“เป้าหมายต่อไปในการทำงานของผม คือ หาค่าเช่าบ้านเดือนหน้าครับจารย์”
สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้คือ ทัศนคติในวัย 28 ปี ของ ป๊อบ-วิศรุต แสนคำ ช่างภาพชาวกาฬสินธุ์ สมาชิกกลุ่ม Realframe ซึ่งรวมตัวโดยช่างภาพที่พยายามเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านภาพถ่ายใต้อำนาจคณะรัฐประหาร และรัฐบาลกำลังพล
สำหรับ ป๊อบ-วิศรุต แม้คุณจะไม่เคยได้ยินชื่อเขาเลย แต่เขาเคยร่วมงานกับองค์กรสากล(ไม่ใช่สกลฯ) เช่น โครงการความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำสหประชาชาติ (UN-ACT) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(IOM) และ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงงาน (LPN) มาแล้ว
เคยมีงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph(ออสเตรเลีย), China Dialogue(จีน), DPA(เยอรมัน), The Nation, Khaosod, The Momentum และ นิตยสารสารคดี แม้กระทั่ง เว็บไซต์ของ Anthony Bourdain ของเชฟอเมริกันผู้ล่วงลับ(ชายซึ่งร่วมโต๊ะอาหารเวียดนามกับบารัค โอบามา) ก็ลงมาแล้วด้วย
(จริงๆป๊อบบอกว่า ทำงานกับ The Isaan Record (เดอะ อีสานเรคคอร์ด) ด้วย แต่เราขอเขาตัดชื่อสำนักข่าวนี้ทิ้ง เพราะถือเป็นสื่อคู่แข่ง)
ป๊อบ ยังเคยเข้ารอบสุดท้ายในงานประกวดถ่ายภาพ Lens On Social Justice 2016, ชนะเลิศอันดับ 3 จาก Aurora Humanitarian Initiative Awards 2017 และชนะเลิศอันดับ 1 จาก Olympus Global Open Photo Contest 2018
ล่าสุด เขาเพิ่งออกหนังสือภาพเล่มแรกในชีวิตชื่อ From Sea and Site to School ร่วมกับ LPN ซึ่งนำเสนอภาพแรงงานเด็กในธุรกิจประมง และอสังหาริมทรัพย์ ความตั้งใจแรกของ ดิ อีสานเด้อ คือ เพียงแค่ต้องการจะคุยกับป๊อบถึงหนังสือเล่มนี้ แต่คุยไปคุยมาเราก็พบว่า คุยเลยไปไกลจากหนังสือหลายเติบอยู่ *จารย์/อาจารย์ เป็นสรรพนามที่วิศรุตใช้เรียก ผู้สัมภาษณ์ แม้ผู้สัมภาษณ์มิได้มีอาชีพสอนหนังสือหรือให้หวยให้เลขแต่อย่างใด
เริ่มถ่าย และได้เงิน
“ถ้าสัมภาษณ์ชิ้นนี้ทำให้คุณมีงานเพิ่ม จนร่ำรวย อย่าลืมผมนะครับ” ดิ อีสานเด้อ ขอส่วนแบ่งความสำเร็จจากเขาตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มคุย
เริ่มถ่ายภาพเมื่อไหร่? ยังไง?
“เริ่มถ่ายรูปตอนมีไอโฟน 5 คงเป็นผลจากโฆษณากล้องแหละมั้ง โฆษณาชอบเอาช่างภาพมาพูดว่า ผมชอบถ่ายรูป เพราะผมรู้สึกว่า คนที่ถูกถ่ายมองมาที่ผม ผมรู้สึกถึงจิตใจเขา อะไรทำนองนี้ ผมคิดว่าแม่งเท่ว่ะ ซื้อบ้าง อยากเท่ แค่อยากเท่เฉยๆ ตอนปี 4 เลยบอกพ่อว่าอยู่หอนอก แต่จริงๆอยู่หอในนะ แล้วยักยอกเงินมาเก็บไว้ จนได้ Canon 60D โดน สมา(สมานฉันท์ พุทธจักร บรรณาธิการคนกาฬสินธุ์ของ www.z-world.in เพื่อนร่วมชั้นเรียนมัธยมของป๊อบ) ด่าเรื่องนี้ประจำ”
“ตอนมีไอโฟนก็ถ่ายไปเรื่อย ถ่ายตัวเอง ถ่ายเพื่อน ถ่ายที่อยากถ่าย พอซื้อกล้องใหม่ๆ มีทริปถ่ายพริตตี้ เคยไปถ่ายไหมจารย์(ผู้สัมภาษณ์มีสถานะครึ่งหนึ่งเป็นช่างภาพด้วยเช่นกัน วิศรุตจึงตั้งคำถามเช่นนี้) ผมเคยครั้งนึง กลุ่มช่างภาพขอนแก่นชวนกันไป ผมก็ลองไปกับเขา คนเยอะแยะเลย ผมจำได้มีพริตตี้ 2 คน เอ็กซ์ๆเลย ถ่ายอยู่ก็คิดว่า ถ่ายไปทำไมวะ ไอ้เหี้ยคนข้างๆ ถ่ายดีกว่ากูอีก อาวุธเต็ม แฟลชเพียบ กูแม่งกล้องกระจอกงอกง่อยอีหลีวะ อยู่ได้ 10 นาทีก็ถอย ไม่อยากอยู่แล้ว”
นึกว่า เกิดมาก็มีกล้องห้อยคอ แล้วก็ถ่ายสารคดีเลยซะอีก
“พอถอยมาจากพวกนั้น ก็เลยถ่ายอย่างอื่นไปเรื่อย เมื่อก่อนเขาเรียกว่า แนว Life เราก็กดถ่ายๆ ถ่ายหญ้า ถ่ายทุ่งนา ถ่ายความดราม่าของชีวิต เหมือนกับมันเป็นสิ่งที่ทำในเวลาว่าง แล้วก็เป็นข้ออ้างในการสำรวจโลก ข้ออ้างในการรู้จักโลก รู้จักคนอื่น ขอถ่ายรูปหน่อยครับ อะไรเงี้ย”
แล้ว มาถ่ายสารคดีได้จังได๋ล่ะ บาดนี่?
