top of page
Writer's pictureThe Isaander

ก่อนจะถึง 15 ค่ำ เดือน 11 เพ่งดู 'บึงกาฬ' อีกจุดที่บั้งไฟพญานาคขึ้นริมโขง



ทุกปีของวันออกพรรษา ในพื้นที่ริมชายโขง หลายๆจังหวัดภาคอีสาน ไล่เรียงตั้งแต่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี นอกจากงานไหลเรือไฟในบางพื้นที่ บางจุดก็มีงานบุญประเพณี เสียงประทัด เสียงดนตรีหมอลำในงานรื่นเริง คงจะบ่งบอกถึงความสนุกสนานของคนภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างดี


.

แต่มีอีกสิ่งที่คนทั้งประเทศและทั่วโลกสนใจ หากวันๆนี้เวียนมาถึงนั่นคือ ปรากฏการณ์ลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า บั้งไฟพญานาค แม้ทุกวันนี้เรื่องราวยังไม่ถูกชำระความจริงแท้ แต่สิ่งที่เป็นปรากฎการณ์ประหลาดล้ำนี้ ก็ทำให้พื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคายนั้น มีสีสัน มีชีวิตชีวา และเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับเรื่องราวท้องถิ่นได้ทุกปี


.


จากเดิมหน้าสื่อมักจะเพ่งความสนใจไปในพื้นที่หนองคาย โดยปีนี้เทศบาลเมืองหนองคายจัดงานตั้งแต่วันที่ 10-16 ตุลาคม 2562 นอกจากนี้ยังมีงานและเวทีแสดงตรงจุดชมบั้งไฟพญานาค ทั้งฝั่งตรงข้ามบ้านโดน เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว บริเวณ อำเภอโพนพิสัย ตรงบ้านท่าม่วง อำเภอรัตนวาปี ซึ่งเป็นจุดที่เคยบันทึกว่าพบบั้งไฟพญานาคมากที่สุด และมีอีกที่บริเวณจุดชมอ่างปลาบึกบ้านผาตั้ง อำเภอสังคม รวมไปถึงบางจุดบริเวณอำเภอศรีเชียงใหม่ นอกจากนี้ก็มีอีกพื้นที่ที่ The Isaander อยากชวนคุณไปสัมผัสบ้าง นั่นคือจังหวัดบึงกาฬ


.


ด้วยพื้นที่กว้างไกลจากตัวจังหวัดหนองคาย อยู่ในทิศเหนือสุดภาคอีสาน ริมน้ำโขงตรงข้ามคือแขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว ปี 2537 สุเมธ พรมพันห่าว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเสรีธรรม พยายามเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นมา กระทั่งเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2554 อำเภอ "บึงกาฬ " กลายมาเป็นเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศ


แต่เกือบทศวรรษของบึงกาฬ คนไทยรู้จักจังหวัดแห่งนี้หรือที่แห่งนี้มากแค่ไหน พอแยกกันออกมาแล้ว บั้งไฟพญานาค สิ่งมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นทุก 15 ค่ำเดือน 11 พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงบริเวณพื้นที่บึงกาฬบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือ มีขึ้นบริเวณแก่งอาฮงและวัดอาฮงศิลาวาส (เชื่อว่าเป็นจุดลึกที่สุดของแม่น้ำโขง เรียกเป็น สะดือแม่น้ำโขง) บ้านอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ฝั่งตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบอลิคําไซ ประเทศลาว ห่างตัวเมือง 20 กิโลเมตร เป็นจุดที่ชมบั้งไฟได้มากที่สุดในบึงกาฬ และจุดที่สองที่อำเภอปากคาด ความยาวริมโขง 1 กิโลเมตร ห่างตัวเมือง 40 กิโลเมตร นอกจากนี้บั้งไฟพญานาคยังเคยขึ้นที่วัด บึงโขงหลง-หาดคำสมบูรณ์ ที่ห่างตัวเมืองบึงกาฬออกไปราว 80 กิโลเมตร


.


เป็นที่น่าสนใจว่าวันออกพรรษาที่ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมปีนี้ จะมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคสักกี่มากน้อย แต่ที่แน่ๆ ด้วยข้อสังเกตส่วนตัว ตอนนี้ที่พักในตัวจังหวัดบึงกาฬหลายๆที่ถูกจองไว้เต็มหมดแล้ว น่าจะเป็นสิ่งบ่งบอกได้ว่า นักเดินทางนักท่องเที่ยวหลายๆคนกำลังมุ่งไปที่นั่น จังหวัดที่จังหวะชีวิตแช่มช้าเงียบสงบและรอการค้นพบความแง่งาม


.


นอกจากหนองคายและบึงกาฬ ปีที่แล้ว ที่จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอโขงเจียม ก็มีรายงานว่า ปรากฏบั้งไฟพญานาคขึ้นสู่ท้องฟ้าทางทิศตะวันออกของแม่น้ำโขง จากนั้นบั้งไฟชุดที่ 2 จำนวน 4 ลูกได้พุ่งขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวได้เฮกันเป็นครั้งที่ 2 และตามจุดชมวิวริมแม่น้ำโขงในตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม มีบั้งไฟพญานาคขึ้นรวมกันหลายสิบลูก


.


สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมงานเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประจำปี 2562 สามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานอุดรธานี (รับผิดชอบ อุดรธานี-หนองคาย- บึงกาฬ) โทรศัพท์ 042 325 407 หรือเฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/tatudon/


#theisaander #ดิอีสานเด้อ #หนองคาย #บึงกาฬ #อุบลราชธานี #บั้งไฟพญานาค #15ค่ำเดือน11 #แม่น้ำโขง #แม่โขง #feeltrip #สาธารณศึกษา #เรียนรู้ได้ทุกที่ #เรียนรู้ได้ทุกเวลา #เรียนรู้อะไรก็ได้ #เรียนรู้ที่ไหนก็ได้ — at บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ.


153 views0 comments

Comments


bottom of page