"ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต เขินพูดอย่างเงียบขรึม เขาเรียกว่ารัฐประหาร ประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย "
-เรื่องสั้น นักกานเมือง จากรวมเรื่องสั้นฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม ปี 2501
เกือบทศวรรษที่แล้ว- วันที่ภาพแทนสถาบันการเมืองไทยยังผูกขาดจากพรรคใหญ่และพรรคกลางอย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
.
เรื่องราวใน "ชะตาธิปไตย" เริ่มมาจาก นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ อดีตนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชฯ รุ่นเดียวกันที่กลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. 3 พรรคการเมืองที่เฉดสีอุดมการณ์แตกต่างกัน สารคดีพยายามสื่อถึงประโยคที่ว่า "จากมิตรภาพในมหาวิทยาลัยสู่ขั้วตรงข้ามในสภา" ขณะเดียวกันฉากและชีวิตในนั้นก็ฉายให้เห็นบรรยากาศร่วมสมัยที่ผู้สมัคร สส.ทั้งสามต่างพบเผชิญระหว่างศึกหาเสียงด้วย
.
ในคนละเขตคนละพื้นที่ของประเทศ ในสังกัดพรรคทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พวกเขาต่างมีกลวิธีหาเสียงที่แตกต่างกัน
.
○ ชีวิต "ดาวสภาฯ" จากต้นแม่น้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทย
.
ที่จังหวัดน่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว คืออดีต สส.พรรคเพื่อไทยเจ้าเก่า แม้จะเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เขาลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 เป็น ส.ส.จังหวัดน่าน ในชายคาพรรคไทยรักไทย และรักษาที่นั่ง ส.ส. ในพรรคการเมืองที่ถูกเปลี่ยนชื่อบ่อยครั้ง สืบเนื่องถึงปัจจุบันอีก 5 สมัย
.
ชะตาธิปไตยที่พันผูก นพ.ชลน่าน คือประชาชนในพื้นที่แถบอำเภอเวียงสา และละแวกใกล้เคียง โดยหนังถ่ายทอดชีวิตของเขาเมื่อปี 2554 วันที่เหล่าเสื้อแดง ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงนโยบายคิดใหม่ ทำใหม่ สไตล์ไทยรักไทยเก่า ยังครองความนิยมและไม่ถูกปิดกั้นจากคณะรัฐประหาร
.
การลงพื้นที่ของ นพ.ชลน่าน เป็นไปทั้งก่อนมีเลือกตั้งและระหว่างหาเสียง โดยเฉพาะบนเขา บนดอยของจังหวัดน่านที่หลายจุดประชากรเบาบางและอยู่ห่างไกลกัน ในสารคดีค่อยๆ ฉายภาพผู้แทนของเขา ในการแก้ปัญหาจากที่พายุไหหม่า พัดพาความเสียหายและน้ำท่วมในจังหวัดน่าน รวมไปถึงความชิดใกล้กับประชาชนในไร่ข้าวโพด และคนในชุมชนผ่านทั้งงานรื่นเริงและความเศร้าโศก
.
สำหรับแนวทางการหาเสียงนั้น นพ.ชลน่าน ใช้วิธีเคาะประตูบ้าน เน้นชูนโยบายพรรคที่โดนใจประชาชน โดยเฉพาะนโยบายบัตรสินเชื่อเพื่อเกษตรกร เพราะประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรจำนวนมาก
.
บางช่วงบางตอนสารคดีบอกเล่าที่มาชีวิตในวัยเด็กของ "ดาวสภาฯ" ผู้นี้ไว้อย่างน่าสนใจ จากต้นแม่น้ำเจ้าพระยาสู่อ่าวไทย หากใคร่ครวญกับจังหวะช่วงเวลา จะเห็นว่ามันครอบคลุมหลากมิติของชีวิต "ผู้แทน” คนหนึ่งของไทย
.
○เป็นนักบุญ เป็นหมอ เป็น สส.
.
นพ.บัญญัติจะมีบุคลิกเรียบร้อย สไตล์เด็กนักเรียนห้องคิง ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร หลังจากทำงานแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่อุบลราชธานีจนเสร็จสิ้นก็กลับไปเป็นหมอที่บ้านเกิดของเขาในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง กระทั่งวันหนึ่งได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด
.
จากบทสัมภาษณ์ในอะเดย์ บูเลนติน ของเดชา ปิยะวัฒน์กูล ผู้กำกับเล่าถึงเพื่อนร่วมรุ่นเขาอีกคน ในชะตาธิปไตยจะเห็น นพ.บัญญัติ มีบทบาทความเป็นหมอมากกว่าผู้สมัคร ส.ส.อีกสองคนในเรื่อง แต่วิถีการเป็นผู้แทนที่มาจากพรรครัฐบาลและเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในอำเภอแกลง อำเภอที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองระยองนั้น ก็เป็นศักดิ์ศรีที่ค้ำคอเขาไว้ในสมรภูมิเลือกตั้ง 2554 สถานะการเป็น ส.ส.เขต ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทำให้เราได้เห็นแนวคิดทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ขณะที่ นพ. บัญญัติ ลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยเฉพาะความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงในระยอง แทบทุกเขตเลือกตั้ง
.