“ตอนที่ถ่ายไอ้ที่เขาเรียกถ่าย Life มั้ง”
แล้วความสนใจเรื่องภาพถ่ายแบบจริงจังมายังไง ดูหนังสือภาพเหรอ หรือชอบศิลปะอยู่แล้ว ?
“ไม่ชอบ คนอีสานอีหยังจะชอบศิลปะ ชีวิตกูต้องทำมาหาแดกนะเว้ย มาชื่นชมศิลปะอะไรวะ กูจะโดนด่าไหมวะเนี่ย ตอบจังซี่”
แล้วเริ่มถ่ายภาพเป็นอาชีพ เมื่อไหร่?
“ผมก็ไม่รู้ตอนนี้เรียกเป็นอาชีพได้หรือเปล่า”
งานถ่ายภาพงานแรกที่ได้เงิน คือ ? ถ่ายรับปริญญาเหรอ
“(นิ่งคิด)เอ่อ ใช่ ใช่ เพื่อนเรียนจบก็บอกถ่ายรูปให้หน่อย ทั้งชีวิตเคยถ่ายงานรับปริญญาแค่ 4 ครั้ง เคยถ่ายแต่เพื่อนกันนี่แหละ ไม่เคยถ่ายให้คนอื่น เรารู้สึกว่า ถ่ายผู้หญิงไม่สวย ถ่ายรับปริญญาก็ไม่สวย มีแต่คนด่า”
แล้วงานสารคดี ที่ได้เงินล่ะ?
“มันเริ่มเป็นอาชีพ แบบได้เงินจ่ายค่าหอได้ ตอนที่เราทำ Behind Tin Wall - ถ่ายรูปชีวิตแรงงานก่อสร้างในกรุงเทพ ตอนนั้นยังเป็นนักข่าวอยู่ The Nation เดินผ่านไซด์ก่อสร้างคอนโดมิเนี่ยมทุกวัน วันนึงเราเข้าไปเล่น แล้วเริ่มคุยกับคนงานในแคมป์ก่อสร้างนั้น จากแคมป์นั้น ก็ไปแคมป์นี้ ที่เป็นเครือเดียวกัน เลยเล่าเรื่องแคมป์ก่อสร้าง 3 ที่ในกรุงเทพ ถ่ายตอนวันว่าง เข้าไปเล่นวันอาทิตย์ หรือวันธรรมดาช่วงเย็น ช่วงค่ำ ไม่รู้เขาเป็นเพื่อนผมไหมครับ แต่ผมนับเขาเป็นหมู่คุยเล่นกัน”
“แล้วผมก็ได้ไปที่ FCCT(สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย) เพื่อนผม ก็เอางานชุดนี้(Behind Tin Wall) ให้ Curator(คนคัดเลือกงานแสดงศิลปะ) ของ FCCT ดู เลยได้แสดงงานที่นั่น กลายเป็นจุดเริ่มต้น เริ่มมีคนติดต่อเข้ามา”
ป๊อบเคยเป็นนักข่าวเหรอ เพิ่งรู้ งั้นเล่าให้ฟังหน่อย เรียนอะไรมา? ทำมาหารับทานยังไงบ้าง?
“จบภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปเป็นนักข่าวอยู่ประมาณปีนึงที่ The Nation แล้วไปเรียนต่อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาชาติพันธุ์และการพัฒนา”
ทำไมถึงต้องเรียนต่อ?
“ตอนผมทำข่าวพี่มึนอ(พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงที่ถูกอุ้มหายก่อนจะได้เป็นพยานในคดีเจ้าหน้าที่เผาบ้านไล่ที่ชาวกะเหรี่ยง แก่งกระจาน เพชรบุรี) ผมทำได้แค่เขียนถึงสิ่งที่พี่มึนอพูดให้ผมฟัง ผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับบริบทกว้างๆคนกระเหรี่ยงในฐานะชนกลุ่มน้อยที่มีความสัมพันธุ์ต่อรัฐไทยเลย ผมเลยคิดว่าการที่เราพยายามจะพูดถึงอะไร เราน่าจะรู้บริบทโดยกว้าง และความสัมพันธุ์ทางอำนาจที่มีอยู่ก่อน”
“อีกอย่างตอนทำข่าว ก็อยากถ่ายรูปด้วย ก็มีความอีหลักอีเหลื่อ เราอยากถ่ายรูป แต่ต้องสัมภาษณ์อยู่ จังหวะนั้นอยากถ่ายรูปอะ อยากถ่ายรูปแล้วเนี่ย แต่ต้องจดอยู่เนี่ย ขอพักเขาก่อนก็ไม่ได้ ผมก็เศร้านะตอนนั้น บอกบรรณาธิการ(บก.)ตลอดว่า พี่ผมอยากถ่ายรูปจังเลยครับ สุดท้าย เลยออกมาเรียนต่อ และเป็นช่างภาพอิสระ”
ตอนเด็กๆ อยากเป็นอะไร?
