top of page
Writer's pictureThe Isaander

ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับ 110,000 บาทนักกิจกรรมเรื่องเขื่อนเมืองอุบลฯ หมิ่นประมาทผู้ว่าฯ



วันนี้ (24 กันยายน 2562) iLaw รายงานว่า ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดกฤษกรหรือ "ป้าย ปากมูล" ฟังคำพิพากษาคดีที่เขาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวหาผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเรื่องการสั่งปิดเขื่อนปากมูลและเชิญชวนคนร่วมลอยอังคารผู้ว่าฯ ในเวลา 9.00 น.


.


เนื่องจากกฤษกรมาถึงห้องพิจารณาคดีที่ 3 ล่าช้าศาลจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอื่นไปก่อน จากนั้นจึงอ่านคำพิพากษาในเวลาประมาณ 10.30 น. เมื่อกฤษกรมาถึง โดยศาลแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเฉพาะใจความสำคัญเนื่องจากคำพิพากษาตัวเต็มยาวถึง 30 หน้า


.

เมื่อศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาไปได้ครู่หนึ่งมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นในห้องพิจารณา ศาลจึงเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกจากห้องพิจารณายกเว้นอัยการ กฤษกรซึ่งเป็นจำเลยและทนายความของกฤษกร


.

ศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 10 นาทีจึงแล้วเสร็จ ทนายความของกฤษกรให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาว่า


.

ศาลพิพากษาว่ากฤษกรกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) รวม 2 กรรม กรรแรกเป็นข้อความที่โพสต์กล่าวหาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวข้องกับการสั่งปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งมีทั้งหมดสองข้อความ ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 50000 บาท กรรมที่สองข้อความที่โพสต์เรื่องการลอยอังคารผู้ว่าฯ ให้จำคุก 2 ปี ปรับเป็นเงิน 60000 บาท รวมจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 110000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน


.

ทนายของกฤษกรแจ้งด้วยว่า คำพิพากษาที่คัดสำเนามาเป็นคำพิพากษาแบบย่อ ส่วนคำพิพากษาฉบับเต็มต้องขอคัดถ่ายจากศาลอีกที


สำหรับเหตุผลที่ศาลให้ประกอบการลงโทษกฤษกรพอสรุปได้ว่า


ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเปิดปิดเขื่อนปากมูลตามที่จำเลยโพสต์ข้อความกล่าวหา จำเลยเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องน้ำและเขื่อนปากมูล น่าจะทราบถึงกระบวนการต่างๆเป็นอย่างดี ที่จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบกระบวนการประชุมของคณะกรรมการ หรือวาระเรื่องการเปิดปิดเขื่อนปากมูลจึงไม่น่าจะเป็นไปได้


ส่วนข้อความที่จำเลยโพสต์ว่าจะลอยอังคารผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้อความเท็จและจำเลยน่าจะทราบดีว่า ในวันและเวลาดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานียังไม่ได้เสียชีวิต


หลังการอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวกฤษกรลงไปที่ห้องควบคุมใต้ถุนศาลเพื่อให้ดำเนินการชำระค่าปรับแล้วจึงทำการปล่อยตัว อย่างไรก็ตามกฤษกรยังต้องอยู่ศาลต่อเนื่องจากเขาต้องฟังการพิจารณาคดีของเขาอีกคดีหนึ่ง


สำหรับเหตุแห่งคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(2) ที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้เกิดขึ้นในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 กฤษกรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่า ทางจังหวัดมีการประชุมเพื่อปิดเขื่อนปากมูล โดยไม่สนใจว่าน้ำจะท่วมจังหวัดอุบลราชธานีหรือไม่


ข้อความที่สองเขาโพสต์เป็นรูปภาพที่มีข้อความเหมือนข้อความแรกปรากฎอยู่ และข้อความที่สามเขียนว่าว่า


"3 พฤศจิกายน ขอเชิญร่วม ลอยอังคาร ผู้ว่าอุบลฯ ข้อหาปิดเขื่อนปากมูล "


ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมอบอำนาจให้นิติกรจังหวัดอุบลราชธานีเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกฤษกรในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2)


ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328


ข้อหาแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 384


และข้อหาดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393


กฤษกรให้การปฏิเสธ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีสืบพยานคดีนี้เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2562 ก่อนจะนัดมาฟังคำพิพากษาในวันนี้


กฤษกร หรือ “ป้าย ปากมูล” เป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ดอนคำพวง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะทำงานประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมภาคประชาชนอาเซียน (APF/ACSC 2019)


กฤษกรเริ่มทำกิจกรรมกับชุมชน จากการเป็นตัวแทนของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราศีไศลในการยื่นเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลเมื่อปี 2535 โดยเขารับหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเอกสารและข้อมูลต่างๆรวมทั้งเป็นผู้ประสานงานกับตัวแทนชาวบ้าน


#theisaander #ilaw #เขื่อนปากมูล #อุบลราชธานี #ราษีไศล #โขงเจียม — at สะพานแม่น้ำมูล จ อุบลราชธานี.

225 views0 comments

Comments


bottom of page