top of page
Writer's pictureThe Isaander

โรคระบาดคร่ากว่า 100 ชีวิตที่มุกดาหาร ภาพคล้ายปัจจุบันจากอดีต




“เมื่อวันที่ 18 เดือนนี้(เมษายน 2489) โรคอหิวาต์ได้เกิดขึ้นในตำบลศรีมงคล อ.มุกดาหาร และโรคนี้ได้ระบาดไปโดยรวดเร็ว จนถึงวันนี้ราษฎรได้ตายไป 100 เศษ… ข้าราชการชั้นนายอำเภอและผู้บังคับกองซึ่งมีตำแหน่งสูงไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของราษฎร กลับสนับสนุนนักค้ากำไรเช่นนี้ใช่วิสัยที่ควรกระทำแล้วหรือ” ตอนหนึ่งของจดหมาย จากมุกดาหาร ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2489 ระบุ ปัจจุบัน ปี 2563 ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) นอกจากการระบาดจะทำให้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เกิดการกักตุนสินค้าของใช้จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ หรือกระทั่งไข่ไก่ การฉวยโอกาสขายสินค้าในราคาที่สูงเกินต้นทุน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนไทยต้องเผชิญ แม้ในหลายครั้งรัฐบาลจะปากแข็งไม่ยอมรับ แต่ประชาชนต่างรู้กันดีกว่า ปัญหานั้นมีอยู่จริง ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2489 หรือ 74 ปีที่แล้ว ครั้งที่ มุกดาหาร ยังเป็นเพียงอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม เมืองเมืองนี้เคยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดเช่นเดียวกับปัจจุบัน สถานการณ์ในตอนนั้น สามารถเรียกได้ว่า วิกฤต เพราะโรคระบาดที่ว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน และแน่นอนสิ่งที่ตามมาคือ การฉกฉวยหาประโยชน์จากวิกฤตโดยคนบางกลุ่ม พล็อตสุดคุ้นเคยของประชาชนในยุคปัจจุบันนี้ ถูกบันทึกเอาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายของบุคคลนิรนามผู้หนึ่ง ซึ่งส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น(พระยาสุนทรพิพิธ -เชย สุนทรพิพิธ ในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์) เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นใน อ.มุกดาหาร “กราบเรียน ร.ม.ต.กระทรวงสาธารณสุข ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เขียนหนังสือฉะบับนี้มากราบเรียนท่านเพื่อทราบและขอยืนยันว่าเป็นความจริง กล่าวคือเมื่อวันที่ 18 เดือนนี้(เมษายน 2489) โรคอหิวาต์ได้เกิดขึ้นในตำบลศรีมงคล อ.มุกดาหาร และโรคนี้ได้ระบาดไปโดยรวดเร็ว จนถึงวันนี้ราษฎรได้ตายไป 100 เศษ “วันที่ 19 คณะญวนได้รับวัคซีนกันโรคอหิวาต์และฉีดให้พวกของเขา 1,000 ซม3 เศษ ราคา 50 ซม3 ต่อ 25 บาท แต่วัคซีนไม่พอกับจำนวนราษฎร ข้าพเจ้าได้ช่วยเหลือฉีดให้พระภิกษุ สามเณร และราษฎรผู้อัดคัดขัดสนโดยไม่คิดราคา ส่วนผู้ที่มีพอจะเสียได้ก็คิดราคา เพราะข้าพเจ้าต้องลงทุนซื้อวัคซีน วัคซีนหมดไปจากข้าพเจ้าเกือบ 1,000 ซม3 ฉะนั้น ทางฝ่ายคณะญวนและข้าพเจ้าได้ใช้วัคซีนหมดไป 2,000 ซม3 ราษฎรยังไม่ได้รับการฉีดอีกมากมาย และโรคก็ยิ่งระบาดหนักขึ้นทุกที” ในขณะที่อีสานกำลังเผชิญกับอหิวาต์ อีกฝากของประเทศที่กาญจนบุรีก็ต้องต่อสู้กับการระบาดของไข้ทรพิษ โดยจุดเริ่มต้นมาจากเชลยพม่าที่ถูกทหารญี่ปุ่นกวาดต้อนมาใช้เป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ เชลยเหล่านั้นนำโรคดังกล่าวมาติดแรงงานชาวไทย ก่อนจะกลายเป็นการระบาดใหญ่ จนทำให้มีผู้ป่วยถึง 26,443 คน และเสียชีวิต 7,015 คน เมื่อมองกลับไปในปี 2489 ขณะนั้นประเทศไทยค่อนข้างสับสวนวุ่นวาย เพราะนอกจากโรคระบาดแล้ว ยังเป็นช่วงเดียวกันกับที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติ ไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมสงคราม จึงอยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังเสร็จศึก เรื่องการเมืองก็อลม่านไม่น้อย มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในปีเดียวถึง 4 คน ซ้ำร้ายยังเป็นปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรณคต ที่มุกดาหารเองตอนนั้นก็เข้าขั้นวิกฤต เพราะนอกจากโรคจะรุมเร้าแล้ว ข้าราชการท้องถิ่นยังได้ร่วมมือกับ พ่อค้าเพื่อหากำไรจากความลำบากของประชาชน “วันที่ 20 กิติศัพท์เรื่องโรคอหิวาต์ระบาดได้แพร่ไป มีนักค้าคนหนึ่งชื่อนายประเสริฐ ทำการอยู่โรงงานบ่มยา อ.ธาตุพนม พร้อมกับนายอำเภอธาตุพนมมาพักอยู่บ้านผู้บังคับกองตำรวจ อ.มุกดาหาร ได้นำวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์มาประมาณ 500 ซม3 เพื่อขาย มีนายมงคล ไชยสาร(แคว็ก) และคนอื่นได้รับซื้อไว้โดยราคา 50 ซม3 ต่อ 150 บาท ราคานี้ต่างกันกับราคาข้างบน 1 ต่อ 6 เป็นการฉวยโอกาศค้ากำไรของเขาซึ่งราษฎรกำลังตกอยู่ในห้วงมหันตะภัยของโรคร้าย “ข้าราชการชั้นนายอำเภอ และผู้บังคับกองซึ่งมีตำแหน่งสูงไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของราษฎร กลับสนับสนุนนักค้ากำไรเช่นนี้ใช่วิสัยที่ควรกระทำแล้วหรือ “อำเภอมุกดาหารมีสุขศาลา แพทย์ของสุขศาลาได้เดินทางไปจังหวัดนครพนม เมื่อโรคกำลังระบาดอยู่ แต่เมื่อกลับมาได้พบข้าพเจ้าวันที่ 22 เล่าว่าไปขอรับวัคซีนแต่ไม่มีจ่าย หากเขาหาซื้อมาได้จากร้านในตลาดจังหวัดนครพนมด้วยราคา 50 ซม3 ต่อ 120 บาท และในวันเดียวกันก็ได้จัดการฉีดให้ราษฎรจนหมด(100 ซม3) โดยคิดราคา นอกจากนี้สุขศาลาไม่ได้ช่วยเหลืออะไร” การระบาดนำมาซึ่งการอพยพ ปัจจุบันเป็นเช่นไร ในอดีตก็ไม่ต่างกัน ลาว ญวน ไทย ล้วนหนีตาย เพราะโรคระบาด “ราษฎรในอำเภอมุกดาหารเวลานี้กำลังเบียดเสียดยัดเยียด เนื่องแต่การอพยพของพวกญวณและลาวจากฝั่งซ้าย ทำให้การสุขาภิบาลซึ่งเลว(ข้อความอาจตกหล่น เพราะอ่านเอกสารได้ไม่ชัด เนื่องจากเอกสารมีความอาวุโส)อยู่แล้ว หนักขึ้นไปอีก” ในตอนท้ายของจดหมายฉบับนี้ ระบุว่า เหตุผลที่เขาผู้นั้นจำเป็นต้องเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะต้องการบอกความทุกข์ยากของประชาชนที่นั่น และเล่าถึงการเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการให้รัฐมนตรีได้เห็น อย่างไรก็ตาม คงด้วยเกรงกลัวอำนาจบางอย่าง เขาผู้นั้นจึงมิได้ระบุชื่อที่แท้จริงเอาไว้ “ขอได้รับความนับถืออย่างยิ่ง (ลงชื่อ) ปิดนาม” ปัจจุบัน ผู้เขียนยังไม่พบบันทึกที่ระบุว่า สถานการณ์ในอำเภอมุกดาหารหลังจากจดหมายฉบับนั้นถึงมือรัฐมนตรีเป็นไปอย่างไร แต่หากให้คาดเดา สถานการณ์คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน

#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ไวรัส #โคโรนา #สายพันธุ์ใหม่ #ไทย #นายก #เอาอยู่ #Covid19 #โควิด #สิทธิเสรีภาพ #สื่อ #สื่อมวลชน #ประชาชน #ครม ภาพประกอบ : กระทรวงสาธารณสุข — at กระทรวงสาธารณสุข.

42 views0 comments

Comments


bottom of page