“ไม่มี Wanna Be เลย ตอบไม่ได้ ไม่ค่อยมีคนถามด้วยมั้ง ผมไปหาครูแนะแนวตอน ม.6 เขาให้ทำแบบทดสอบ คะแนนผมก็เป็นกลางๆ อาจารย์ก็บอกไม่รู้ควรแนะนำให้เป็นอะไร กูก็แบบ อ้าวเชี่ย กูจะทำอะไร เป็นอะไรดีวะเนี่ย แต่ผมว่า คำถามว่าอยากเป็นอะไร มันอาจจะผิดก็ได้นะ เพราะ คุณไม่มีทางรู้ว่า คุณอยากเป็นอะไร ถ้าคุณไม่ลองทำ มันควรลองทำไปก่อน แล้วค่อยถามว่า เราภูมิใจกับอะไร อะไรที่เราทำแล้วมีความสุข เราก็ทำต่อไป”
การเป็นช่างภาพอิสระหางานยังไง? เพราะเท่าที่เราเข้าใจ งานสารคดีน่าจะหายาก และต้องใช้ Connection (ความสัมพันธ์ส่วนตัว) พอสมควร
“สำหรับผม พอแสดงงานที่ FCCT ก็มี NGO (องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร) จ้างมาบ้าง ผมคิดว่า เราต้องทำงานออกไปให้เห็น เขาถึงจะมาจ้าง ผมไม่ค่อยมี Connection ที่มาจ้างผม หลายที่ไม่รู้จักคนจ้างมาก่อน แต่ Connection ก็มีบ้าง อย่างงานที่ทำให้ China Dialogue ก็มาจากต่าย(ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์-ผู้สื่อข่าว) ที่อยู่ The Isaan Record แนะนำ แต่สุดท้ายเขาต้องรู้ว่า เราทำอะไรก่อนอยู่ดี เขาถึงจะจ้าง”
เราขอตัดตรงชื่อ The Isaan Record ทิ้งอีกครั้ง ด้วยถือว่า เป็นสำนักข่าวคู่แข่ง แต่พอนึกได้ว่า เราไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่งก็เลยปล่อยไว้เหมือนเดิม เพราะตอนนี้ เรากำลังท้าชนกับ Workpoint หรือ ช่อง 3 มากกว่า จะมองสำนักข่าวอีสานด้วยกัน(แม่นอยู่บ่)
“งานที่ทำกับ LPN ก็เพราะเพจ Realframe เอางานเราไปลง มีคนแชร์ต่อ แล้วพี่อ้อน(ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการ LPN) เห็นงานแล้วชอบ ก็ชวนไปทำด้วย แต่ยังไง ผมก็ไม่เชื่อว่า Connection อย่างเดียวจะสร้างงานได้ เป็นไงพูดเฉียบไหม จริงๆ ผมก็มี Fail (ล้มเหลว-ผิดหวัง) นะ มันมีหลายงานก็ Fail มีงานที่ไม่เคย Publish ที่ไหนเลย ไม่รู้ว่าเราเรียนรู้จากมันด้วยไหมนะ แต่เราก็ทำไปเรื่อย เท่าที่เราพอทำได้”
การที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษทั้งการเขียน และการพูดทำให้เรามีโอกาสเยอะกว่าคนอื่นไหม? โดยเฉพาะงานสารคดีที่คิดว่า ปริมาณงานจ้างน่าจะน้อยกว่างานถ่ายภาพประเภทอื่นในไทย
“การสื่อสารได้ทำให้เราคุยกับคนที่อยากจ้างงานได้ง่ายขึ้น คุยได้เองไม่ต้องผ่านใคร เพราะคนที่จ่ายเยอะพอที่ทำให้เราอยู่ได้คือ ฝรั่ง เช่น สมมตินิตยสารบ้านเราจ่าย Photo Essay (งานภาพชุด) 7 พันบาทต่อเรื่อง(ต้องใช้เวลาถ่ายหลายวัน) แต่สำนักข่าวต่างประเทศ จ้างถ่ายข่าว 1 วัน 200-500 ดอลลาร์ (ประมาณ 6 พัน- 1.5 หมื่นบาท)”
เพราะอะไรต่างประเทศเขาถึงจ่ายเยอะกว่ามาก? ให้คุณค่างานหนึ่งชิ้นมากกว่าเหรอ?
"ไม่รู้เหมือนกัน ตอบไม่ได้"
แต่งานแบบที่ได้เงินเยอะๆ มันก็ไม่ได้มีสม่ำเสมอใช่ไหม?
“ใช่ เพราะอะไรไม่รู้เหมือนกัน งานเรามันอาจจะไม่เวิร์คมั้ง ผมเลยบอกว่า สัมภาษณ์นี้มันไม่ใช่เรื่องของชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เลือกชีวิตแบบนี้นะ มันเป็นแบบนี้เอง เงินที่ใช้ชีวิตทุกวันนี้ก็มาจากถ่ายภาพทั้งหมด พอบ้าง ไม่พอบ้าง ติดหนี้บ้าง หนี้ก็มีนะ หนี้ก็มีเยอะ ไม่ใช่ไม่มีนะจารย์”
แนวคิด และแนวทาง
แนวคิดในการถ่ายภาพสารคดี?
“หลายปีก่อน เราเป็นคนชิคๆ(Chic : ความสวยงามตามสมัยนิยม, ความทันสมัย, เก๋) มั้ง ตอนนั้น เราไปนั่งกินเบียร์ในร้านเหล้า แล้วเห็นยายคนนึงเดินมาขายลูกอม เคยเห็นไหมจารย์ ที่ชอบมีคนแก่มาขายลูกอมตามร้านเหล้า ยายเขาใส่ซิ่นแบบที่คนอีสานมักจะใส่ เห็นแล้วนึกถึงย่าของตัวเอง แล้วก็คิดว่า คนเฒ่าคนแก่บ้านเรามันบ่มีหยังดีกว่านี้ให้เฮ็ดบ่ เราแค่… จะร้องไห้เลยเห็นไหมเนี่ยจารย์… แค่ไม่อยากเห็น”
ในตาของป๊อบแดงก่ำ ถ้าไม่ดูดกัญชา ก็น่าจะมาจากน้ำตาที่เอ่อล้นแหละวะ ในกรณีนี้ น่าจะเป็นอย่างหลัง
“ผมนิยามวิธีคิดในการทำงานของผมแล้วกัน ผมเกลียดความชิค คือ ผมเกลียดคนที่ทำอะไรแล้วไม่เห็นผลกระทบ หรือโครงสร้างของสิ่งนั้นๆ ผมมานั่งนึกดู ทุกอย่างที่ผมทำก็ใกล้ๆ กับความชิค เราพยายามเผยอีกด้านของความชิคออกมา อย่างถ่ายคนงานก่อสร้างที่สร้างคอนโดมิเนียมหรูหรา ที่ให้คนมาอยู่ชิคๆ คือ คนสร้างแม่งไม่ชิคเลยว่ะ หรือแรงงานประมงที่หาอาหารทะเลให้มึงมากินกันชิคๆ นี่แม่งไม่เห็นชิคเลยว่ะ หรือเรื่องที่ว่าจะทำ เรื่องคนปลูกกาแฟ เก็บกาแฟ กาแฟที่เราแดกกันชิคๆ โอ้โหนี่แม่ง เด็กในลาวต้องเก็บกันกระจุย นี่แหละผมไม่ชอบ ผมเกลียดความชิค”
เกลียด หรือหมั่นไส้ เพราะเราไม่ชิคหรือเปล่า เราเป็นคนอีสานหรือเปล่า ไทบ้านๆ เราเลยหมั่นไส้คนชิคๆ หรือเพราะเราเป็น Hater (ผู้นิยมความเกลียดชัง-ชาวแซะ) เอาดีๆ?
