ถ้าพ่อเขาจะไปเลี้ยงเสีย ไม่มีใครจะอยู่เฝ้าบ้าน เหตุฉนนี้จึงมาขอลาสัก ๑ วัน” 28 มิถุนายน พ.ศ. 2462
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนนึงของ “สมุดหมายเหตุรายวัน” อายุ 100 ปี ของโรงเรียนบ้านงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม บันทึกเล่มนี้ เขียนขึ้นราว 13 ปีก่อนการอภิวัฒน์สยาม 2475 ถูกเขียนด้วยปากกาหัวแร้งสีดำ ใช้ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอีสาน เป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นในโรงเรียนบ้านนอก(ที่ถึงปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงสามารถใช้คำว่า บ้านนอกได้เหมือนเดิม)
บันทึกฉบับนี้ ถูกเขียนโดย สามเณรเหลื่อมเอกพันธ์, นายเหลื่อม เอกพันธ์, นายเหลื่อม เอกโชติ และพระเหลื่อม เอกโชติ(มีผู้อื่นเขียนบ้าง แต่เพียงเล็กน้อย) ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูของโรงเรียนบ้านงัวบา จะเห็นว่านอกจากเขาจะเปลี่ยนสถานะไปเรื่อยๆแล้ว เขายังมีการเปลี่ยนนามสกุลด้วย ไม่มีข้อมูลว่า การเปลี่ยนนามสกุลนั้น ด้วยเหตุผลทางฮวงจุ้ย หรือหมอดู จากการสืบค้นประวัติโรงเรียนบ้านงัวบา ระบุว่า นายเหลื่อม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมื่อปี 2459 และเป็นครูใหญ่ กระทั่งปี 2468 ได้ลาออก เพื่อไปทำหน้าที่กำนันตำบลงัวบา(แค่พบข้อมูลขัดแย้งคือ ในสมุดหมายเหตุรายวัน บางวันถูกเขียนโดย เช็ก เยาวสุต ลงชื่อว่า เป็นครูใหญ่ แต่ขณะเดียวกัน หลายครั้งก็พบว่า หากนายเหลื่อม ไม่สามารถมาสอนได้ โรงเรียนต้องหยุดเรียน)
ดิ อีสานเด้อ ได้รับบันทึกฉบับดังกล่าวจากโรงเรียนบ้านงัวบาโดยตรง และคัดเอาบางช่วง บางตอนของสมุดเล่มนี้ มาเล่าต่อ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น
วันเรียน และวันหยุด
“วันนี้เป็นวันขึ้นวิกใหม่ เวลาเช้าข้าพเจ้าได้ให้เด็กสวดมนต์และร้องเพลงสรรเริญพระบารมีตามเคย” 13 มิถุนายน 2461 ข้อความนี้ ทำให้เรารู้ว่า ในอดีตไม่มีการร้องเพลงชาติก่อนเข้าเรียน และเรียกสัปดาห์ว่า “Week” แต่ออกเสียงว่า “วิก” การท่องสูตรคูณ(สมัยนั้นเรียกว่าสูตรเลข) ร้องเพลงสรรเสริญ สวดมนต์ รวมถึงตรวจผมตรวจเล็บ และเสื้อผ้านักเรียน เป็นกิจวัตรประจำวันในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน
จากข้อความหลายส่วนของสมุดเล่มนี้ทำให้ทราบว่า ครูจำเป็นต้องบันทึกเหตุการที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทุกวัน รวมถึงทำบัญชีโรงเรียน และส่งสรุปให้กำนันตรวจสอบทุกสิ้นเดือน โดยบันทึกจะถูกเขียนเฉพาะวันที่มีการเรียนการสอน ซึ่งสมัยนั้น โรงเรียนจะหยุดเฉพาะวันอาทิตย์ และวันพระ แทนที่จะเป็น เสาร์-อาทิตย์ เช่นปัจจุบัน
1 มกราคม 2461 “ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓ เป็นวันเฉลิมพระชนพรรษแล้วข้าพเจ้าไม่ได้โรงเรียน เพราะหยุดในงานเฉลิมนี้ และวันที่ ๔ ก็ไม่ได้โรงเรียนเพราะนักเรียนไม่มาพร้อมกัน เลยไม่ได้เปิดสอน” 7 มกราคม 2461 “วันนี้ นักเรียนขาดการเล่าเรียนมากแล้ว ข้าพเจ้าได้รายงานไปยังผู้ใหญ่บ้านแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าได้รายงานร้องต่อ กรรมการตำบล เพื่อให้เป็นธุระช่วยชี้แจงแนะนำให้นักเรียนมาโรงเรียนตามเคย”
