top of page
Writer's pictureThe Isaander

ยายบัวสอนยายบัวสอน โยคะเปลี่ยนชีวิต ผู้ไม่ยอมแพ้แก่อาการป่วยไข้


เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล ดิอีสานเด้อ ขอจูงมืออันสูงเกียรติของทุกท่าน ไปรู้จักคุณยายบัวสอน คุณยายที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง อัมพฤกษ์ครึ่งซีก เธอใช้การออกกำลังกายที่ละม้ายคล้ายโยคะ ฟื้นฟูร่างกายกลับมาจนหายเป็นปกติ และได้นำท่าออกกำลังกายไปเผยแพร่ให้คนที่สนใจ จนได้ชื่อว่าคุณยายโยคะแห่งชำราบ


และภาวะที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกสองปีข้างหน้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)มีผู้สูงอายุร้อยละ 19.2 ของประชากรทั้งหมดแล้ว ทำให้สังคมเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยตามลำดับ

______


ยายบัวสอนยายบัวสอน โยคะเปลี่ยนชีวิต ผู้ไม่ยอมแพ้แก่อาการป่วยไข้


I

เมื่อตื่นมาพบว่าตัวเอง ขยับอวัยวะด้านขวาไม่ได้ เหมือนโลกทั้งใบกำลังพังทลายลง หลายคนเลือกที่จะโทษเวรกรรมปั้นแต่ง เหตุใดเล่าความป่วยไข้ไม่คาดคิดเช่นนี้จะมาเกิดขึ้นกับเขา


ย้อนกลับไปที่เตียงโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ราว 12 ปี ที่แล้ว ในวัยเกือบ 70 ปี บัวสอน จันทรประชู ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคที่ทำให้ชะตาชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล เธอเป็นอัมพฤกษ์ตัวด้านขวา ใช้งานอวัยวะด้านขวาไม่ได้ มันอ่อนแรง มือที่เคยหยิบจับปั้นข้าวเหนียวกิน ตอนนี้เป็นเพียงสิ่งที่เป็นภาระ สมองสั่งได้แต่มือ-เท้าขวาไม่ทำตาม จากช่างปั้นหม้อปั้นเตากลายเป็นเพียงผู้ป่วยไร้ค่าเป็นภาระแกคนอื่น


เธออยู่ในภาวะพิการด้านขวา ในตอนนั้นการแพทย์ยังไม่ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ โรคหลอดเลือดในสมองตีบเป็นโรคที่ยังไม่รู้จักกันแพร่หลาย เธอนอนจมอยู่กับความเจ็บช้ำ ทบทวนถึงเวรหรือกรรมอะไรที่ดลบันดาลให้เธอตกต้องระกำลำบากเช่นนี้ การรักษาโรคหลอดเลือดในสมองตีบหลังจากแพทย์ช่วยให้ระบบเลือดสมองกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ว่าร่างกายข้างขวาก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากอาการหลอดเลือดในสมองตีบ เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ทำให้เชลล์สมองบางส่วนตายไป สูญเสียการทำหน้าที่ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีกขวา


เคราะห์ดีที่บัวสอนหลอดเลือดสมองไม่แตก เพราะเช่นนั้นอาจจะร้ายแรงถึงชีวิต แต่ทุกอย่างหลังจากนี้ต้องมาจากจิตใจล้วนๆ ที่จะทำให้อวัยวะด้านขวาเธอกลับมาใช้งานได้อีกครั้งด้วยการกายภาพบำบัด ก่อนหน้าที่เธอจะเป็นโรคหลอดเลือดในสองตีบ เธอเป็นโรคหลายอย่างที่ยอดฮิตสำหรับผู้สูงอายุ ความดัน ต้อกระจก และ เบาหวาหวาน น้ำตาลในเลือดสูงถึง 400 mg/d เมื่อทุกอย่างของร่างกายขมวดปม เกิดอาการหลอดเลือดในสมองตีบ เธอบอกว่าก่อนหน้าที่จะเป็นเธอไม่ดูแลร่างกายของเธอดีเท่าที่ควร


