ประชาไทรายงานว่า อันเฟรล’ หรือเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี เปิดบทสรุปรายงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งไทย ชี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบอบอำนาจใหม่เอื้อ คสช. ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ พร้อมตั้งข้อสังเกตแจกเงินจำนวนมากวันสุดท้ายก่อนลือกตั้งผ่านโครงการประชารัฐ ยกภาคประชาสังคมแม้ถูกกดปราบการแสดงความเห็นแต่ก็ยังรวมตัวเพื่อชี้แนะข่าวสารที่จำเป็น มอง กกต. นับผลคะแนนขาดความโปร่งใส แถมโผล่สูตรคำนวณเอื้อฝ่าย คสช. รวมทั้ง ขอ กกต. เผยผลแต่ละหน่วย
26 มิ.ย. 2562 เว็บไซต์ของมูลนิธิอันเฟรล รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือมูลนิธิอันเฟรล ( ANFREL) เผยบทสรุปจากรายงานฉบับเต็มจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยมีรายละเอียดดังนี้
หากจะบอกว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่มีขึ้นในวัน ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นสิ่งที่เฝ้ารอคอยกันมานานนั้นก็คงจะเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป หลังจากห้าปีภายใต้การปกครองของทหารที่ไร้การคานอำนาจและการเลือกตั้งถูกเลื่อนมาโดยตลอด ในที่สุดประชาชนชาวไทยก็ได้มีโอกาสที่จะได้แสดงความคิดเห็นของตนในห้วงเวลาที่ควรจะเป็นความปีติยินดีร่วมกัน
ขณะที่อันเฟรลยินดีต้อนรับการกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอันมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ได้แสดงข้อกังวลมาโดยตลอดเกี่ยวกับสภาพการณ์ของการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้ง ปี 2562 ของไทยยังขาดองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในที่สุดทางการไทยได้ทำตามสัญญาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ล้มเหลวในการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีอันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม การเลือกตั้งเป็นกลไกที่ไม่สามารถถูกประเมินโดยแยกจากอย่างอื่นได้ และต้องถูกพิจารณาอยู่ในบริบทของสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยสภาพเงื่อนไขทางสังคมการเมืองตลอดจนสถานะของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
การกุมอำนาจอย่างกระชับแน่นของรัฐบาลทหารและพันธมิตรพลเรือนในการบริหารประเทศตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ทำให้ระบอบอำนาจใหม่ถูกออกแบบมาให้เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเองมากที่สุด ทุกขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการประกาศผลและหลังจากนั้นถูกกำหนดมาเพื่อให้ได้ผลการเลือกตั้งที่จะไม่ไปสั่นคลอนฝ่ายผู้กุมอำนาจมากเกินไป กรอบกฎหมายสำหรับการเลือกตั้งที่วางอยู่บนฐานที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 อันอื้อฉาวนั้น เป็นกรอบอันมีลักษณะจำกัดเข้มงวดมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ยกตัวอย่างเช่น การจำกัดบทบาทผู้แทนของประชาชน ทำให้ไม่สามารถได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำที่ไม่เหมือนใครที่ให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการขัดต่อความเข้าใจของคนทั่วไปว่าประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาคืออะไร
แต่ถึงจะมีข้อบกพร่องต่างๆ และมีกรอบเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นเกินไปก็ตาม การหาเสียงเลือกตั้งก็ดำเนินไปอย่างคึกคักเกินกว่าที่นักสังเกตการณ์ส่วนใหญ่ได้คาดไว้ โดยมีพรรคการเมืองลงสนามจำนวนมาก ทำการรณรงค์หาาเสียงเป็นครั้งแรกในรอบห้าปี และใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงผู้มีสิทธิออกเสียง การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้แสดงออกทางการเมืองหลังจากที่ไม่สามารถทำได้มาเป็นเวลานาน และการหาเสียงส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างสงบโดยไม่มีรายงานเหตุการณ์รุนแรงที่สำคัญ ถึงจะมีการใช้คำด่าหยาบคายและการปล่อยข่าวลือเพื่อสร้างความหวาดกลัวอยู่บ้างก็ตาม อันเฟรลได้รวบรวมรายงานเกี่ยวกับการซื้อเสียงจากทั่วประเทศ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าผู้ออกเสียงเลือกตั้งถูกชี้ด้วยการกระทำเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่ก็ตาม ที่น่าตระหนักยิ่งกว่าคือการแจกจ่ายเงินจำนวนมากในวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งผ่านทางโครงการสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐโดยมิชอบ
