หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้น แทบจะเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของอำเภอวารินชำราบ บริเวณรอยต่อกับอำเภอสำโรง อำเภอเล็กๆ อีกแห่งของจังหวัดที่ถูกแยกออกไปในปี 2535
.
ข้อมูลจากปากแม่ผู้เขียนบอกเพียงว่า ชาวบ้านที่นั่นส่วนมากประกอบอาชีพทำไร่ทำนา แม้กระทั่งโรงเรียนก็ตั้งอยู่กลางทุ่งนา
.
กระทั่งตำนานฮักบี้ บ้านบาก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 เมื่อพวกเขาสามารถคว้ารองแชมป์กีฬารักบี้ ชิงแชมป์ประเทศไทย รุ่นอายุไม่เกิน 13 ปี ระดับดิวิชั่นสอง เป็นรายการแข่งขันที่ทีมบ้านบากปะทะเจ้ารักบี้ของประเทศอย่าง ภปร.วิทยาลัย, วชิราวุธวิทยาลัย และทีมเจ้าเก่าอื่นๆ กระทั่งฟันฝ่าจนคว้าที่สอง
.
หากถวิลเสพเรื่องท้องถิ่น หนังเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้มีความดิบ ความเรียล ของความเป็นอีสานแบบจักรวาลไทบ้าน เดอะ ซีรี่ย์ แต่การมองโลกและวิถีคิด อันใสซื่อแบบเด็กน้อยนั้น ช่างเป็นเรื่องสากลนัก ซึ่งหนังก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีในการบอกเล่าความเป็นโรงเรียนบ้านบาก โรงเรียนบ้านนอกแห่งหนึ่ง ที่การละเล่นเกี่ยวเนื่องกีฬาของพวกเขานั้นรู้จักเพียงฟุตบอล และมวยตู้ของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน
.
รักบี้ หรือฮักบี้ ของเหล่าเด็กน้อยบ้านบากเป็นเรื่องไกลตัวนัก
แต่จะว่าไปรักบี้ กีฬาที่มักถูกพูดถึงว่าเป็นกีฬาดิบเถื่อนของสุภาพบุรุษ ก็ยังดูห่างไกลจากความรับรู้ของคนไทย
พูดก็พูดเถอะ คนในเมืองเอง ก็คงมีไม่มากนักที่จะรู้ถึงกฏกติกาเกมรักบี้ ไม่ว่าจะเป็นรักบี้มีผู้เล่น 12 คนต่อ 1 ทีม ตัวจริง 7 คน สำรอง 5 คน การวางทรัยคือวิ่งไปวางลูกหลังเส้น แล้วได้ 5 คะแนน เตะลูกเข้าประตูหลังจากวางทรัยแล้วได้อีก 2 คะแนน เรียกว่าได้ 1 ประตู แม้กระทั่งศัพท์เฉพาะทางเช่น การแทคเกิ้ล น็อคดาวน์ หรือยิงจุดโทษระยะไกล
นั่นคือสิ่งที่ทีมฮักบี้บ้านบาก และแม้กระทั่งคนดูเองต้องพยายามเข้าใจกฎกติกาไปพร้อมๆกัน เส้นเรื่องและปมขัดแย้ง ดูจะไม่ใหม่มากสำหรับหนังคอมเมดี้ฟีลกู้ด นั่นคือการเริ่มต้นจากศูนย์ ของทีมกีฬาทีมหนึ่ง ที่มีไฟต์บังคับให้เข้าแข่งขันกีฬารายการหนึ่ง
.
คล้ายๆกับคำว่า เศรษฐศาสตร์การกีฬา ที่ต้องดึงศักยภาพนักกีฬาออกมาให้มากที่สุดในห้วงเวลาและสถานการณ์จำกัด นั่นทำให้เรื่องราวของทีมรักบี้ทีมหนึ่ง มีมิติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่เป็นเพศที่สาม หรือไทบ้านแถวอีสาน เรียกกันว่า " กะเทยหัวโปก "
แต่ด้วยแรงขับอะไรบางอย่าง ทำให้เขาอยากมาเป็นนักกีฬาและก้าวข้ามอคติของคนที่มองว่า เขาไม่น่าจะทำอะไรแบบนี้ได้ ซึ่งหลายๆซีน ในเรื่องก็ทำเอาน้ำตาคลอไปได้เหมือนกัน บางตอนทำให้คิดถึงหนังสุดคัลท์ที่เล่าประเด็นเพศที่สามอย่างแหลมคม เช่นเรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก
.
แน่นอนว่าการเป็นนักกีฬาบ้านนอกของทีมนี้ สมาชิกคนอื่นๆ ก็มีภาระผูกพันที่และอุปสรรคชีวิตแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น คนที่พ่อเสพยาบ้าแล้วจี้คนอื่นจนถูกจับขังคุก คนที่ต้องดูแลแม่ที่พิการ หรือแม้แต่เด็กที่ละทิ้งการบวชเพื่อมาเล่นกีฬากับเพื่อนๆ
แต่ด้วยเบ้าหลอมที่อุทิศตัวเองเพื่อนักเรียนของเขาอย่างคุณครูธงชัย ที่ต้องชมว่า บทบาทครูแบบนี้แหละคือครูที่มีอยู่จริงๆ ในชนบทอีสานและชนบทอื่นๆของประเทศไทย ถ้าเคยดูเรื่องคิดถึงวิทยา ของอดีตค่าย GTH มันก็จะให้อารมณ์โทนนั้นอยู่บ้าง ไม่ต่างกัน
.