"เอ่อ ผมเป็น Hater ว่ะ คือ จริงๆ อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างด้วยเรื่องเล่าในภาพถ่าย"
พูดเสร็จ ป๊อบก็หันไปดูดกาแฟดำเย็นในแก้ว สีหน้าของเขาเหมือนจะร้องไห้อีกรอบ เลยต้องแกล้งหลบตาไปเพื่อเก็บอารมณ์
วิธีคิดเรื่องเกลียดความชิคนี่ เกิดก่อนภ่ายภาพ หรือถ่ายภาพก่อนค่อยเกิด?
“มันคงถ่ายรูปก่อน แล้วก็บวกกับการเรียน เริ่มเห็นปัญหา แต่จำช่วงเวลาแน่นอนไม่ได้ ก่อนถ่ายรูปเราก็เห็นภาพแบบนั้น แต่เราอธิบายมันไม่ได้ อาจเพราะเราไม่ได้มีความคิดเรื่องโครงสร้าง ทำให้เรามองไม่เห็นมัน เราเห็นและเศร้าใจ แต่ก็อธิบายความเศร้าใจจนเปลี่ยนเป็นความโกรธไม่ได้ แล้วพอมาเรียนทำให้เรามีความคิด ทำให้เราเห็นโครงสร้าง และตอนนี้ เราก็มีเครื่องมือที่เราอาจจะสามารถแปลมันออกมาได้ การถ่ายภาพเหมือนมีเครื่องมือ เราก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า เราสามารถพูดถึงอะไรได้ เราเห็นแล้วสามารถแปลมันออกมาได้"
ชอบงานชิ้นไหนของตัวเองที่สุด?
“ตอนนี้ กับตอนที่ ผมเริ่มถ่าย Behind Tin Wall การมองภาพสวยไม่สวยต่างกันเยอะมาก ผมยังเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าในแง่ทำแล้วมีความสุขสนุกดี ชอบ Behind Tin Wall เพราะ งานนี้แนะนำให้ผมรู้จักกับโลกของภาพถ่ายมากขึ้น งานชุดนี้มีความเป็น Technical (แสดงความสามารถในการถ่ายภาพ)ประมาณนึง มี Layer (มิติภาพ) ที่ซับซ้อน บางทีเราก็ไม่ได้สนใจเนื้อหา เรามองเห็น Form(รูปแบบการนำเสนอ) แต่เนื้อหาเราไม่ได้สนใจนัก ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนในรูปชื่ออะไร FCCT บอกให้ไปหาชื่อมา ถึงได้ไปถามเขา ทั้งที่คุยกับเขาประจำ”
อันอื่นล่ะ?
“ตอนนี้ มีงาน The Drowned Dreams ที่ยังไม่ได้เผยแพร่ เล่าเรื่อง คนลาวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เขื่อนแตก รูปเป็นรูป Portrait คน 10 คน เป็นรูปง่ายๆเลย แต่ให้ทุกคนในรูปเล่าถึงความฝันของพวกเขา ก่อนที่น้ำจากเขื่อนจะพัดพาความฝันของเขาไป” (ถ่ายภาพคนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก ในแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว)
“งานชิ้นนี้ เราสนใจคนมากๆ อยู่ที่นั่น 2 อาทิตย์ นั่งคุยประวัติชีวิตกับเขาเลย ใช้กล้องฟิล์ม Rolleiflex ทำให้ทำงานช้าลง เราเน้น Narrative(การเล่าเรื่อง) สนใจตัวคนมากขึ้น ผมไม่สนใจ Form ในภาพถ่ายเท่าไหร่นัก”
สรุปคือ วิธีคิดก่อนลั่นชัตเตอร์แต่ละงานจะต่างไปเรื่อยๆ ซึ่ง ตอนนี้ เราสนใจเรื่องเบื้องหลังภาพนั้นมากกว่าในอดีต?
“อาจจะว่าอย่างนั้นก็ได้”
วิธีคิดงานแต่ละชิ้นมาจากไหน? หรือได้อิทธิพลมาจากอะไร?