หลังจากหมอบอกเธอให้ออกกำลังกาย กายภาพบำบัดแล้วเธอจะกลับมาใช้งานแขนขาขวาของเธอได้ เธอก็เริ่มขยับร่างกาย ถือคติว่า ปวดตรงไหน ขยับขยบตรงนั้น มันเริ่มมาจากการนอนอยู่ที่เตียงโรงพยาบาลเป็นเวลานานๆ แล้วปวดเมื่อยเธอก็ขยับแขนขา จนออกมาจากโรงพยาบาลก็ทำไปเรื่อยๆ มือขาวที่ขยับไม่ได้ ต้องเอามือซ้ายช่วยขยับทีละนิด จนกลับมาขยับได้ หยิบจับสิ่งของได้ เธอก็ทำทำกายภาพต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จากท่าปกติกลายเป็นท่าที่ยึดทุกส่วนในร่างกาย ทำจนเป็นกิจวัตร จากเคยปวดหลังปวดขา ทุกอย่างดีขึ้น จนญาติที่เคยบอกว่าคนล้มหมอนนอนเสื่อแบบนี้แล้ว รอแต่เวลากลับบ้านเก่าเท่านั้น จนต้องตกใจเมื่อเธอกลับมาหายเป็นปกติแล้วยังดูร่างกายกระฉับกระเฉงกว่าเดิม


II

ในวันหนึ่งเธอได้เข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ครั้งนี้เธอต้องเข้ารักษาผ่าตัดตาที่เป็นต้อกระจก เธอนั่งอยู่บนเตียง เธอปวดเมื่อย เธอก็ขยับร่างกาย ยึดซ้ายยึดขวา ตามปกติ เพื่อนผู้ป่วยข้างเตียงหันมาค้อนเธอและบอกว่า “อย่าไปทำแบบนี้เดี่ยวหมอจะด่าเอา”

เพื่อนผู้ป่วยอีกคนหนึ่งหันมาบอกว่า “จะไปด่าแกทำไมแกทำถูกแล้ว แกกำลังเล่นโยคะอยู่”


หลังจากนั้นบัวสอนเลยรู้ว่าสิ่งที่เธอทำนั้นเขาเรียกกันว่าโยคะ ก่อนหน้านี้เธอรู้แต่ว่าพยายามยืดร่างกายให้เยอะที่สุดเพื่อให้เส้นเอ็นได้ทำงานจะได้ไม่ปวดเมื่อย เธอเปรียบว่าเหมือน “ฤาษีดัดตน” หลังจากที่คนแถวบ้านเห็นเธอจนคนป่วยแขนขาใช้งานไม่ได้ กลับมาเป็นคนแก่ที่กระฉับกระเฉง หลายคนถามเคล็ดลับ เธอก็บอกให้ทุกคนทำตาม ถามกันมาหลายคนจนเธอได้เปิดเป็นครอสฝึกให้กับคนที่สนใจ ทำให้คนในหมูบ้านและใกล้เคียงมาฝึกกับเธอ ช่วยให้ลดภาวะเสี่ยงเจ็บป่วยของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก


ท่าปิ้งกบ ท่าปลากระดี่ได้น้ำ ท่าขัดสมาธิ ปั่นจักรยาน ท่าพายเรือ และอีกหลายๆ ท่าที่เธอเรียก ด้วยภาษาบ้านๆ เข้าใจง่ายเธอ ทำให้ผู้คนมาบริหารร่างกายกับเธอ จนได้ชื่อเรียกว่า ยายบัวสอนอาจารย์สอนโยคะ เป็นวิทยากรประจำตำบลและเป็นแรงบันดาลใจแกคนป่วย หรือคนชราให้หันกลับมาดูแลตัวเอง จากวันนั้นจนวันนี้เกือบ 10 ปี แล้วที่เธอเผยแพร่วิชาช่วยให้คนหายจากอาการป่วยไข้ และมีกำลังใจในการสู้กับโรคร้ายต่างๆ


