“เราเจอกันแค่ 9 วัน เขามาเที่ยวแล้วก็กลับไป แล้วเขาก็เขียนจดหมายมาบอกว่า ฉันชอบคุณนะ เราก็เขียนกลับไปว่า ฉันก็ชอบคุณ”
---
ตัวอักษรที่คุณกำลังจะได้อ่าน คือ ความในใจของสาวอีสานที่กลายเป็นเมียฝรั่ง คุณจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า พรหมลิขิต ก็ได้ แต่ถ้าจะเรียกมันว่า เธอลิขิต ก็คงไม่ผิดนัก
ประชาไทคุยกับ สมหมาย คำสิงห์นอก จากสารคดี 'Heartbound (รักเอย)' ตามติดชีวิตเหล่าหญิงชาวอีสานที่แต่งงานไปอยู่ประเทศเดนมาร์ก เล่าถึงชีวิตที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน พี่สาวที่ป่วยตายเพราะไม่มีสวัสดิการรักษาจากรัฐ การตัดสินใจคว้าหาโอกาสที่พัทยา และการโบยบินสู่เดนมาร์ก ประเทศที่ทำให้เธอได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง
"จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันบาป แต่ทำไงได้ ก็มันทำไปแล้ว ถ้าจะตกนรกก็ต้องตก ถามว่าอายไหม ก็อายมาก"
คือสิ่งที่ สมหมาย คำสิงห์นอก วัย 64 ปี พูดใน Q&A ของหนังสารคดีเรื่อง 'Heartbound (รักเอย)' ซึ่งเกี่ยวกับเหล่าหญิงชาวอีสานที่แต่งงานและอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก โดยเยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และ ซิเนอ พลามเป็ก (Sine Plambech) นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์ก ที่ตามติดชีวิตพวกเธอกว่า 10 ปี
สมหมายคือหญิงไทยคนแรกๆในแคว้นทุ (Thy) ของเดนมาร์ก หลังจากทำงานที่พัทยาได้ 9 เดือน เธอก็เจอกับนีลส์ และตัดสินใจไปอยู่อาศัยที่เดนมาร์กกับเขาหลังจากนั้น ตามด้วยการเป็นแม่สื่อ คอยช่วยเหลือญาติพี่น้อง เหล่าหญิงสาวผู้มีอดีตน่าเศร้าให้ได้พบรักอยู่กินกับชาวเดนมาร์ก จนปัจจุบันแคว้นทุมีหญิงไทยอยู่อาศัยกว่า 900 คน
จนถึงตอนนี้ "เมียฝรั่ง" ก็ยังคงเป็นคำที่ทำให้สมหมายรู้สึกต่ำต้อย ไม่เข้าพวก แม้จะผ่านมานาน 30 กว่าปีนับแต่เธอได้ผัวฝรั่ง มีเงินมีทองส่งกลับบ้านให้ญาติพี่น้องไม่เคยขาด สายตาคนในหมู่บ้านเริ่มมองเธอเปลี่ยนไปในแง่ดี และเป็นตัวเอกในสารคดีชนะรางวัลที่เดินสายทั่วยุโรปและอเมริกาจนมาถึงไทย แต่ความรู้สึกผิดบาปและความอับอายยังคงเกาะกินเธอ
หนังฉายให้เห็นว่า เมื่อไปอยู่เดนมาร์ก ใช่ว่าพวกเธอเหล่านี้จะสบายมีผัวเลี้ยงดู พวกเธอยังคงทำงานหนักไม่ต่างจากเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือนอกจากพวกเธอจะส่งเงินกลับบ้านได้มากกว่าเดิมแล้ว เธอยังมีเงินเหลือพอจะนำมาจับจ่ายในสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ที่พวกเธอไม่เคยทำได้เลยตลอดชีวิตที่ผ่านมา
เรามีโอกาสได้นั่งสนทนากับสมหมายในบ่ายแก่วันหนึ่งก่อนที่สารคดีจะเริ่มฉาย มองอย่างไรเธอก็ดูสาวกว่าคนอายุ 64 ปี ความใจดีฉายในแววตาเธอ น้ำเสียงเธออ่อนโยน บางครั้งก็หนักแน่น บางครั้งก็เกิดจากความอัดอั้นถึงชีวิตที่ผ่านมา เราฟังเธอและเห็นความยากลำบากเหลือเกินในการเป็นพลเมืองของประเทศไทย เพราะสิ่งที่เธอย้ำนักย้ำหนาว่าประเทศนี้ไม่มีก็คือ ‘โอกาส’
