top of page
Writer's pictureThe Isaander

ไทบ้านจัดขบวนแห่ แกัรัฐธรรมนูญ ย่างฮอดสภา เรียกหา รธน. ที่ดีกว่า

Updated: Apr 20, 2020


ในวันศุกร์นี้ ประชาชนจำนวนกว่า 200 คนได้ร่วมเดินขบวนจากสถานีรถไฟฟ้ากำแพงเพชร ไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายพีระพันธุ์รับปากว่า จะนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณา การเดินเท้าของประชาชน นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหว ครั้งนี้ เริ่มขึ้นเวลาประมาณ 09.00 น. บริเวณ เกาะกลางถนนใต้สะพานข้ามแยกองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จตุจักร และเดินเท้าไปยัง สัปปายะสภาสถาน(รัฐสภา) เกียกกาย โดยระหว่างทางได้มีการถือป้ายรณรงค์ และตะโกนเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน “ต้องแก้ ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ ออกไป ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ไม่แก้ เราก็พร้อมจะลงถนน” ซึ่งเมื่อถึงรัฐสภา ได้มีการแถลงข้อเสนอของ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) ต่อหน้า ส.ส. ที่มารอรับหนังสือเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ คือ กติกาสูงสุดที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ รับรองสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของบุคคล รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นจะต้องมาจากความเห็นพ้องต้องการของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า แล้วก็ตั้งพรรคพวกของตนเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีกทั้งกระบวนการทำประชามติก็ไม่ได้สะท้อนมติของประชาชน เพราะไม่ได้เปิดให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตลอดกระบวนการ” แถลงการณ์ระบุ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังเป็นเงื่อนไขให้วิกฤติการเมืองทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ได้อิงกับเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ส่งผลให้สังคมไทยเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ จะมีก็แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้นที่จะพาสังคมไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้” แถลงการณ์ ตอนหนึ่ง ทั้งนี แถลงการณ์มีข้อเสนอโดยสรุปดังนี้ 1. ออกพระราชบัญญัติเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระ คือ 2.1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง 2.2 แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนุญ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.3 ให้เขียนบทเฉพาะกาล ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ และจัดการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการจัดการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) 3. ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนโดย ส.ส.ร. โดยประเด็นที่ ครช. เห็นว่าควรให้ความสำคัญคือ ประเด็นที่หนึ่ง การสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง โดย 1. ต้องให้สิทธิประชาชนใหญ่กว่ารัฐ และไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขความมั่นคง 2. สร้างหลักประกันรายได้ สุขภาพ การศึกษา โดยคำนึงถึงความเสมอภาค 3. พัฒนาสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้อิสระศาล 4. พัฒนาประเด็นสิทธิชุมชน ให้สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทำกิน แหล่งอาหารอย่างเท่าเทียม 5. พัฒนาสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้สิทธิประชาชนลงชื่อถอดถอนผู้มีอำนาจทางการเมือง และปฏิรูปกองทัพ ประเด็นที่สอง สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน โดย 1. ต้องไม่มีช่องทางให้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2. ต้องไม่มีวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 3. ต้องไม่มีกระบวนการวางแผน ปฏิรูปประเทศ หรือยุทธศาสตร์ของประเทศ จากคนกลุ่มเดียว 4. ต้องไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 5. ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผู้รับหนังสือได้กล่าวแก่ ประชาชน และสื่อมวลชนที่หน้ารัฐสภาโดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำข้อเสนอที่ได้รับไปพิจารณา “คณะกรรมาธิการชุดนี้ ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะฟังเสียงประชาชน เพราะว่าเราเป็นคณะกรรมาธิการที่ต้องมาศึกษาความเห็นด้วย ขอให้มั่นใจนะครับว่า สิ่งที่ท่านนำมาเสนอวันนี้ จะถูกนำไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการ แล้วก็จะเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาต่อไป ขอให้มั่นใจ” นายพีระพันธุ์ กล่าว นายพีระพันธุ์ระบุ่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้ นายวัฒนา เมืองสุข เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถูกร่างโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) 21 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ต่อมารัฐบาล คสช. ได้จัดให้มีการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีประชาชนเห็นชอบ 16,820,402 หรือ 61.35% ของผู้ออกเสียง ขณะที่ประชาชนไม่เห็นชอบ 10,598,037 หรือ 38.65% และมีบัตรเสีย 936,209 ใบ โดยมีผู้ร่วมลงประชามติ 29,740,677 คน คิดเป็น 59.4% ของผู้มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมี บทเฉพาะกาลที่กล่าวถึงการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งในการลงประชามติมีผู้เห็นชอบบทเฉพาะกาล 15,132,050 หรือ 58.07% และ ไม่เห็นชอบ 10,926,648 หรือ 41.93% และมีบัตรเสีย 3,681,979 ใบ ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน 2563 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับผ่านการลงประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องพระราชอำนาจ ทั้งนี้ก่อนการประชามติมีประชาชนที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินดคีในข้อหาต่างๆ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูล และพบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 212 คน ที่ถูกดำเนินดคีเกี่ยวกับการประชามติ การประชามติที่ห้ามการรณรงค์ให้ความรู้โดยประชาชน จึงถูกโจมตีว่า เป็นการประชามติที่ไม่อิสระและเสรี ขณะที่ การให้ คสช. เป็นผู้เลือก สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และ ส.ว. มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แก้รัฐธรรมนูญ #เถอะนะ #ท่าน #ทั่น #สส #จะได้ไม่มี #สว #กวนใจ

6 views0 comments

Comments


bottom of page