III

“ไม่โกรธ ทบทวนตัวเอง ยิ้มง่าย พูดหวาน สนุกกับใช้ชีวิต ธรรมนำทาง” คือสิ่งที่เธอบอกเมื่อถามว่าอะไรคือเคล็ดลับของเธอ เธอบอกว่าชีวิตเรามันมีหลากหลายรสชาติ เราต้องรู้จักทบทวนตัวเอง สังเกตตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง ถ้าวันนั้นเธอไม่ลุกขึ้นสู้กับโรคหลอดเลือดในสมองตีบ เธอคงกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปแล้ว เป็นภาระแกคนอื่น จมปลักอยู่กับการโทษเวรกรรมปั้นแต่ง ไม่กลายเป็นยายบัวสอนสอนโยคะถึงทุกวันนี้


พลังในชีวิตของเธอสามารถส่งต่อไปสู่คนอื่นได้ เธอเล่าเรื่องทุกเรื่องได้ตลก มองโลกในแง่บวก อารมณ์ดี ชีวิตมีความสุข ปัจจุบันเธออายุ 85 ปี แล้ว อาศัยอยู่กับคู่ชีวิตและลูกๆ อยู่ที่บ้านคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีความร่าเริงแจ่มใส สุขภาพร่างกายแข็งแรง เกินกว่าอายุ สิ่งสำคัญที่เธอฝากบอกถึงทุกคนคือกำลังใจ เชื่อมั่นในตัวเอง มองโลกในแง่ดี ถ้าวันนั้นที่เธอนอนซมอยู่ในเตียงโรงพยาบาล เธอไม่กลับมาสู้ ออกกำลังกาย เธอคงกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอัมพาตไปแแล้ว เธอยากให้ผู้สูงอายุทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง อย่าโทษโชคชะตา หันกลับมาดูแลตัวเอง ทำตัวเองให้มีคุณค่า และสนุกกับโลกใบนี้

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)


1.ในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 11.31 ล้านคน เป็นหญิง 6.23 ล้านคน ชาย 5.08 ล้านคน


2.สัดส่วนผู้สูงอายุตามวัย เป็นผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 57.4 วัยกลาง (70-79 ปี) ร้อยละ 29 และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 13.6


3.ภาคเหนือ “ครองแชมป์” พื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด ร้อยละ 21.1 รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ร้อยละ 19.2 ส่วนภาคใต้ มีผู้สูงอายุน้อยที่สุด ร้อยละ 14.4


4.ผู้สูงอายุไทย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.1 ทำงานประจำ อาชีพที่ผู้สูงอายุไทยทำกันมาก 2 อันดับแรกคือ อันดับ 1 เกษตรกร ร้อยละ 58.7 กับอันดับ 2 ค้าขายและบริการ ร้อยละ 17.9


5.บุตรยังเลี้ยงดูพ่อแม่ และผู้สูงวัยเองก็พยายามไม่เป็นภาระ โดยพบว่ารายได้หลักของผู้สูงอายุ อันดับ 1 ร้อยละ 34.7 ได้จากบุตร อันดับ 2 การทำงานของตนเอง ร้อยละ 31 ส่วนเหตุผลที่ผู้สูงวัยยังทำงานคือ อันดับ 1 สุขภาพแข็งแรงดี ยังทำงานไหว ร้อยละ 47.7 อันดับ 2 ต้องหารายได้เลี้ยงตนเองหรือครอบครัว ร้อยละ 43.4 ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไทยทำงานเฉลี่ย 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