“วัยเด็กเราคิดว่าเราขาดโอกาสมาก เราเป็นคนเรียนเก่ง ชอบเรียนมาก ไม่เคยเกเร แต่เราไม่มีโอกาส ตอนนั้นเราโทษพ่อแม่ แต่ตอนนี้เรารู้ว่าทั้งหมดทั้งมวลมันไม่ใช่ที่พ่อแม่ แต่เพราะสังคมเราไม่อำนวยโอกาสให้เราเลย ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างต้องใช้เงินหมด แม้แต่สมุด รองเท้า เสื้อผ้านักเรียน” สมหมายเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของเธอให้ฟัง
---
วัยเด็ก
สมหมายเกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นครูและเป็นผู้ใหญ่บ้าน พี่ชาย พี่สาว ของเธอได้เรียนหนังสือจนถึง มศ.5 แต่โชคร้ายที่ต่อมาพ่อแยกทางกับแม่และไปมีครอบครัวใหม่ แม่จึงไม่อาจส่งเธอกับพี่สาวคนติดกันให้เรียนต่อได้
หลังจบป.4 พี่ชายพยายามจะส่งให้เธอเรียนต่อ แต่ปรากฏว่าโรงเรียนที่พาไปสมัครนั้นที่เต็ม สมหมายจึงเรียนซ้ำ ป.4 อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ทั้งหมด 3 ครั้งเพื่อรอ ‘โอกาส’ แล้วเธอก็พบว่าโตเกินกว่าจะเริ่มต้นเรียน ป.5 กับเด็กคนอื่นแล้ว จึงเลือกมาทำงานรับจ้างรายวันในไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ได้วันละ 12 บาท
“ย้อนกลับไป ตอนเราอายุ 15-16 พ่อแม่ว่าอะไร เราก็จะเถียงว่า ก็นี่แหละ เห็นไหม คนมันไม่ได้เรียนหนังสือมันเป็นแบบนี้ ยิ่งพอเราเป็นสาว เวลาเราไปเจอเพื่อนฝูง เขาใส่ชุดนักเรียนมา โอ้โห เรายิ่งเสียใจ เราไม่ได้เรียน เราไม่มีโอกาส ทำยังไงเราถึงจะเหมือนเขา เราถึงมีโอกาสได้ใส่กระโปรงนักเรียนบ้าง แต่เราก็คิดว่าเราหมดโอกาสแล้ว เพราะเราโตแล้ว”
“เราก็ย้อนคิดว่าถ้าเรามีโอกาสเราก็คงได้ทำงานที่ดีกว่านี้ ถ้าเราได้เรียนหนังสือเราก็คงไม่ต้องไปเดนมาร์ก เพราะเพื่อนๆ สมัยนั้นพอได้เรียนหนังสือ ทุกคนก็ได้ทำงานหมด เป็นครูบ้าง หมอบ้าง แต่ก็น่าจะประมาณสัก 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เรียนต่อ และคนที่ได้เรียนต่อเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้ทำงาน” สมหมายเอ่ยอย่างอัดอั้น
---
แต่งงานครั้งแรกและครั้งที่สอง
สมหมายเล่าว่า ชีวิตมาดีหน่อยก็ตอนแต่งงานครั้งแรก สามีเป็นจ่าอากาศเอก แต่งงานได้ 2-3 ปีก็คลอดลูกคนแรก และมีคนที่สองอยู่ในท้อง แต่โชคร้ายก็มาเยือนอีกเมื่อสามีโดนคดีต้องขึ้นศาล เนื่องจากของที่อยู่ในความรับผิดชอบเกิดหายไป จึงถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
“พอหยุดปฏิบัติหน้าที่ แกก็ไปทำงานซ่อมไฟ แล้วก็โดนไฟช็อต แกเลยเสียชีวิต” สมหมายเล่า
หลังจากนั้นสมหมายก็กลับบ้านเดิมของเธอ หอบลูกคนหนึ่งและในท้องอีกคนหนึ่งกลับมาด้วย ในบ้านมีทั้งหมด 13 ชีวิตที่เธอต้องช่วยดูแล ขณะเดียวกันพี่สาวเธอก็ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เธอกลับมาทำงานรับจ้าง แต่ก็ยังไม่พอจุนเจือครอบครัว นั่นทำให้เธอตัดสินใจแต่งงานใหม่อีกครั้ง