จากเรื่องราวโรงเรียนเล็กๆอันแช่มช้าในภูมิภาคไกลห่าง หนังเรื่องนี้เลยค่อยๆไต่ระดับปัญหาเชิงโครงสร้างของเหล่าลูซเซอร์ ทั้งครูและนักเรียน ตั้งแต่การหาอุปกรณ์ฝึกซ้อม การต่อสู้กับความไม่เข้าใจจากคนรอบข้างว่าทำไมต้องมาเล่นหรือทำทีมฮักบี้ จนไปถึงการบากหน้าไประดมเงินจากที่ต่างๆเพื่อเป็นทุนไปแข่งขันในกรุงเทพ
.
หรือแม้กระทั่งการลงสนามจริงเอง ที่มีทั้งเสียงเย้ยหยัน ถากถางถึงทีมรักบี้ภูธรอย่างพวกเขา
.
ก่อนที่ทีมบ้านบากจะเค้นพลังออกมาในสนาม จนได้รับชัยชนะและกลายเป็นที่ยอมรับในที่สุด ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เป็นความมหัศจรรย์อะไรนัก เพราะมันเกิดจากการฝึกซ้อม มุ่งมัน อย่างแข็งขัน และหัวใจที่ไม่ยอมแพ้พ่ายของพวกเขานั่นเอง แต่ก่อนที่พวกเขาจะแกร่งได้ขนาดนี้ ฉากและชีวิตในหนังก็พยายามสอดแทรกการ มองเห็นคุณค่า การให้โอกาสคนอื่นๆ และยอมรับในตัวตนคนนั้น นั่นคือสปิริตของฮักบี้บ้านบาก หนังที่เรียบๆธรรมดา แต่ทิ้งทรงจำจุกอกไว้อย่างมหาศาล
.
นอกจากเหล่าเด็กๆนักแสดง ดาราอีสานที่โลดแล่นในเรื่องนี้ ยังถูกเลือกได้เข้ากับหน้าหนังยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็น คุณสายสิน วงษ์คำเหลา ที่มารับบท ผอ. โรงเรียน ด้วยบุคลิกบ้านๆซื่อๆเปิ่นๆสำเนียงอีสาน-สีเกด แต่ดูเป็นผู้ใหญ่ใจดี เข้ากันมากกับคุณสายสิน ซึ่งเราจะเห็นบทบาทของเขาอยู่ตลอดในหนังที่หม่ำ จ๊กมก กำกับ เช่น การเข้าใจผิดว่า กีฬาฮ้อคกี้ คือรักบี้ จนเป็นจุดเริ่มของเรื่องราวทั้งหมด
.
คุณปอยฝ้าย มาลัยพร ศิลปินจากหนองคาย ก็เป็นอีกคน ที่มาสร้างสีสัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถ้าคุณผู้อ่านเข้าใจบริบทชีวิตคุณปอยฝ้าย จะฮาขึ้นมาก คือคุณปอยฝ้าย มาเล่นเป็นพ่อที่ติดเหล้า ซึ่งก็คือล้อชีวิตตัวเองที่เคยเป็นนั่นแหละ ด้วยบุคลิก งึกๆงักๆ สะแหมเหล้า ตลอดเวลา การปรากฏตัวเพียงไม่กี่นาทีนั้นเล่าเรื่องคุณปอยฝ้ายได้หมดเลย แต่คุณปอยฝ้ายแกเป็นตลกไหวพริบ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ออกมาเล่น แกยังมีเวลาพูดโปรโมทค่ายท๊อปไลน์ ไดมอนด์ สังกัดแกอีก (ฮ่าๆ)
.
แถมบทยังย้อนส่งไปถึงบทเพลง กะเทยประท้วง เพลงสุดฮิตตลอดกาลของแกอีกด้วย
ส่วนอีกคนที่มาแจมด้วยคือ คุณ ยาว ลูกหยี มารับบทพ่อหมอในพิธีแห่นางแมว
คุณยาว ลูกหยี เป็นศิลปินที่เก่งเรื่องการพูดเชิงจำอวด โดยเฉพาะบทบาทล้อเลียนเสียงและท่าทาง สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งก็ปรากฎตัวในบทคนนำพิธี ซึ่งบทนี้คุณยาว ลูกหยี เคยเล่นมาแล้วใน แหยม ยโสธรภาค 2 ทำให้บทหนังค่อยๆคลายปมไปได้ผ่านกิมมิคพิธีกรรมเล็กๆทางอีสานที่สอดแทรกเข้ามาในเรื่อง
.
ที่สุดแล้ว ฮักบี้บ้านบาก ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่แสดงเจตนาการเล่าเรื่องของผู้กำกับ สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเห็นคุณค่า และต้องการให้สังคมตระหนักในสิ่งคล้ายจะถูกหลงลบลืมสูญไป นั่นคือ การตื่นมาแล้วเห็นตัวเองเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเมื่อวาน
.
เรื่องนี้สำหรับชาวอีสานคนหนึ่ง นอกจากความอิ่มใจในโรงหนังจากการความน่ารักน่าเอ็นดูของเด็กๆแล้ว นอกโรงหนัง ผู้กำกับคนนี้ก็ยังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้ชาวบ้านหลายๆคนชื่นชมและคงรำลึกถึงผู้ชายที่ชื่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ด้วยความขอบคุณเขาอยู่เสมอๆ
___________________________
สำหรับผู้ที่สนใจดูหนังเรื่องฮักบี้บ้านบาก เท่าที่ The Isaander ทราบข้อมูล ตอนนี้ยังมีฉายที่
โรงหนังเนวาด้า อุบลราชธานี --> http://www.nevadacomplex.com/Nevada-Ubon-ShowTime
โรงหนังเดชอุดม เธียร์เตอร์ --> https://www.facebook.com/DetudomTheater
ขอบคุณภาพจากเพจ: ฮักบี้ บ้านบาก — at โรงหนังเนวาด้า เมืองหนังแห่งแรกของประเทศ.
Comments