6.ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่สุขภาพยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้สัดส่วนผู้สูงอายุที่สุขภาพดีมากและดีจะลดลงกว่าการสำรวจเมื่อปี 2557 กล่าวคือ ในปี 2557 มีผู้สูงอายุสุขภาพดีมาก ร้อยละ 3.3 และสุขภาพดีร้อยละ 42.4 ส่วนปี 2560 มีผู้สูงอายุสุขภาพดีมาก ร้อยละ 2.4 และสุขภาพดีร้อยละ 39.3 แต่ผู้สูงอายุในเกณฑ์สุขภาพปกติเพิ่ม จากปี 2557 ที่ร้อยละ 38.3 เป็นร้อยละ 43.2 ในปี 2560 ส่วนผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี ลดลงจากร้อยละ 13.9 ในปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 13.5 ในปี 2560 และผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดีมาก ลดลงจากร้อยละ 2.1 ในปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในปี 2560


7.โครงการบัตรทอง 30 บาท มีประโยชน์มากกับผู้สูงวัย ร้อยละ 83.2 ของผู้สูงอายุไทยใช้บัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล

8.ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงหกล้มมากขึ้นด้วย แม้จำนวนผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มจะลดลง จากร้อยละ 11.6 ในปี 2557 มาเหลือเพียงร้อยละ 6.6 ในปี 2560 แต่หากแยกตามวัย ผู้สูงอายุวัยปลายหรือ 80 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ร้อยละ 8.3 สาเหตุอันดับ 1 ร้อยละ 39 คือการลื่น และอันดับ 2 ร้อยละ 36.6 คือการสะดุด


9.สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงวัย พบว่า ผู้สูงวัยร้อยละ 40.1 อยู่บ้านชั้นเดียว รองลงมา ร้อยละ 37.3 นอนชั้นล่าง, ร้อยละ 59 นอนบนเตียง ร้อยละ 51.5 ใช้ส้วมห้อยเท้า ร้อยละ 81.3 ส้วม อยู่ภายในบ้าน ถือว่ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในระดับหนึ่ง แต่ที่ต้องปรับปรุง เช่น ยังมีถึงร้อยละ 47.5 ที่ใช้ส้วมนั่งยอง ร้อยละ 41 ให้ผู้สูงอายุนอนบนพื้น และโดยเฉพาะ “ร้อยละ 89.2 ไม่มีราวจับในห้องน้ำ” ห้องน้ำจึงเป็นจุดเสี่ยงที่ผู้สูงวัยอาจหกล้มได้


10.ผู้สูงอายุไทยยังมีความสุขดี หากให้คะแนนเต็ม 10 นับจากสุขน้อยที่สุดไปสุขมากที่สุด ผู้สูงอายุไทยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 50 ให้คะแนนที่ 7-8 หมายถึงมีความสุขมาก และกว่าร้อยละ 30 ให้คะแนนที่ 5-6 หมายถึงมีความสุขปานกลาง อย่างไรก็ตาม “ความสุขก็ลดลงตามวัย” จากผู้สูงอายุวัยต้น 60-69 ปี ที่ตอบว่าสุขมาก ร้อยละ 57.7 เมื่อถึงผู้สูงอายุวัยปลาย หรือ 80 ปีขึ้นไป ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 43.8 11.ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีรายได้พอยังชีพ โดยร้อยละ 28.2 มีรายได้ 10,000-29,999 บาทต่อเดือน รองลงมา ร้อยละ 21.4 มีรายได้ 30,000-49,999 บาทต่อเดือน อันดับ 3 ร้อยละ 15.2 มีรายได้ 50,000-69,999 บาทต่อเดือน โดยมีเพียงร้อยละ 10.9 ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ในภาพรวมร้อยละ 50.3 ตอบว่ารายได้เพียงพอในการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 5.8 ที่มีเหลือเก็บออม


