ในวันจันทร์นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศพบว่า ปัจจุบัน แหล่งน้ำมีน้ำเพียง 47 เปอร์เซ็นต์พื้นที่เก็บน้ำทั้งหมด เนื่องจากในฤดูฝนปีนี้มีฝนตกน้อย ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ตามปกติ ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยืนยันว่า เตรียมให้การช่วยเหลือหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาพฤหัสบดีนี้
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำปัจจุบัน ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของ สนทช. ว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% และอาจมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 20 จังหวัด
“ภาคเหนือ 9,183 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% ภาคกลาง 508 ล้าน ลบ.ม. 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,246 ล้าน ลบ.ม. 33% ภาคตะวันตก 18,284 ล้าน ลบ.ม. 68% ภาคตะวันออก 1,120 ล้าน ลบ.ม. 36% ภาคใต้ 5,323 ล้าน ลบ.ม. 58% … มีอ่างเก็บน้ำที่น้ำน้อยกว่า 30% เป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 19 แห่ง และขนาดกลาง 151 แห่ง” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำในปีนี้มีน้อยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ฝนตกช่วงฤดูฝนปี 61 น้อยกว่าค่าปกติ 10%–17% 2.มีการส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรที่เพาะปลูกเกินแผนในฤดูแล้งปี 61/62 ทำให้ต้องจัดสรรน้ำมากกว่าแผน 20% หรือ 1,528 ล้าน ลบ.ม. 3.มีปริมาณฝนตกจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) 30%-40% ในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ
“สทนช.ได้ประเมินพื้นที่ฝนตกน้อย และอาจมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน 83 อำเภอ 20 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35 อำเภอ 10 จังหวัด ภาคใต้ 27 อำเภอ 8 จังหวัด ภาคเหนือ 18 อำเภอ 6 จังหวัด และภาคตะวันตก 3 อำเภอ 1 จังหวัด โดยมีแผนแก้ไขปัญหาแล้ว ตั้งเป้าหมายให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 3,200 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 1 พ.ย. 62” นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทส. จะใช้การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเบื้องต้น ส่วนการแก้ปัญหารูปแบบอื่น จะดำเนินการหลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 นี้
“สิ่งที่เราทำได้เร็วที่สุด ณ ตอนนี้คือ การใช้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปขุดเจาะ แต่ต้องเรียนไว้ก่อนว่าการขุดน้ำบาดาลนั้นไม่สามารถใช้ได้ทุกที่ มันแล้วแต่ตามลักษณะภูมิประเทศว่า เจาะลงไปแล้วจะเจอตาน้ำหรือไม่ ได้คุณภาพมากน้อยแค่ไหน แต่ว่าถ้าหากสามารถดำเนินการได้เราใช้เวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์ จากไปสำรวจจนถึงขุดเจาะแล้วก็ทำเป็นบ่อบาดาล” นายวราวุธ กล่าว
“หลังจากมีการแถลงนโนบาย ผมกับคณะจะเดินทางไปยังจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นอีสานหรือภาคเหนือ เพื่อดูว่าจะสามารถทำอะไรได้จะเร่งทำอย่างเร็วที่สุด โดยกฎหมายแล้วผมจะมีอำนาจสั่งการเต็มที่หลังจากมีการแถลนโยบาย… สำหรับเขื่อนต้องเรียนว่า จริงๆแล้ว คนที่ควบคุมดูแลเขื่อนเป็นคณะกรรมการที่ไม่ใช่มีเพียงกระทรวงหลักๆ อาจจะเป็นของการไฟฟ้า ดังนั้นการที่จะปล่อยน้ำออกมา ปริมาณเท่าใด หรือเก็บกักน้ำไว้เท่าใด จะเป็นการหารือของคณะกรรมการร่วม ไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง” นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกประจำกองทัพบก(ทบ.) เปิดเผยว่า พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) สั่งการให้มณฑลทหารบกแห่งต่างๆ ช่วยเหลือ แก้ไขการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว
“มณฑลทหารบก (มทบ.) มีการสำรวจพื้นที่วิกฤติและจัดลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือไว้แล้ว โดยในภาคเหนือ ได้แก่ พิจิตร กำแพงเพชร พะเยา สุโขทัย ลำปาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม เลย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ ขอนแก่น นครราชสีมา เป็นต้น จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 279 คัน พร้อมเข้าให้การสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัด ออกแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งเร่งด่วนตามแผนงานของทางจังหวัด” พันเอกหญิง ศิริจันทร์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านทั้งภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ก็น้อยกว่าปกติมาก โดยข้อมูลจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า น้ำในแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อยู่ที่ 2.21 เมตร โดยตลิ่งมีความสูง 12.80 เมตร ขณะที่อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อยู่ที่ 1.30 เมตร ตลิ่งมีความสูง 12.20 เมตร อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ที่ 2.79 เมตร ตลิ่งมีความสูง 14.50 เมตร
โดย สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย ระบุว่า ทางการจีนได้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงระบบของเขื่อน ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงน้อย แต่ปัจจุบัน จีนได้ปล่อยน้ำเพิ่มเป็นกว่า 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว คาดว่าน้ำจะไหลลงมาถึงชายแดนไทยในอีก 1-2 วันข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น
Comments