“เราตัดสินใจแต่งงานใหม่เพื่อที่จะให้คนนั้นมาช่วยดูแลเรา ช่วยเราเลี้ยงลูก ก็เลยมีลูกอีก 2 คนกับสามีคนใหม่ ต่อมาสามีไปทำงานที่ซาอุฯ อยู่ไปอยู่มา ครอบครัวสามีก็บอกว่า ดูแล้วเป็นไปไม่ได้หรอกนะที่ลูกเขาจะไปทำงานเมืองนอกแล้วส่งมาจุนเจือ 10 กว่าชีวิต ทั้งที่จริงๆ เราก็ทำงานรับจ้าง หลานที่จบป.6 ก็รับจ้าง ช่วยกันทำมาหากิน แต่สรุปแล้วก็อยู่กันไม่ได้ เขาไม่สามารถมารับผิดชอบครอบครัวเรา เราก็เลยแยกกันด้วยดี ลูกก็อยู่กับเรา เขาก็ให้เงินมานิดๆหน่อยๆ” สมหมายเล่าอย่างสบายๆ ไม่มีทีท่าความโกรธเคือง
ขณะเดียวกันเธอบอกว่านั้นคือสาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจไปพัทยา
---
พัทยา
“ตอนเราตัดสินใจจะไปพัทยา ตอนนั้นลูกคนโตอยู่ม.1 แล้ว ก็บอกเขาว่า เธอพาน้องเข้าไปหาตากับยาย แม่จะไปพัทยา แล้วเราก็เขียนจดหมายให้ลูกคนโตถือไป ในจดหมายก็เขียนว่าจะไปทำงานที่พัทยา เพราะกลับไปบ้านก็คงต้องไปรับจ้าง ไม่รู้จะทำยังไงถึงจะพอกิน พี่สาวก็ต้องรักษา แล้วเราก็นั่งรถพาลูกไปโคราช มันจะมีรถวิ่งเข้าหมู่บ้านวันละ 1 เที่ยว เราก็ส่งลูกขึ้นรถ แล้วก็ไปพัทยา เงินค่ารถก็ได้จากที่เอาเครื่องเล่นเทปไปจำนำ ได้มา 400 บาท”
สมหมายเล่าว่า ชีวิตที่พัทยาค่อนข้างลำบาก เพราะเธอไปตอนอายุ 30 กว่าปีแล้ว ซึ่งถือว่าอายุมากกว่าคนอื่น และตอนนั้นเธอก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
“ส่วนใหญ่เราจะอยู่แต่ข้างหลังบาร์ ล้างแก้วอะไรไป จนเด็กคนอื่นถูกอ๊อฟไปแล้ว เราถึงจะมีโอกาสบ้าง พอเราหาเงินได้เราก็ต้องรีบส่งกลับบ้าน ทุกบาททุกสตางค์ ส่งบ้านหมด เราไม่มีโอกาสได้ใช้เงิน เราไม่มีโอกาสซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ใส่เอง แต่ไม่ได้มีใครบังคับเรานะ แต่เราก็รู้ว่าที่บ้านคนเยอะ ต้องกินต้องใช้”
สมหมายใช้ชีวิตเช่นนี้ในพัทยาได้ 9 เดือน ก็เจอกับนีลส์
“เราเจอกันแค่ 9 วัน เขามาเที่ยวแล้วก็กลับไป แล้วเขาก็เขียนจดหมายมาบอกว่า ฉันชอบคุณนะ เราก็เขียนกลับไปว่า ฉันก็ชอบคุณ”
ทั้งคู่เขียนหากันอยู่ 2-3 เดือน สุดท้ายนีลส์เขียนมาชวนสมหมายให้ลองไปอยู่ที่เดนมาร์กด้วยกัน และแฟร์พอจะบอกว่าไม่ต้องแต่งงานกันก็ได้ ถ้าไม่อยากอยู่หรือไม่ชอบก็สามารถกลับได้ทุกเมื่อ
“เราก็พูดกับเขาตรงๆ ว่า เราอยากหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวนะ เขาบอกว่า ผมก็ไม่ใช่ผู้ชายที่รวย แต่มีบ้านให้อยู่ ถ้าแต่งงานกัน คุณก็สามารถเอาลูกไปอยู่ด้วยได้ วันข้างหน้าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็ช่วยเหลือครอบครัวคุณได้”
อาจด้วยความจริงใจเช่นนี้ของนีลส์ สมหมายจึงรู้สึกอุ่นใจขึ้น แม้กล้าๆกลัวๆที่จะไปยังดินแดนต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่มีแต่คนแปลกหน้า สมหมายก็ตัดสินใจเดินทางไปหานีลส์ที่แคว้นทุ และเพราะเหตุผลสำคัญคือในที่สุด ‘โอกาส’ ก็มาถึงเธอสักที
ปีเดียวกับที่เธอโบยบินสู่เดนมาร์ก พี่สาวของเธอก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอีกหลายปีต่อมาสมหมายก็ป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือเธอมีสวัสดิการการรักษาฟรีที่เดนมาร์ก
---
เดนมาร์ก ประเทศรัฐสวัสดิการ
