top of page
Writer's pictureThe Isaander

The Isaan Legend : เพชรพิณทอง “เพชรนี้ เป็นเพชรน้ำเอก” ของเครื่องดนตรีอีสาน



"วงดนตรี ของนพดล ดวงพร ได้รับความนิยมมากจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป พวกเขาได้รับคัดเลือกจากกรมประชาสัมพันธ์ ให้แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปี 1971(2514)


พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่คล้ายกีตาร์ แต่ว่ามีเพียง 3 สาย ดีดได้ไพเราะมากๆ นั่นคือ พิณ ในหลวงทรงเห็นว่าเป็นของแปลกและมีเสียงที่ไพเราะมาก พระองค์รับสั่งขอลองดีดดูอย่างสนพระทัยเป็นพิเศษ ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่นพดลเป็นที่สุด และสิ่งที่นพดลจำใส่เกล้าไว้ไม่มีวันลืมคือ ในหลวงมีรับสั่งว่าให้รักษาศิลปะดนตรีพื้นบ้านอันนี้ไว้ให้ดีๆ "


หลังจากนั้น เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อวงดนตรีตัวเองเสียใหม่ จากวงนพดล ดวงพร เป็นวงเพชรพิณทอง เอาชื่อ พิณ ที่ในหลวงทรงโปรดมาเป็นมงคลนาม นั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อวง เพชรพิณทอง มาจนถึงทุกวันนี้


_______________


นพดล ดวงพร หรือชื่อจริงณรงค์ พงษ์ภาพ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม ปี 1941 ที่บ้านท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เขาเกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นอดีตหมอลำและนักแต่งกลอนลำของจังหวัดอุบลราชธานี และแม่เป็นนักร้องเพลงโคราช


หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นพดลสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานและสาขาวิชาอื่นๆ พยายามศึกษาด้วยตัวเอง


อาจเพราะต้นทุนเดิมมีพ่อเป็นหมอลำและนักแต่งกลอนลำ และด้วยความสนใจและความกล้าแสดงออก ทำให้ได้ขึ้นเวทีลำกลอนกับหมอลำหญิงหลายครั้งตั้งแต่ยังเด็ก และได้ประกวดร้องเพลงหลายเวที


กระทั่งย่างเข้าวัยหนุ่ม ไปสมัครอยู่กับ "วงดนตรีพิพัฒน์บริบูรณ์" ของศักดิ์ศรี ศรีอักษร แรกเริ่มนพดล ได้ตำแหน่งแบกกลองและขนสัมภาระในวง ต่อมาได้ออกไปอยู่กับ "วงดนตรีจุฬารัตน์" ของครูมงคล อมาตยกุล ที่นั่นเขามีโอกาสเป็นพิธีกรและเล่นตลก โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เพื่อนๆ ในวงแบ่งปันเงินให้ใช้บ้าง หลังออกจากวงจุฬารัตน์กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี จัดรายการวิทยุกระจายเสียงทางสถานีวิทยุทหารอากาศ จังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดรายการแสดงหมอลำตามคำขอและตอบจดหมาย ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเป็นจำนวนมาก


___


และแล้วตำนานก็เริ่มขึ้น เมื่อปี 1971 นพดล ตั้งวงดนตรี "เพชรพิณทอง" ขึ้น ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ใช้ภาษาไทย- อีสานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นวงแรกๆที่ใช้แคนและพิณป็นเครื่องดนตรีหลัก


และวงเพชรพิณทองนี้เองที่ คิดค้นวิธีทำพิณให้มีเสียงดังโดยใช้กับครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกับกีตาร์ได้สำเร็จ และได้ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานไว้ และในขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาปรับปรุงดนตรีให้เข้ากับสมัยนิยม


โดยเฉพาะการแต่งกายที่นักแสดงทุกคนจะใส่สูทและผูกเนคไทขึ้นเล่น และรูปแบบการแสดงอันสุภาพ ดูเป็นปัญชาชนอีกทั้งไม่มีมุกหยาบโลน


ทั้ง เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร นับเป็นนักรบทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน ที่เกิดขึ้นจากความคิดและการสั่งสมประสบการณ์ชีวิตการเป็นคนดนตรี โดยไร้ผู้สนับสนุนจากหน่วยงานหรือบุคคลใดๆ วงของพวกเขา หากคุณคุ้นเคยจะประกอบไปด้วย นพดล,ลุงแนบ,หนิงหน่อง,จ่อย จุกจิก,แท๊กซี่,ใหญ่ หน้ายาน,เทพพร เพชรอุบล แต่ละคนจะมีบุคลิคแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องแสดง