ยุคนั้น วันเฉลิมฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือวันที่ 1 มกราคม จะมีการหยุดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน และในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของสยามเป็นวันที่ 1 เมษายน ไม่ใช่ 1 มกราคม เช่นปัจจุบัน เดือนมกราคมจึงเป็นช่วงกลางค่อนปลายปี และจะขึ้น พ.ศ. ใหม่เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน จากบันทึกข้างต้นพบว่า ปีนั้น นอกจากโรงเรียนจะหยุดวันเฉลิมถึง 3 วันแล้ว เด็กนักเรียนยังลักไก่ หยุดต่อเนื่องยาวเหยียดอีก และกว่าจะกลับมาเรียน ก็ตั้งวันที่ 8 มกราคม โดยในบันทึกวันถัดๆมายังไม่พบว่า เด็กที่ตีมึนไม่ยอมมาเรียน ถูกตำหนิ หรือต่อว่า แต่อย่างใด
6 กุมภาพันธ์ 2461 “วันนี้ เวลาเย็นเลิกจากการเลิกเรียนแล้ว เวลาเย็นรับประทานอาหาร แล้วได้มีการเรียนในเวลากลางคืน นับตั้งแต่วันที่ 6 เป็นต้นไป เพราะว่า กลางวันไม่มีเวลาพอและจวนจะสอบไล่อยู่แล้ว”
สมัยนั้น อีสานอาจจะยังไม่มีอาจารย์อุ๊ อย่างที่กรุงเทพฯ อาจารย์ปิงก็อาจจะยังไม่เกิด และครูลิลลี่อาจจะติดไปชุมนุมเป่านกหวีด พอจะสอบไล่ทีก็เลยต้องเรียนพิเศษกับอาจารย์พระ อาจารย์เณรของโรงเรียนกันไปก่อน เป็นการเรียนภาคค่ำเสียด้วย
โรงเรียนกับวัด 7 กุมภาพันธ์ 2561 “ข้าพเจ้าไห้นักเรียนขนเอาม้ารองเขียนของนักเรียนออกมาที่ศาลาหนองงัวบา เพราะกำนันต้องการศาลาโรงเรียน แต่ก่อนนั้นทำบุญฟังคำมหาชาติ แล้วจะมีพระ...ปริวาศกรรม และเป็นการลำบาก แล้วกำนันจึงได้ขอให้ข้าพเจ้ามาโรงเรียนศาลาหนองชั่วคราว ถ้าทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะกลับไปโรงเรียนตามเดิม” จากตรงนี้ คล้ายว่า โรงเรียน และวัดจะอยู่ใกล้กัน (แม้ที่ตั้งในปัจจุบันจะไม่ถึงกับใกล้นัก) โดยวัดและโรงเรียนยังใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันด้วย เมื่อถึงวันทำบุญใหญ่ๆ นักเรียนจึงมักจะได้หยุดเรียน หรือต้องสละพื้นที่เล่าเรียนให้กับกิจกรรมทางศาสนาพุทธ
12 พฤษภาคม 2462 “หยุดโรงเรียนเต็มวัน เพราะข้าพเจ้า พร้อมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้าน เอาหญ้ามามุงซ่อมแซมหลังคาศาลาแล้ว เลยได้หยุดการเล่าเรียนเต็มวัน” สิ่งที่ถูกเรียกว่าห้องเรียน ถูกมุงด้วยหญ้า ไม่ใช่อาคารถาวรใดๆ
จะเห็นว่า วัด โรงเรียน ชุมชน และชาวบ้าน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปากท้องและการศึกษา
16 กุมภาพันธ์ 2461 “ได้จำหน่ายนักเรียนออกจากบาญชี และทเบียน เปนจำนวน ๔ คน ได้ถามดูว่าเปนคนที่ขี้เกลียดไม่สมัคเรียนต่อไป อยากจะลาไปฝึกทำมาหากินเลี้ยงบิดา มารดา”
25 กุมภาพันธ์ 2461 “ได้จำหน่ายนักเรียนออกจากทเบียนบาญชี ๑ คนเพราะบิดาอพยพไปทำมาหากินท้องที่อื่น”
30 มิถุนายน 2462 “วันนี้เปนวันสิ้นเดือนมิถุนายน เวลาเรียกชื่อตอนบ่ายแล้ว ข้าพเจ้ามีการประชุมนักเรียนเพื่อนักเรียนจะได้รู้จักเพราะเดือนนี้เปนเดือนที่ต้องหยุดการเล่าเรียนเต็มเดือน ทุกๆโรงเรียน คือ หยุดตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๑ สิงหาคมจึงเปิดการสอนเพื่อจะให้นักเรียนได้ไปช่วยบิดามารดาทำนา”
