"ในภาษาอังกฤษมีคำบางคำที่ออกเสียงเหมือนกัน อย่างเช่น คำว่า Slap กับ SLAPP โดย สแลป(Slap) คำแรกหมายถึง "การตบ" แต่ สแลป(SLAPP) คำหลังย่อมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation แปลความได้ว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน”
.
คำสองคำนี้เกี่ยวโยงกันมากกว่าเสียงที่เหมือนกัน กล่าวคือ แสลป (SLAPP)การฟ้องคดีโดยมีจุดมุ่งหมายให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะอ่อนแรงและเงียบลงไป หรืออาจจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า แสลป ก็คือการตบปากคนด้วยกฎหมาย เมื่อผู้มีอำนาจไม่อยากจะฟัง (หรือไม่อยากให้คนอื่นได้ฟัง) " (iLaw)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวบ้านต้านเหมืองทองคำที่วังสะพุง,การออกมาต่อสู้กับเหมืองโปแตซของไทวานรนิวาส,นักกิจกรรมเขื่อนปากมูลโพสต์ประชดประชันผู้ว่าฯ เรื่องการบริหารน้ำ การฟ้องคดีปิดปาก (SLAPPs)เพื่อให้หยุดชะงักการดำเนินกิจกรรมต่อต้านหรือเปิดโปงเรื่องราวสาธารณะ กำลังเป็นอีกข้อหาที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งสื่อมวลชนและนักกิจกรรมทางการเมืองต่างกำลังตกเป็นเป้าให้กับรัฐและนายทุนที่พร้อมจะดำเนินคดีปิดปากได้ทุกที่ทุกเวลา
วานนี้(21 กุมภาพันธ์ 2563) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน , ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชุมนุมสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (HRC) ร่วมจัด "โครงการอบรมว่าด้วยการดำเนินคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ" (การฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPPs) ให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์และประชาชนที่สนใจ
ช่วงแรกของการอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นการนั่งวงล้อมให้ภาพรวมสถานการณ์คร่าวๆ เกี่ยวกับ SLAPPs
วิทยากรเริ่มตั้งคำถามและบรรยายกว้างๆ ถึงสถานการณ์เกี่ยวกับ SLAPPs เป็นอย่างไร และรู้จักกรณีเหล่านี้หรือไม่? ยกตัวอย่าง กรณีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ชาวบ้านถูกสะกัดกั้นกิจกรรมและถูกดำเนินคดี , เหตุการณ์ป่าแหว่งที่จังหวัดเชียงใหม่ , การฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านต้านเหมืองทองคำ จังหวัดเลย , การดำเนินคดีตามข้อหา พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ กับนักกิจกรรมที่ออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 , และกรณีล่าสุดการดำเนินคดีกับ เจ้าของทวิตเตอร์นิรนาม ที่ถูกจับกุมเพราะโพสต์วิจารณ์การเมือง
ในข้อสรุปเบื้องต้นวงคุย ต่างเห็นตรงกันว่า SLAPPs เป็นการสร้างภาระเรื่องระยะทาง, เงิน, และเวลา ให้กับผู้ถูกฟ้องดำเนินคดี เพราะมีบางกรณีที่เหตุเกิดที่เชียงใหม่ แต่แจ้งความที่ สน.พลโยธิน กรุงเทพมหานคร หรือ ก่อนหน้านี้ในคดี ของ พ่อไม้ นักกิจกรรมคัดค้านเหมืองทองคำจากวังสะพุง จังหวัดเลย ก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ศาลจังหวัดแม่สอด ที่อยู่ไกลถึงจังหวัดตาก มาแล้ว
.
ปัญหาประหารต่อมาที่เกิดจาก SLAPPs คือถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทุกกรณีที่ยกตัวอย่างมา ต่างเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็นแทบทุกคดี เช่นการออกมาเคลื่อนไหว โหวตโนร่างรัฐธรรมนูญ แล้วถูกดำเนินคดี ทั้งตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และ ข้อหาชุมนุมทางการเมือง ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
โดยผู้เข้าร่วมอบรม ขมวดปมปัญหาทิ้งท้ายในช่วงแรกว่า การแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำไมถึงต้องถูกดำเนินคดี?
ในช่วงที่ 2 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญในการที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนถูกดำเนินคดีแบบปิดปากว่า หลังรัฐประหาร ในฐานะนักกฎหมายรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า เลยคิดจะหาทางออกมาเคลื่อนไหว หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแรงกระเพื่อมดังกล่าวก็ทำให้นักศึกษาและนักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาทำกิจรรม และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดี เพื่อสร้างความยากลำบาก
ในคำถามที่ว่า ทำไม ใครหลายคนถึงถูกดำเนินคดีฟ้องร้องแบบปิดปาก ทั้งนักกิจกรรม ชาวบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ ทนายความ รวมไปถึงทุกคนที่มีเฟซบุ๊ก? หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม แสดงความคิดเห็นว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็นอุปสรรคและไปขัดผลประโยชน์ของรัฐ
และ SLAAPs จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงใน 3 เรื่องสำคัญ
1.การแปลงข้อพิพาท คือการนำข้อโต้แย้งทางการเมืองไปสู่ข้อโต้แย้งทางกฎหมาย โดยทำให้การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ถูกฟ้องกลายเป็นเรื่องการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่นการทำให้การแสดงความคิดเห็นกลายเป็นการหมิ่นประมาท การทำให้การชุมนุมกลายเป็นการบุกรุกหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
2.การแปลงเวทีต่อสู้ จากเวทีสาธารณะ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้วยการตัดสินใจทางการเมือง ไปสู่เวทีของกระบวนการยุติธรรมหรือศาลที่ใช้เทคนิคทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหา
3.การแปลงประเด็น จากเป็นความเสียหายที่กระทบต่อสาธารณะไปเป็นความเสียหายต่อส่วนตัวของผู้ฟ้องคดี
อีกข้อคิดเห็นในวงคุยคือ เรื่องราวของการฟ้อง SLAAPs ไม่ควรเป็นคดีที่ถูกนำมาขึ้นศาล เพราะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้การฟ้องปิดปากไม่ได้มีเพียงการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยังรวมไปถึง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.ความสะอาด พ.ร.บ.จราจร ที่เป็นเสมือนอีกอาวุธของภาครัฐที่เข้ามาจัดการกับใครก็ตามที่ออกมาเคลื่อนไหว
โดยช่วงท้ายผู้เข้าร่วมอบรมสะท้อนความเห็นถึงผลเสียสำหรับการดำเนินคดี SLAAPs ว่า เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน, สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็น , เป็นการตีตราว่าผู้ถูกฟ้องร้องนั้นมีความผิดไปแล้ว,ทำให้ประชาชนบางส่วนหมด Passion ในการจัดกิจกรรมทางการเมือง, ทำให้รัฐหรือนายทุนรู้สึกว่าประชาชนยอมศิโรราบและควบคุมง่าย ,และทำให้ปิดกั้นการพัฒนา
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามกิจกรรมอื่นๆเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน --> https://www.facebook.com/naksit.org/
ติดตาม SLAPP DATA CENTER: ฐานข้อมูลคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย
--> http://naksit.net/2019/12/legal-threats-database/…
ขอบคุณภาพจาก: TaTar Supamat
_________________________
#TheIsaander #มหาวิทยาลัยขอนแก่น #นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น #สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
Comentarios