การเลือกตั้งที่แท้จริงควรต้องสร้างพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้กระทำการอย่างเสรีในเวทีการเมือง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อันเฟรลเห็นภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกทำให้อ่อนแอลีบฝ่อไปเป็นระยะเวลาหลายปี จากการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองและตกอยู่ภายใต้การข่มขู่คุกคาม การใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่างฉ้อฉล เพื่อกดทับและปราบปรามความเห็นต่าง และการคุกคามอื่นๆ ต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสมาคมรวมตัว ถึงกระนั้นก็ตาม ภาคประชาสังคมและสื่อก็มีส่วนร่วมอย่างสุดกำลังความสามารถให้ช่องทางชี้แนะและข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนในการเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้งอย่างมีความหมาย อันเป็นความพยายามที่มักถูกมองข้ามไปในการเลือกตั้งที่มีสีสันครั้งนี้ ในกาลข้างหน้ารัฐบาลควรปล่อยให้ภาคประชาสังคมและสื่อได้เติบโตด้วยการจัดการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่คณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุ และดำเนินมาตรการให้ความคุ้มครองการแสดงความเห็นต่างและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
คณะผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งได้พบการให้ความสนับสนุนต่อการกลับมาของการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างคึกคักและเข้มแข็ง การที่มีรายงานว่าผู้มีสิทธิออกเสียงพากันออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนถึงร้อยละ 74.69 นั้น คือการชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเชื่อในการเลือกตั้งของประชาชนและสามารถมองได้ว่าเป็นการปฏิเสธการใช้กำลังยึดอำนาจรัฐบาล เราหวังว่าความต้องการของผู้ออกเสียงจะถูกทำให้เป็นจริงด้วยการปรับปรุงกระบวนการทางการเมืองให้เปิดกว้างมากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น และโปร่งใสมากขึ้น การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีคุณภาพสูง การส่งเสริมการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมต่อผู้พิการตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวางมากขึ้น การให้ความรู้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงจะสามารถช่วยรักษาความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับนี้ไว้ได้ อีกทั้งจะช่วยแก้ปัญหาบัตรเสียที่มีสูงเกินไปถึงร้อยละ 5.6ได้
อันเฟรลมองเห็นความพยายามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะจัดการเลือกตั้งให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งเผชิญปัญหาท้าทายต่างๆ ในกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความใส่ใจอย่างมาก ผู้สังเกตการณ์มองเห็นความมุ่งมั่น ของพวกเขาที่จะจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยพยายามดูแลเตรียมความพร้อมของเอกสารทั้งหมด ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาออกเสียง และการนับคะแนนเสียงตามหน่วยต่างๆ ให้เปิดเผยต่อสาธารณะ ขณะที่อันเฟรลสังเกตเห็นความแตกต่างเล็กๆ ในการดำเนินตามขั้นตอนของกระบวนการลงคะแนน แต่ก็เป็นเรื่องพื้นๆ และสามารถแก้ไขได้โดยง่ายด้วยการจัดฝึกอบรมใหกับเจ้าที่ประจำาหน่วยเลือกตั้งอย่างละเอียดรอบด้านมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย และไม่ปรากฎมีรายงานถึงความรุนแรงหรือความปั่นป่วนในระดับสำคัญใดๆ จากสื่อหรือผู้สังเกตการณ์