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกนระบุว่า สิทธิประโยชน์ที่จะได้จากรัฐสวัสดิการนี้ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนในทุกระดับชั้นจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมอื่นๆ เงินสนับสนุนส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ซึ่งเทียบเท่ากับร้อยละ 14 ของงบประมาณรัฐ ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนนักศึกษายังได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐและค่าเบี้ยเลี้ยงรายเดือนสำหรับค่าอาหาร หนังสือ ค่าใช่จ่ายอื่นๆ ส่วนค่ารักษาพยาบาลใช้งบประมาณร้อยละ 8.6 ของ GDP นอกจากนี้ส่วนใหญ่ของรายจ่ายภาครัฐร้อยละ 43 ถูกนำไปในกับ “ประกันสังคมและสวัสดิการ” เช่น สิทธิประโยชน์ของคนว่างงาน เงินบำนาญ
---
“ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะรอดนะ”
สมหมายบอกแบบนั้น เธอป่วยอยู่ 3 ปีเต็มตั้งแต่ปี 2539-2542 ไม่สามารถทำงานได้ และต้องเข้าออกโรงพยาบาลประจำ อยู่ครั้งละ 1-2 เดือน หมอวินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ สมหมายต้องฉีดยาให้ตัวเองนาน 18 เดือน พร้อมกับการไปพบหมออยู่เรื่อยๆ จากสองอาทิตย์เป็นหนึ่งเดือน จากหนึ่งเดือนเป็นสองเดือน จากสองเดือนเป็นหกเดือน และเป็นปี จนถึงปี 2546 ก็หายเป็นปกติไม่ต้องรับการรักษาอีก
“ทุกวันนี้ไปตรวจสุขภาพก็ปกติแล้ว คิดว่าหายป่วยได้ก็คือเกิดใหม่เลย แล้วเขาให้เราไปขอประวัติการป่วยของพี่สาวที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราช โคราช สรุปว่าเราเป็นโรคเดียวกัน แต่พี่สาวเขาไม่มีโอกาสรักษา เขาป่วยอยู่ 7 ปี เขาตายตอนอายุ 38 ถ้าเราอยู่เมืองไทย เราก็ต้องตายเหมือนเขาเพราะไม่มีโอกาสรักษา”
“เรื่องสุขภาพนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ อยากจะให้รัฐบาลดูแลเรื่องตรงนี้ ถ้าเกิดเรามีคนมาดูแลในส่วนตรงนี้ ทั้งสุขภาพอนามัยหรือว่าการศึกษา เราก็จะมีโอกาสได้ทำอย่างอื่นบ้าง มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้บ้าง ไม่ต้องมาเป็นหนี้เป็นสิน อยากให้บ้านเรามีบ้าง” สมหมายสะท้อนความรู้สึกออกมา
ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ เดนมาร์กซึ่งถือว่าเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ ยังมีสวัสดิการที่ครบถ้วนให้พลเมืองตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยแนวคิดว่า ทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าพวกเขาจะมีพื้นฐานหรืออุปสรรคในชีวิตอย่างไรก็ตาม
สมหมายเล่าว่าตอนที่เธอพาลูกคนเล็กมาที่เดนมาร์กเพื่อเข้าเรียนในระดับชั้น ป.1 เมื่อใกล้เปิดเทอมเธอสงสัยว่าทำไมสามีถึงไม่บอกให้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้กับลูกเลย คำตอบของนีลส์คืออุปกรณ์ทุกอย่าง หนังสือ สมุด ดินสอ โรงเรียนจัดไว้ให้พร้อมหมดแล้ว
---
“อยู่ไปอยู่มาเราก็เริ่มเห็นโน่นนั่นนี่ อะไรเนี่ย มันช่างตรงข้ามกับบ้านเราเลย เราถึงมารู้ว่าเพราะอย่างนี้นี่เอง ฝรั่งเขาถึงไปเที่ยวบ้านเราได้ เพราะเขาทำงานเก็บเงิน เขาก็ใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อของ ค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ แค่นั้น ส่วนอื่นเขาไม่ต้อง ถึงทุกวันนี้ เราอยากให้บ้านเราทำได้บ้าง สักครึ่งนึงของเขาก็ยังดี เราจะได้เอาเงินมาใช้ในสิ่งที่เราอยากทำบ้าง อย่างน้อยพาครอบครัวไปเที่ยวซักปีละครั้งก็ดี การไปเที่ยวได้มันเป็นข้อดีสำหรับเรานะ อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ได้เห็นสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์”