“วิธีคิดในปัจจุบันอาจมาจากการเรียนด้านสังคมวิทยา แต่ตอนที่ถ่าย Behind Tin Wall ความรู้เกี่ยวกับภาพถ่ายที่เรารู้ เราเรียนจาก Youtube นั่งฟังสัมมนา ฟังคำพูดเท่ๆ ของช่างภาพ มันมีคำพูดที่ว่า “If your photographs aren't good enough you're not close enough”(ถ้ารูปของคุณยังดีไม่พอ แสดงว่าคุณยังใกล้ไม่พอ) ของ Robert Capa (ร๊อเบิร์ท ค่ะปะ-ช่างภาพข่าว ซึ่งถ่ายภาพสำคัญช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Magnum Photo) ผมก็เชื่อ มันต้องใกล้เว้ย สังเกตรูปถ่ายช่วงแรกๆ กูใกล้สัสๆ”
“ตอนนี้ ผมมาค้นพบว่า จริงๆแล้ว ความใกล้ของเขาอาจจะหมายถึง ความสัมพันธ์ใกล้ ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องยกกล้องเข้าไปใกล้ก็ได้ เพราะ ถึงคุณจะยกกล้องเข้าไปใกล้ได้แค่ไหน มันก็ไม่ใกล้อยู่ดี ผมว่าเขาน่าจะหมายถึงอันนี้”
“ถ่ายภาพเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เรียนมาโดยตรง เราไม่มีใครคอยบอกว่าอะไร ผิด-ถูก เราเลยไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แต่เราทำมาเรื่อยๆ อันไหนเวิร์ค เราก็เรียนรู้จากมัน อันไหนไม่เวิร์ค เราก็เรียนรู้จากมัน แต่จริงๆ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อันไหนเวิร์ค ไม่เวิร์ค เพราะเราก็เสนอเรื่องใหม่ๆ พยายามเสนอการมองแบบใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ”
ช่างภาพที่ชอบคือใคร?
“แรกๆ ผมน่าจะชอบ Steve McCurry (ช่างภาพที่ถ่าย เด็กสาวอัฟกานิสถานใต้ผ้าคลุมสีแดงขึ้นบก National Geographic) แต่ตอนนี้ ชอบ Michael Vince Kim ช่างภาพเกาหลี ที่ถ่ายคนเกาหลีพลัดถิ่น 2 คนนี้ ถ้าดูงานเทียบกันจะมี Visual (ภาพ) ต่างกันคนละขั้วเลย ซึ่งเราก็พยายามเรียนรู้วิชั่วของคนที่สองอยู่”
คิดว่า ตัวเองมีพรสวรรค์ไหม?
“ไม่รู้ว่ะ มีพรสวรรค์ด้านถ่ายภาพงี้เหรอ ก็ลอกเขาเอา ถ่ายแรกๆ เราก็พยายามเป็น Steve McCurry ตอนนี้เราก็พยายามเป็นเกาหลีคนนั้น ผมคิดว่า การเห็น Visual ที่หลากหลายเป็นเรื่องดี เพราะทำให้มีวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย"
"สุดท้ายแล้ว ผมคิดว่า การตั้งคำถามว่า รูปแบบไหนสวยผิดโดยตรงเลย มันควรจะคิดว่า เรามีสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารแบบนี้ เราจะเลือก Visual แบบไหนที่มาจะสื่อสารสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารได้ งานนึงคุณอาจจะถ่ายแบบนึง งานนึงคุณอาจจะถ่ายอีกแบบนึง แล้วคุณก็อธิบายได้ว่า ทำไมคุณถึงถ่ายแบบนี้ แต่ผมก็ไม่ได้ทำส่วนนี้ได้ดีนักนะ”
เราจำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์ของเราไหม? อะไรคือเอกลักษณ์ของป๊อบ?
“หมายถึง Visual Form เหรอ ไม่รู้เหมือนกัน จริงๆ ผมคิดว่า คนเราเปลี่ยนไปตลอดเวลา วิธีคิดเรื่องเอกลักษณ์ก็ไม่น่าจะมีจริงนัก วัยนี้เราอาจจะสนใจเรื่องนี้ โตขึ้นอาจจะสนใจเรื่องอื่น ถ้าพูดออกไปนี่สร้างกระดูกสันหลังให้ตัวเองเลยนะ เปลี่ยนไม่ได้เลยนะ ใช่ไหม?”
เปลี่ยนได้ดิ และเราก็ควรทำให้เขาเห็นด้วยว่า การเปลี่ยนเป็นเรื่องธรรมดา ดิ อีสานเด้อก็ไม่มีกระดูกสันหลังเหมือนกัน
“ผมเกลียดความชิค นี่แหละกระดูกสันหลังของผม เกลียดความชิค แต่ต่อไปข้างหน้า อาจจะเป็นคนชิคๆก็ได้นะ”
นอกจากหาค่าเช่าบ้านเดือนหน้าแล้ว อะไรคือเป้าหมายในอนาคต?
“อยากรู้จักอีสาน เพราะผม 1. ทำงานส่วนใหญ่นอกอีสาน 2. เรานึกว่า เรารู้จักอีสานดีแล้ว แต่พอเริ่มมาเรียนด้านสังคมศาสตร์ ทำให้เห็นว่า อีสานมีตรงนี้ด้วยเหรอวะ เราไม่รู้จักอีสานเลยนี่หว่า ตอนเป็นเด็ก ครึ่งนึงของชีวิตผมจะอยู่โรงเรียนในเมืองกาฬสินธุ์ เล่นเกมส์กับเพื่อน พอปิดเทอมจะถูกส่งไปอยู่บ้านย่า ไปไล่จับแย้ ยิงกะปอม รับจ้างปลูกมันอะไรเงี้ย มีชีวิตครึ่งๆ อยู่ในทั้งสองชุมชน แต่จะเรียกว่าเราเป็นไทบ้านก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีเพื่อนไทบ้าน มันเล่นกับเราเฉยๆ ไม่ได้สนใจ พาเราไปยิงกะปอม ในเมืองเราก็ไปเล่นเกมส์กับเขาเฉยๆ”
“ตอนนี้ มีอีกงานที่ทำอยู่ ชื่อ The Road to Beauty เป็นความพยายามจะทำความเข้าใจความงามผ่านสายตากะเทยไทบ้าน ซึ่งก็คือคนที่เล่นกับผมตอนเด็กเนี่ยแหละ เป็นพี่ข้างๆบ้าน ผมก็หวังว่า งานเหล่านี้จะเป็นโอกาสให้เราไปรู้จักอีสานมากขึ้น รู้จักคนแถวบ้านมากขึ้น ได้พูดกันมากขึ้น”
คำเว้าของป๊อบเป็นเนื้อเป็นหนังหลายอีหลี เฮาจึงบ่สามารถแทรกมุกปัญญาอ่อน ตลกโปกฮาได้เท่าที่ควร
From Sea and Site to School
ทำไมถึงทำหนังสือ From Sea and Site to School?