12.คู่ชีวิตและลูกสาวคือผู้เลี้ยงดู ผู้ดูแลผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.2 เป็นคู่สมรสที่อยู่ดูแลกันในยามแก่เฒ่า รองลงมา ร้อยละ 30 เป็นลูกสาวที่แต่งงานแล้ว และอันดับ 3 ร้อยละ 10.6 เป็นลูกสาวที่ยังโสด 13.ลูกยังห่วงใยพ่อแม่ โดยผู้สูงอายุร้อยละ 79.1 ได้รับเงินจากบุตรหลานที่ออกไปทำงานไกลบ้านส่งกลับมา และร้อยละ 64.6 กรณียังอยู่บ้านเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ พบผู้สูงอายุร้อยละ 17.4 ยังให้เงินช่วยเหลือบุตรหลานในกรณีอยู่บ้านเดียวกันมากกว่ากรณีอยู่คนละบ้าน ซึ่งอยู่ร้อยละ 8


14.ครอบครัวไทยยังอบอุ่น เห็นได้จากคนไทยถึงร้อยละ 97.3 ยังกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.4 ไปเยี่ยมเกือบทุกวันหรือทุกวัน รองลงมา ร้อยละ 27.8 ไปเยี่ยมอย่างน้อยปีละครั้ง และอันดับ 3 ร้อยละ 25.1 ไปเยี่ยมเดือนละ 1 ครั้ง และ


15.ผู้สูงอายุอยู่แบบโสดหรือเป็นคู่ชีวิตวัยชรามากขึ้น โดยในปี 2560 กลุ่มที่อยู่เป็นโสดอยู่ที่ร้อยละ 10.8 เพิ่มจากร้อยละ 8.7 ในปี 2557 และกลุ่มที่อยู่เป็นคู่ชีวิตวัยชรา ในปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 23.3 เพิ่มจากร้อยละ 20.6 ในปี 2557

ข้อมูลจากสาธารณสุข ผู้สูงอายุภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากโรค หลอดเลือดในสมอง ด้วยอัตราความเสี่ยงสูง


นอกจากสังคมผู้สูงวัยในอีสานมีแรงกดดันมากกว่าภาคอื่น เกิดสังคมที่ผู้สูงวัยต้องเลี้ยงดูลูกหลาน ในขณะที่คนวัยทำงานพลัดถิ่นออกหาเงิน


bbcthai รายงานโดยอ้างจากคำสัมภาษณ์ของรศ.ดร. ดุษฎี อายุวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ศึกษาเรื่องการย้ายถิ่นของคนอีสานมากว่า 30 ปี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมื่อพูดถึงตายายที่ดูแลหลาน คนทั่วไปมักถึงคนที่อายุเยอะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น


"งานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท-เอก เมื่อเร็ว ๆ นี้บอกว่า ครอบครัวที่เหลือแต่ปู่ยาตายยาอยู่กับหลานนั้น คนที่เป็นปู่ย่าตายายอายุไม่มากเลย แค่ 50-60 ต้น ๆ"


รศ. ดร.ดุษฎี อธิบายว่า ในอีสานสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของประเทศ แต่ภาคอีสานมีปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ "กดดัน" ต่อผู้สูงอายุมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะสังคมอีสานมีพื้นฐานเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐาน


รายงานสถานการณ์ประชากรไทย 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน ที่จัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ในเวลาไม่ถึง 30 ปี (‪2530-2556‬) ครอบครัวข้ามรุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1 แสนครัวเรือนเป็น 4 แสนครัวเรือน ‬‬‬‬‬‬


รายงานฉบับนี้ยังระบุไว้ว่า จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2555 พบว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในครอบครัวข้ามรุ่นมีรายได้ครัวเรือนต่อหัวต่ำกว่าเส้นความยากจน และอาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อพัฒนาการของหลานที่อยู่วัยเรียน


เรื่องและภาพโดย : สุภาพร ธรรมประโคน https://www.facebook.com/weareyounging/


#Theisaander #isanader #ข่าวอีสาน #ผู้สูงอายุ #คนแก#สังคมชนบท

228 views0 comments

Comments


bottom of page