เรื่องปากท้อง และความเป็นอยู่ มักเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเรียนหลายคนในสมัยนั้น ไม่ได้เล่าเรียน การเลี้ยงควาย-วัว ที่ดูจะเป็นของง่ายๆในปัจจุบัน กลับเป็นภารกิจสำคัญในอดีต นักเรียนบางคนต้องเลือกทำมาหากินเลี้ยงดูพ่อแม่ แทนที่จะเล่าเรียนในโรงเรียน กติกาสากลเกี่ยวกับ การใช้แรงงานเด็กในปัจจุบัน จึงน่าจะไม่สามารถใช้กับภาคอีสานได้ เพราะ ไม่มีนา ไม่มีข้าว ไม่มีอะไรจะรับทาน ความรู้ท่วมหัว แต่กลัวท้องหิว
เล็กน้อยเรื่องการเมืองโลก
19 กันยายน 2462 “ได้หยุดการสอนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เปนต้นไป เพราะได้รับคำสั่งของรองอำมาตย์โทขุนพิทักษ์ปรากร นายอำเภอเมืองวาปีประทุมว่าให้โรงเรียนประชาบาลทุกโรงเรียนหยุดการสอนตั้งแต่วันที่ ๒๑ เปนต้นไป… ข้าพเจ้าเลยหยุดการสอนตามคำสั่งตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป ถึงวันที่ ๒๔ เดือนนี้จึงได้เปิดการสอนต่อไป เพื่อเปนการรื่นเริงในการรับรองนายทหารผู้แทนชาติกลับจากการสงครามและการฉลองพระราชอาณาจักร” สงครามจากบันทึกข้างต้นน่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงประกาศให้สยามเข้าร่วม แม้พยายามรักษาท่าทีเป็นกลางมาตลอด กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 2462 สงครามได้ยุติลง หลังมีการลงนามกันในสนธิสัญญาแวร์ซาย ทหารไทยจึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิ และประเทศสยามจึงได้จัดฉลองให้แก่พวกเขา
สร้างส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยไทยยุคเริ่มต้น
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เชื่อว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่เพาะบ่ม ปลูกฝัง อุ้มชู จำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.สารคาม และเชื่อว่า ในห้วงเวลาที่สมุดเล่มนี้ได้บันทึก เป็นช่วงเดียวกันกับที่เขากำลังเรียนในชั้นประถมศึกษา ณ ที่แห่งนี้พอดี
โดย 18 ปีหลังจากเหตุการณ์ในสมุดเล่มดังกล่าว จำลอง ผู้เกิดและโตใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย ต่อมา เขาถูกพูดถึงในฐานะ 4 เสืออีสานร่วมกับ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, และเตียง ศิริขันธ์ ตัวจำลองเอง เคยเป็นรัฐมนตรีถึง 4 ครั้ง โดยดำรงค์ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
30 ปีหลังจากเหตุการณ์ในบันทึก เขาเสียชีวิตลง เพราะถูกสังหารในกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์ครั้งดังกล่าวถูกเรียกว่า “คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี” อัฐิ ของจำลอง ถูกเก็บไว้ในเสาของรั้ววัดบ้านสระแก้ว อำเภอวาปีปทุม ไม่ห่างจากโรงเรียนบ้านงัวบานัก #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #2461 #ก่อน2475 #มหาสารคาม #ในสมัยราชอาณาจักร #ก่อนการอภิวัฒน์สยาม #ก่อนท้องฟ้าจะสดใส #ก่อนความอบอุ่นของ #คสช #แร้นแค้น #แล้ง #จน #แค้น #ประวัติศาสตรภาคประชาชน #บ้านงัวบา #วาปีปทุม
Comentários