“เขาจ้าง”
เขาจ้างหรือเราเอาไปเสนอ?
“เอ่อ ใช่ เราเอาไปเสนอเองนี่หว่า ผมคิดว่า อาจจะไม่ต้องหาเหตุผลอะไรยิ่งใหญ่ เพื่ออธิบายการกระทำของตัวเองเนาะ ในแง่นึงก็เป็นการตอบสนองของสองฝั่ง ผมก็อยากทำ Photobook(หนังสือภาพ) มานานแล้ว แล้ว LPN ก็อยากได้ Photobook มันไม่ต้องอธิบายยิ่งใหญ่ ที่เหลือเป็นเรื่องของคนอ่านว่า เห็นอะไรจากหนังสือเล่มนี้”
คาดหวังอะไรจากคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้? ถ้าตอบว่า ไม่คาดหวัง นี่ไม่เท่เลยนะ
“ไม่คาดหวังอะไรเท่าไหร่ว่ะ อาจารย์เอ้ย อย่างน้อยที่สุดก็อยากให้เห็น คนที่อยู่เบื้องหลังความชิค เห็นเด็กที่มานั่งเก็บปลาให้คุณกิน เด็กที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เด็กที่ต้องตามพ่อแม่มาสร้างคอนโดชิคๆให้คุณอยู่เนี่ย”
เชื่อจริงๆ ใช่ไหมว่า การมีแรงงานเด็กมันไม่ดี?
“ใช่ ใช่ ใช่(ใช่ Three Times) ผมเคยได้ยินคนพูดว่า ที่เรามองว่า การใช้แรงงานเด็กไม่ดี เพราะเราไม่เข้าใจบริบทของครอบครัวพวกเขาโว้ย ผมคิดว่า ผมก็แค่อยากเห็นเด็กเข้าโรงเรียน ไม่อยากเห็นเด็กมานั่งทำงาน นั่นเป้าหมาย คุณจะเถียงยังไงก็ได้ แต่ผมมีเป้าหมายอย่างนี้”
แรงงานเด็กควรจะเรียนมากแค่ไหน ถึงจะมาทำงานได้ ถ้าคิดแบบว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร, เรียนไปเพื่อมีความรู้, รู้ไปเพื่ออะไร รู้ไปเพื่อทำงาน แล้วถ้าทำงานได้เลยล่ะ มันไม่ดีเหรอ?
“ผมไม่รู้ว่า ควรจะเรียนมากแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็เรียนเพื่อให้รู้ว่า เรามีทางเลือก ไม่ใช่โตมาก็โผล่มาอยู่ในโรงแกะกุ้งเลย แล้วเราจะไปรู้ได้ยังไงว่า เราสามารถทำอย่างอื่นได้ เอาว่า การมีแรงงานเด็กมันไม่ใช่โลกที่เราอยากเห็น ไม่เกี่ยวกับว่ามันผิดหรือถูกกฎหมายไหม แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากเห็นเท่านั้นแหละ ตอบเท่อีกแล้วกูเนี่ย”
ทำงานนี้แล้วเลิกกินอาหารทะเลไปเลยไหม?
“ก็กินอยู่ดี เราก็ไม่ใช่คนสุดโต่งที่ว่า ประท้วงทุนนิยม แล้วเราจะไม่เข้า 7Eleven เลย อะไรเงี้ย แต่เราก็ตระหนักอยู่ว่า ซื้อปลาหมึกห้าโล มาจากตลาดทะเลไทย ปลาหมึกนั้นอาจจะมาจากแรงงานข้ามชาติก็ได้นะ จับโดยลูกเรือประมงที่เป็นทาสบนเรือก็ได้นะ แต่เราจะทำยังไง ผมเคยคิดอะไรแบบนี้อยู่ แต่คิดไม่ออก เราตระหนักแต่เราจะยังไงต่อ ก็คงเป็นความย้อนแย้ง หรือจริงๆ ผมอาจจะชิคหน่อยนึง คนเราก็คงย้อนแย้งหลายเรื่องในตัว”
ทำไมคนอีสานต้องรู้เรื่องนี้?
“อีสานก็มีคนชิคอยู่บ้าง ไม่ต้องเป็นคนอีสานก็ต้องรู้ เป็นคนชิคก็เลยต้องรู้ ไม่หวังอะไรทั้งนั้น ถ้าหวังให้เขาเลิกกินอาหารทะเลไปสร้าง Campaign (กิจกรรมรณรงค์) ดีกว่าไหมเนี่ย”
ไม่หวังให้ทุกคำที่เขาอ้าปากเคี้ยวตระหนักอยู่เสมอว่า ความแซ่บนั้นอยู่บนความลำบากของคนอื่นงี้เหรอ?
“ทุกคำ ทุกการอ้าปากเลยเหรอวะ โหดไป๊ แต่ว่า ถ้าเขารู้ถึงโครงสร้างปัญหาได้แล้ว มันจะต่างกับตอนไม่รับรู้ยังไง อื่ม มันก็คงเห็นอกเห็นใจมากขึ้น”
“สุดท้ายมันวนกลับมาว่า เราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน ความคิดแบบฝ่ายขวาก็ไม่ได้ผิดอะไรนี่ คือ อยากเห็นสังคมแบบเดิม ทางฝั่งฝ่ายซ้ายก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากเห็นคนเท่ากัน สุดท้ายก็ด้วยความอยากเห็นสังคมแบบไหน ทำงานเพื่อหวังว่า สังคมจะเป็นแบบที่เราคิดสักวัน”
อยากเห็น เด็กเข้าโรงเรียน เพื่อให้เขารู้ตัวว่า มีศักยภาพจะทำอะไรได้ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำกับประมงอย่างเดียว ใช่ไหม?