สิ่งที่สารคดีทำให้เห็นคือ มิติความเป็นมนุษย์ของหมอคนหนึ่งในฐานะอาชีพที่ต้องพบปะช่วยเหลือผู้คนมากมาย จนวันหนึ่งมาดำรงตำแหน่งผู้แทนของประชาชนนั้น ก็กลายเป็นข้อได้เปรียบเล็กๆ ที่ทำให้เขาถูกเลือก แต่ภาพลักษณ์ทำงานหนักทั้งอาชีพแพทย์และนักการเมืองที่ฉายส่องในตัวหนัง ก็ทำให้ไม่รู้สึกแปลกใจที่ นพ.บัญญัติ เป็นบุคคลที่น่านิยมของประชาชนอำเภอแกลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองอย่างเป็นกลาง นอกจากผลงานที่ประชาชนศรัทธาแล้ว ความคิดความเชื่อ และอุดมการณ์ที่เขายึดถือก็ทำให้ นพ.บัญญัติ ยังว่ายเวียนอยู่ในชะตาธิปไตยในฐานะผู้แทนของคนในพื้นที่นั้นได้อีกสมัย
.
○ ลำเพลินไปกับอดีตผู้แทนติดดินของคนศรีสะเกษ
.
ภาพชายร่างเล็กยืนอิงแอบไปกับรถหาเสียงที่มีกังวานเพลงหมอลำเพลินในเขตพื้นที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 คงจะเป็นที่คุ้นเคยของประชาชนละแวกนั้น ในพื้นที่เขตชายแดนที่ขวบปีนั้น กำลังมีข้อพิพาทเรื่องปราสาทกับประเทศกัมพูชา การเลือกตั้งเขตนี้จะถูกเลื่อนไม่ถูกเลื่อน ดูจะเป็นสิ่งน่ากังวลใจยิ่งกับเหตุการณ์ปะทะ ที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มขึ้นและจบลงเมื่อไหร่
.
แต่ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ก็ยังตั้งหน้าหาเสียงอย่างต่อเนื่อง ในนามพรรคขนาด "ทางสายกลาง" ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ทำให้ นพ.ภูมินทร์ค่อนข้างเสียเปรียบจากผู้สมัครที่มาจากพรรคเบอร์ใหญ่กว่า และยิ่งกับวันเวลาที่ประชาชนแถบถิ่นนั้นยังไม่ลืมคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยิ่งทำให้เขาต้องเตรียมตอบคำถามว่า เขาสามารถมีนโยบายหรือแนวทางอะไรที่จะเอาชนะคู่แข่งได้
.
อีกสิ่งที่เห็นในบทบาทของ นพ.ภูมินทร์ เช่นเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.อีกสองคนในเรื่องคือ การเข้าถึงชาวบ้าน และความรู้สึกของการเป็นผู้แทนในพื้นที่ต้อง ผูกพันกันจริงและจับต้องได้ ซึ่งแน่นอนว่า นพ.ภูมินทร์ ก็เป็นที่จดจำของชาวกันทรลักษณ์ไม่น้อยทีเดียว โดยหลังเรียนจบ นพ.ภูมินทร์จับฉลากได้ไปใช้ทุนที่แม่ฮ่องสอนอยู่ 2 ปี จึงย้ายกลับมาทำงานที่จังหวัดศรีสะเกษอีกราว 3 ปี
.
จากนั้นเขาเริ่มต้นลงสมัคร ส.ส. ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ ชนะเลือกตั้งนับตั้งแต่สมัยแรกแล้วก็ทำงานการเมืองต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยชนะเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายสมัย พอต้องมาแข่งขันกับพรรคใหญ่ๆ อย่างพรรคไทยรักไทย หรือพรรคภูมิใจไทย แล้วก็มักจะพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิว และสถานการณ์ของ นพ.ภูมินทร์ ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ แม้การเลือกตั้งรอบล่าสุดของประเทศ จะเข้ามาอยู่ใน "พรรคใหญ่" แล้วก็ตาม
___________________
ท้ายที่สุด เดชา ปิยะวัฒน์กูล บอกเล่าชะตาธิปไตยว่า แต่ละคนไปหาเสียงทำให้เราได้เห็นสภาพความเป็นอยู่จริงๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ที่การเมืองมีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาโดยตรง บ้างอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเขาหัวโล้น ราวกับว่าภูมิประเทศของเขากำลังมีหายนะรออยู่เบื้องหน้า บ้างอาศัยในพรมแดนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้รับผลกระทบเดือดร้อนอยู่แทบจะตลอดเวลา
.
ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความขบขัน มีบรรยากาศระหว่างหาเสียงที่ชวนขำ แต่ทุกชีวิตล้วนตั้งอยู่บนชะตากรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของพรรคการเมืองต่างๆ และเพื่อน ส.ส. ทั้งสาม ชะตากรรมของชาวบ้านจากการเล่นการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมือง จนส่งผลมาถึงชะตากรรมของบ้านเมืองเรา
○ จองตั๋วชมภาพยนตร์
- app : ticketmelon (ค้นหา "LIDO CONNECT")
- website : http://ticketmelon.com/lidoconnect
- ที่โต๊ะขายตั๋ว Lido Connect ชั้น 2 หน้าโรง 1
— at โรงบาลกันทรลักษณ์.
댓글