“อยู่เดนมาร์กเสียภาษีเยอะมาก 39% จากเงินรายได้ แต่ข้อดีคือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราเสียภาษีไปมันจะย้อนกลับมาให้เราหมดเลย และมันจะมีข้อยกเว้นหลายอย่าง เช่น ถ้ามีลูกหลายคน ค่าใช้จ่ายเยอะ ก็อาจจะไม่เก็บภาษีเราเลย หรือถ้ารวยก็ต้องเสียภาษีเยอะกว่า” สมหมายเอ่ยชมสวัสดิการของเดนมาร์กไม่ขาดปาก
“แล้วถ้างั้นเงินก้อนแรกที่ได้จากการทำงานที่เดนมาร์กนอกจากส่งกลับให้ครอบครัวแล้วเราเอาไปใช้ทำอะไรเพื่อตัวเองไหม” เราถามเธออย่างนึกคำตอบว่าอาจจะนำไปซื้อชุดสวยๆที่เธออยากได้สักชุดหนึ่ง
“ก็ส่งบ้านนี่แหละ สิ่งที่ตัวเองมีความสุขคือได้ส่งบ้าน พี่สาวเราแต่ก่อนซื้อข้าวเป็นกิโล ก็ได้ซื้อเป็นกระสอบเลย เมื่อก่อนกระสอบป่าน เป็นร้อยโลเลยนะ แล้วก็ให้ลูกได้เงินไปโรงเรียนเต็มที่เลยนะ ห้าบาทสิบบาท ซื้อกระโปรงให้ลูก ซื้อกระโปรงให้เด็กทุกคน ไปร้านศรทองในตัวเมืองโคราชที่ขายชุดนักเรียนโดยเฉพาะ ชุดหนึ่งประมาณ 130 150 ลูกก็ได้ใส่ชุดนักเรียน คืออย่างน้อยเราไม่ต้องกลัวว่าพรุ่งนี้จะไม่มีข้าวแล้ว นี้คือความสุขที่สุด ความภูมิใจที่สุด ที่เราอยากจะทำมานานมาก” สมหมายเล่าพร้อมรอยยิ้ม
---
อ่านเรื่องราวของ Heartbound รักเอย ในมุมมองของดิ อีสานเด้อ ที่ : https://www.facebook.com/theisaander/photos/a.2221809098148453/2402437026752325/?type=3&theater
"Heartbound รักเอย"
10 ปี กับการติดตามชีวิตหญิงอีสาน-ชายเดนมาร์ก 4 คู่
.
ตัวอย่าง https://www.facebook.com/watch/?v=587282762080192
.
ฉายแล้ววันนี้!
ที่ House Samyan (Wed 11: 11.00 / 12.30 / 17.35)
(Thu 12 / Sat 14 - Mon 16 / Wed 18: 12.50 / 17.30 / 19.45)
(Fri 13: 12.50 / 17.30 / 20.45)
(Tue 17: 11.50 / 17.30 / 22.15)
จองบัตรได้ที่ app - House Cinema
หรือ https://www.housesamyan.com/site/Movie/detail/393
.
ที่ Bangkok Screening Room
(https://bkksr.com/movies/heartbound)
.
เริ่มพฤหัส 12 ธ.ค. ที่ Lido Connect
(https://www.ticketmelon.com/lidoconnect/heartbound)
.
ภูเก็ต เสาร์ 7 ธ.ค. ที่ ร้าน หนัง(สือ)2521
(https://bit.ly/2OLrcDo)
---
ด้วยความอนุเคราะห์จาก ประชาไท https://prachatai.com/journal/2019/12/85504 บทสัมภาษณ์โดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ และอันนา หล่อวัฒนตระกูล
---
อ่านเรื่องอีสานและอื่นๆ : https://www.theisaander.com/
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #HeartBound #รักเอย #Denmark #เดนมาร์ก #นครราชสีมา #โคราช #รักเอยจริงหรือที่ว่าหวานหรือทรมานใจคน #HouseSamyan #Lidoconnect #ผู้หญิงอีสาน #หนังสารคดี #เมียฝรั่ง #documentaryclub
Comments