“ผมไม่รู้เรียกว่า ถูกบังคับได้ไหม แต่มันมองไม่เห็น Option(ทางเลือก) อื่นแล้ว การเข้าโรงเรียนอาจจะทำให้เขาเห็น Option อื่นได้บ้าง เวลาคนแปลการทำงานในอุตสาหกรรมประมงของเด็กแล้วใช้คำว่า Force(บังคับ) ผมก็ยัง คิดว่ามัน Force จริงเหรอ ใคร Force วะ หรือมันเป็นโครงสร้าง Force ถ้างั้นก็โอเค แต่ก็ยังเชื่อว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังมีคนชิคๆเยอะ ที่ไม่เห็นโครงสร้าง อยากเห็นคนเกลียดความชิค เยอะขึ้น ทุกวันนี้ วงการถ่ายภาพก็เห็นแต่ Realframe อ้าว โฆษณากันเองแล้ว(ป๊อบ เป็นสมาชิก Realframe) ที่สนใจปัญหาโครงสร้าง”
มีเป้าหมาย หรือกรอบสังคมที่อยากเห็นไหม? เช่น อยากให้ประเทศไทยมีสังคมแบบนอร์เวย์อะไรเงี้ย
“ไม่รู้ว่าจริงๆ กรอบนั้นมันคืออะไร ดูเหมือนไม่มีเป้าหมายเลยว่ะ ไม่มี KPI (KPI-Key Performance Indicator : ดัชนีวัดผลการทำงาน) เลย”
พอเล่นมุกปุ๊บ เราลืมคำถามต่อไปเลยว่ะ อ่ะ มีอย่างอื่นที่อยากทำอีกไหม? หรือคิดว่า ช่างภาพในประเทศไทยน่าจะลองทำดู
“อื้อหือ ถ้าคิดได้นี่ผมทำเป็นเรื่องเสร็จแล้วนะ ผมทำเองดีกว่าถ้างั้นจะบอกคนอื่นทำไม เอ่อ ผมเห็นว่า ฝั่งอนุรักษ์นิยมในไทยมีอำนาจมากเนาะ แล้วก็มีคนรุ่นใหม่ เช่น ธนาธร อะไรไป ท้าทายอำนาจฝั่งอนุรักษ์นิยม ทีนี้ ในวงการถ่ายภาพประเทศไทย เราจะเห็นเขาชอบจัดประกวดภาพถ่าย 77 จังหวัด ภาพที่ได้รางวัลจะแนว Pictorial (ภาพถ่ายที่เน้นความสวยงาม) เช่น ภาพสถานที่สำคัญทางศาสนา สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆงามๆ ผมเคยคิดเล่นๆว่า อยากจะแย้งพวกนี้สุดๆ ถ่ายแบบ Non-Pictorial ไปเลยไหม แบบว่า ถ่าย 77 จังหวัด ถ่ายสถานที่ที่ชนะประกวดในมุมที่ไม่สวยสุดๆ งานแบบนี้แหละ ผมอยากทำ”
สายน้าก็มาว่ะ
*สายน้า : ในเว็บบอร์ด หรือกลุ่มออนไลน์ เกี่ยวกับถ่ายภาพ มักใช้คำว่า น้านำหน้าชื่อช่างภาพแต่ละคน โดยช่างภาพเหล่านี้นิยมพูดคุยกันเรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพ และสนใจเรื่องอุปกรณ์ในเชิงลึกมาก ช่างภาพที่สนใจเรื่องอุปกรณ์มาก จึงอาจจะถูกเรียกว่า สายน้า
ใช้กล้องอะไรบ้างทุกวันนี้?
"เยอะ ขายแดกไปบ้าง อะไรบ้าง ตอนนี้มี Nikon D700 ตัวนึง ที่กำลังจะพังแล้ว ใครสนใจบริจาคเงินซ่อมก็ดีนะครับ Lens- Sigma 35mm ไว้ใช้กับ Nikon นี่แหละ มี Sony A7R2 ตัวนึงกับ Lens - 50mm และ 24-70 mm เอาไว้ถ่ายวิดีโอ หลังๆกล้อง Nikon เริ่มพังก็ ใช้ตัวนี้(Sony A7R2) ถ่ายรูป มี rolleiflex(กล้องฟิล์ม) 80mm f2.8 ตัวนึง เท่านี้แหละ ถ้าในฝั่งกล้อง”
แสดงว่า มีฝั่งอย่างอื่น?
“ฝั่งเครื่องสแกน จะเอาด้วยเหรอ ก็ Nikon Coolscan 8000 ED ตัวนึง ใครจะซื้อก็ได้นะครับ ขายให้ 6.5 หมื่นบาท แล้วก็มีอะไรวะ Epson V600 เป็นเครื่องสแกนเหมือนกัน”
ถ้าตอนนี้ สนใจประเด็นมากกว่าภาพ แล้วจะมีกล้องไปทำไมเยอะแยะ?
“ก็จริงว่ะ ผมก็ตอบไม่ได้”
หรือมีกิเลสเหมือนคนทั่วไป หรืออยากลอง อยากเป็นน้า?
“ใช่ อยากลอง เวลาเราเห็นงานช่างภาพคนนึงก็อยากรู้ว่า เขาทำยังไงในการได้ Visual แบบนั้น อย่างไอ้คนเกาหลีนี่ เราก็ไปค้นว่า มันใช้เครื่องสแกนอะไร เราอยากได้ Visual แบบนั้นบ้าง ผมคิดว่า สุดท้ายแล้วเครื่องมือต่างๆ มันจะกลายไปเป็นทางเลือกให้เราหยิบใช้ได้ ถ้าจะเล่าเรื่องนี้ เราจะหยิบ Visual แบบไหนมาใช้ อีกอย่าง เราก็มีความอยากเป็นน้าเหมือนกัน อยากได้เหมือนกัน”
“ผมเคยถามพี่เล็ก (เกียรติศิริขจร) ช่างภาพคนนึง ที่เขาถ่ายภาพการพัฒนากรุงเทพด้วยฟิล์ม(หลงสวรรค์ -Lost in Paradise) ถามเขาว่า ทำไมเขาต้องถ่ายมาเป็นสีนี้ ทำไมทุกรูปเป็นสีนี้ พี่ต้องการจะบอกอะไรหรือเปล่าครับ คำตอบที่แกตอบผมมานี่ คือ ผมชอบสีนี้ครับ ไอ้เหี้ย ล้มกูหมดเลย ในแง่นึงบางคนที่เป็น Artist(ศิลปิน)มาก เขาก็พยายามนำเสนอสี หรือแสงที่ชอบหรือใช่ ซึ่งอาจจะไม่สามารถอธิบายด้วยระบบเหตุผลได้”
จำเป็นไหมว่างานที่ยิ่งใหญ่ต้องใช้ฟิล์มถ่าย?