ขณะที่กกต.ได้แสดงให้เห็นถึงการจัดกระบวนการเลือกตั้งที่ดี แต่ก็ถูกลบล้างไปด้วยการจัดการนับผลการเลือกตั้งที่ย่ำแย่ ข้อกังวลอันดับหนึ่งของเราก็คือ กกต.ขาดความโปร่งใสที่ไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์และสื่อได้มีส่วนรู้เห็นขั้นตอนสำคัญนี้ของกระบวนการเลือกตั้ง การห้ามของ กกต.ขัดกับหลักการของความโปร่งใสอันเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้การประกาศผลการเลือกตั้งในเบื้องต้นในคืนวันเลือกตั้งก็ผิดพลาดอย่างมาก ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและความไม่เชื่อถือต่อตัวเลขที่ กกต.แถลง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงสูญเสียการยอมรับนับถือในความบริสุทธิ์โปร่งใสมากกว่านี้ด้วยการเปิดเผยผลการนับคะแนนในระดับหน่วยอย่างเป็นทางการ หรืออย่างน้อยก็ให้คำอธิบายที่น่ารับฟังสำหรับการปกปิดดังกล่าว เพื่อความโปร่งใส เราขอให้ กกต.ดำเนินการเชิงรุกด้วยการเปิดเผยข้อมูลการเลือกตั้ง โดยเริ่มจากผลการนับคะแนนในระดับหน่วยเลือกตั้งซึ่งจะช่วยลดคำครหาว่าไม่เป็นกลางและบิดเบือนผลการเลือกตั้งลงไปได้
น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีจุดด่างพร้อยด้วยข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับความไม่เป็นกลางของ กกต. อันเป็นองค์กรที่มีที่มาจากการแต่งตั้ง โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารเลือกมากับ มือ กฎระเบียบของ กกต.ยากต่อการเข้าถึง และการตัดสินใจของ กกต.ก็มักปราศจากความพยายามที่จะทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนและการยอมรับ ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของกกต.ในสายตาของสาธารณชน ความผิดพลาดที่ชัดเจนโจ่งแจ้งมากที่สุดของกกต.น่าจะเป็นการใช้สูตรการคานวณคะแนนเสียงเพื่อหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีราย ชื่อที่ประกาศออกมาหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีความแตกต่างเป็นอย่างมากจากวิธีการคำนวณที่ดูเหมือนว่าทุกพรรคการเมืองเคยเห็นร่วมกันมาก่อนหน้าการเลือกตั้ง การเปลี่ยนวิธีคำนวณหลังมีการเลือกตั้งไปแล้วหลายสัปดาห์ ส่งผลให้การครองเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ ในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองฝ่ายต่อต้าน คสช.มีอันต้องพลิกกลับตาลปัตรไป
นอกจากนี้หลายฝ่ายยังได้แสดงความผิดหวังต่อการวินิจฉัยข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งดูจะเข้าข้างพรรคตัวแทนของคสช.คือ พรรคพลังประชารัฐ อยู่เสมอ หลังการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่และนักการเมืองอื่นที่ต่อต้านรัฐบาลทหารตกเป็นเป้าของการฟ้องร้องทางกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นความพยายามที่มุ่งให้พวกเขายอมสยบ แม้ว่าคดีส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในชั้น สอบสวน แต่ประวัติผลงานที่ผ่านมาของกระบวนการยุติธรรมไทยก็ชี้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ที่รู้กันอยู่ว่ามีเหตุจูงใจทางการเมือง อาจกลายเป็นภัยคุกคามจริงๆ ต่อผู้แทนบางส่วนในฝ่ายต่อต้านคสช.
ดังนั้นเราขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ด้วยมาตรฐานสูงสุดของความโปร่งใส ความพร้อมรับผิดและตรวจสอบได้ และขอให้ประชาชนมีความตื่นตัวและดูแลว่าทุกฝ่ายได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยรวมแล้วข้อผิดพลาดบกพร่องที่กล่าวถึงข้างต้นและมีรายละเอียดอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำให้อันเฟรล ไม่อาจพิจารณาการเลือกตั้งปี 2562 ของไทยเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากคำว่ามีเสรีอยู่บ้างและไม่เป็นธรรม
ในตอนท้าย อันเฟรล ระบุว่า น่าเสียดายที่การฝากความหวังกับกระบวนการเลือกตั้งมาแต่แรกของประชาชนและความกระตือรือร้นของพวกเขาที่พากันออกมาลงคะแนนนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดผลลัทธ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป อันเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาวได้ แต่กลับ เป็นว่าผลการเลือกตั้งที่อื้ออฉาวและการเจรจาต่อรองต่างๆ ในสภาในเวลาต่อมาได้ส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองลงไปอย่างมาก โดยมีคนไทยเพียงร้อยละ 12.9 เท่านั้นที่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่จะมีความชอบธรรม เมื่ออนาคตทางการเมืองของไทยปรากฏเค้าลางของความไม่แน่นอนหวนกลับมาอีกครั้ง อันเป็นสภาพจมปลักที่กลายเป็นความชาชินไปแล้วสำหรับคนไทย เราจำเป็นต้องกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทยไม่ได้เป็นกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เป็นโอกาสที่หลุดลอยไป ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง
อ่านข่าวต้นฉบับ ที่นี่ : https://prachatai.com/journal/2019/06/83141
Comments