แต่โดยรวมอาวุธสำคัญของวงดนตรีและของนพดล คือการใช้ภาษาอีสาน โดยเฉพาะสังคมอีสานกำลังเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง ท่ามกลางการดูถูกชาติพันธุ์ของสังคมไทยที่มีต่อคนลาว ต่อชาวอีสาน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินอีสานตามมา คือ ได้เพาะเชื้อความรังเกียจกำพืดของตัวเอง ดูถูกตัวเอง เกลียดความเป็นลาวในสายเลือดตัว และพยายามหนีสุดชีวิตเพื่อให้พ้นไปจากความเป็นลาว เป็นคนอีสาน ด้วยการสร้างปมเขื่องให้กับตนเองด้วยการ “ไม่พูดภาษาอีสาน หรือภาษาลาว”


“แม่นแล้ว” “เบิ่งกันแหน่เด้ออาว” “นางเอ้ย” “เด้อนางเดอ เด๊อเด๊อนางเดอ ตึ้งๆ” และอีกเป็นร้อยเป็นพันคำและวลีที่ติดหู ติดปากผู้คน ที่เพชรพิณทองไปหยิบจับจากท้องถิ่นที่อีสานเป็นและอยู่มาใช้ทำการแสดง ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำและวลีที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการละเล่นแสดง ในภาคอีสาน กลับมาอยู่ในความนิยม


ทำให้เห็นความลึกและมิติของภาษา และนี่คือ อานุภาพของภาษา อานุภาพของวัฒนธรรม เป็นทั้งเครื่องผูกพันและเป็นรหัสให้ผู้คนได้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กัน และเป็นต้นแบบของศิลปินตลกยุคหลังๆของอีสานหลายๆวง


นอกจากผลงานด้านวงดนตรีแล้ว นพดล ดวงพร ยังได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง และเรื่องที่ทำให้ผู้คนรู้จักมาก คือ เรื่องครูบ้านนอก จากการประพันธ์ของคำหมาน คนไค และจากบทตลกในภาพยนตร์นี้เอง ทำให้เขามีความคิดทำเทปตลกออกจำหน่ายและได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง เทปตลกที่เขาทำออกจำหน่าย มีมากกว่า 20 ชุด ที่ป็นที่นิยมและโด่งดัง อาทิ หนิงหน่องย่านเมีย บวชลงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เนื่องจากยอดจำหน่ายเทปสูงสุด จึงได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณในฐานะที่ทำรายได้จากการขายเทป ในปี 1986


ปี 2003 นพดล ได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง "15 ค่ำ เดือน 11" จากชมรมวิจารณ์บันเทิง และรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จัดโดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ


ชีวิตและผลงานของ นพดล ดวงพร ที่เป็นตัวแทนของชาวอีสาน ในการอนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่วัฒนรรมประพณีอีสานสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ จึงได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่าง และเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี เป็นปราชญ์เมืองอุบลราชธานี


ปี 2009 นพดลได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน จากหอศิลปวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น


____


ผลงานเพชรพิณทอง


-สู่ขวัญบ่าวลาวสาวไทย

-หนิงหน่องย้านเมีย

-ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่

-แจกข้าวหาลุงแนบ

- โมราพาซิ่ง

ฯลฯ


ผลงานเพลงโดดเด่น


- หนุ่มอุบล

- ค้นหาคนดัง

- ไม่พบคนดัง

-เวียงจันทร์เวียงใจ

- หมอลำบันลือโลก


ผลงานภาพยนตร์เด่น


-ครูบ้านนอก (1978) รับบทเป็น ครูใหญ่คำเม้า


-ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน (1980) รับบทเป็น ไอ้จ่อย


-15 ค่ำ เดือน 11 (2002) รับบทเป็น หลวงพ่อโล่ห์


** บั้นปลายชีวิต นพดล ดวงพร พำนักที่บ้านเพชรพิณทอง ถนนนิคมสายกลาง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และรับงานแสดงเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี อย่างงานแห่เทียนพรรษา งานสำคัญของจังหวัด ก่อนจากไปอย่างสงบ วันที่ 4 กรกฎาคม 2019 อายุรวม 77 ปี


#TheIsaander #Isaanderlegend #นพดลดวงพร #เพชรพิณทอง #15ค่ำเดือน11 #หนุ่มอุบล #เวียงจันทร์เวียงใจ

#ศิลปินมรดกอีสาน #อุบลราชธานี #หนิงหน่อง #ลุงแนบ #จ่อยจุกจิก #ใหญ่หน้ายาน #อาวแท็กซี่

1,138 views0 comments

Comentarios


bottom of page