“ไม่จำเป็นหร๊อก ผมลองคิด และมองตัวเองเล่นๆ ผมว่า ฟิล์มในตอนนี้ สำหรับผมมันกลายเป็นสิ่งที่เราทำสนุกๆ ผ่อนคลายจากโลกการถ่ายภาพในแง่นึง เป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามเรียนรู้อยู่ เรามี Visual ที่อยากได้มากจากฟิล์ม แต่มันก็ยังทำไม่ได้สักที ภาพสีนี้ Contrast(ความต่างของสีเข้มและอ่อน)เท่านี้ เราอยากรู้ว่ามันทำยังไงวะ ยังทำไม่ได้สักที หาใน Youtube ก็ไม่มี ต้องตาม IG (Instagram) มัน แอบดูว่ามันใช้กล้องอะไร ใช้เครื่องสแกนแบบไหน เราก็เห็นมันใช้แบบนี้ ซึ่งเราไม่มีปัญญาซื้อ ที่เมืองนอก เขาจะเริ่มใช้ Hasselblad Flextight ตัวละล้านนี่แหละ เราก็ไอ้เหี้ย กูจะทำยังไงให้ได้ยังงั้นบ้างวะ ซึ่งเวลาเราได้มา อาจจะไม่ได้รูปแบบนั้นก็ได้นะ เราอาจจะคิดผิดก็ได้นะ”
ป๊อบ หยุดคิด แล้วก็เล่าต่อถึงความเป็นน้าของตัวเอง
“เล่าเรื่องอุปกรณ์อีกทีนึงนะ สายน้าน่าจะชอบว่ะส่วนนี้ เมื่อก่อนผมใช้ Canon มีความน้าในระดับสูง เราไปสุด กล้องที่ว่าดีสุดของ Canon คือ 1Dx ลองซื้อเว้ย ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้นะ พยายามหาเหตุผลให้ตัวเอง มันสีดีกว่า มันตรงกว่า แล้วเราก็มี เลนส์ 24 f1.4, 35 f1.4 และ 135 f2.0 มีครบ ก่อนไปซื้อเราก็คิดว่า ถ้ามีหมดนี่เราจะพอแล้ว เราสามารถทำงานทุกอย่างได้บนโลก ด้วยอุปกรณ์ 4 ชิ้นนี้ สุดท้าย ขี้เหร่ คือ Canon ก็จะมีสีจำของมัน ก็ประมาณนี้ พอเราไปดูงานอีกคนนึง กูอยากได้สีแบบนี้ อ๋อเขาใช้ Nikon ไปซื้อ Nikon มาใช้บ้างดีกว่า ไอ้เหี้ย ขาย Canon ทิ้งหมด ไปซื้อ Nikon มาใช้ ซึ่งเราก็เสือกโง่ ไม่ยอมไปถามเขาด้วยนะว่า เขาทำยังไงให้ได้สีแบบเขา เสือกไปซื้อมาเลย”
“ถ้าดูรูปผม Visual เปลี่ยนมากๆ ถ้าเอารูปมาเรียงตาม Timeline(ลำดับเวลา) สีภาพก็เปลี่ยนไป แต่เราก็สนุกกับมัน ในความเป็นน้าระดับนึง ไม่ใช่พวกที่เล่นกับเรื่องเล่ามากโดยไม่สนใจอุปกรณ์ เพราะผมก็คิดว่า อุปกรณ์เป็นส่วนนึงในการเปิดจินตนาการ ให้ทำ Visual แบบต่างๆได้”
แล้วต้องไปให้ถึง Hasselblad หรือ Leica ไหมล่ะ?
“ก็อยากมีนะ อาจจะเป็นความน้าของเรา ไม่ใช่ผมไม่อยากมีนะ กูอยากมี Leica (เสียงดัง) แต่ไม่มีเงินซื้อ”
ไม่ทำงานอย่างอื่น ที่มันได้เงินมากกว่านี้ แล้วงานเพื่อสังคมไว้เป็นงานอดิเรก
“ผมไม่รู้จะทำอะไร ผมต้องถามจารย์แล้ว ทำยังไงให้รวย”
ถ้าผมรวย ผมจะมานั่งสัมภาษณ์คุณยังงี้ไหม?
“นี่มันเรื่องราวของ Looser ผู้แพ้พ่ายต่อทุนนิยมนี่หว่า”
พอบทสัมภาษณ์เผยแพร่ไป ต้องมีหมั่นไส้กันบ้างอะ ผมดูแล้ว
“ผมก็ว่างั้น ไปลดทอนมันหน่อยนะจารย์”
ติดตามผลงาน หรือติดต่อจ้างงาน ป๊อบ-วิศรุตได้ที่ https://www.sankhamphotography.com และผลงานของกลุ่มช่างภาพ Realframe ที่ https://realframe.co/
ต้องการครอบครอง From Sea and Site to School และสนับสนุนการแก้ปัญหาแรงงาน ติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/LPN-Labour-Protection-Network-371018579290/
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #FromSeaandSitetoSchool #ป๊อบ #Realframe #วิศรุตแสนคำ #กาฬสินธุ์ #ช่างภาพ #ถ่ายหลาย #ถ่ายเยอะ #ยั่งกะท้องเสีย #เฟี้ยวเงาะ #กลิ่นก้อย #ตำบักหุ่ง #LPN #ไม่ใช่บริษัทอสังหา
Comments