top of page
Writer's pictureThe Isaander

#เราไม่ทิ้งกันจ่ายเงินวันแรก ไทยป่วยเพิ่ม 111 ราย อีสานป่วยซัมเก่า


#เราไม่ทิ้งกัน เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ฮิตมากบนทวิตเตอร์วันนี้ หลังจากที่รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินให้กับผู้ได้รับสิทธิเยียวยาจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 โดยมีประชาชนกลุ่มแรก 280,000 รายที่ได้รับเงิน 5,000 บาท อย่างไร เกิดคำถามว่า ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา ต้องประกอบอาชีพอะไร เนื่องจากมีพลเมืองเน็ตบางราย อ้างว่าได้รับเงินทั้งที่มิได้รับผลกระทบ หรือได้รับเงิน เพราะกรอกข้อมูลเท็จ


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านการแถลงข่าว ศบค. ว่า ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ และจะได้รับเงินกลุ่มแรก 1.68 ล้านคน ประกอบด้วย 1. ค้าขาย ผ่านการคัดกรองแล้ว 600,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 6.3 ล้านราย 2. รับจ้างทั่วไป ผ่านการคัดกรองแล้ว 400,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 11.7 ล้านราย 3. มีนายจ้าง ผ่านการคัดกรองแล้ว 400,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.9 ล้านราย 4. ขับรถรับจ้าง ผ่านการคัดกรองแล้ว 100,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 3 แสนราย


5.อาชีพอิสระอื่นๆ ผ่านการคัดกรองแล้ว 100,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย 6.ขายล็อตเตอรี่ ผ่านการคัดกรองแล้ว 20,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 2 แสนราย 7.มัคคุเทศก์ ผ่านการคัดกรองแล้ว 10,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 3 หมื่นราย


8.ค้าขายออนไลน์ ผ่านการคัดกรอง 0 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 2,100,000 ราย


ทั้งนี้ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เป็นมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าว ตั้งเป้าจะจ่ายเงินชดเชย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวน 3 ล้านคน โดย นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กลุ่มอาชีพที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยา คือ ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไกด์ รวมถึงอาชีพอิสระหรือค้าขาย ขณะที่กลุ่มที่จะไม่เข้าเกณฑ์การเยียวยาคือ 1. คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 2. นักเรียน นักศึกษา 3. คนว่างงาน 4. คนที่ได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม 5. เกษตรกร 6. ผู้ค้าออนไลน์ 7. คนงานก่อสร้าง 8. โปรแกรมเมอร์ 9. ข้าราชการ และ 10. ผู้รับบำนาญ ต่อมา ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิ์การเยียวยาโดยครอบคลุมถึงผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 อีก 5 ล้านคน ก่อนที่ ครม. จะมีมติให้ขยายระยะเวลาเยียวยาจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเปิดเผยว่ามีผู้ที่ลงทะเบียนขอรับการเยียวยาผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้วกว่า 24 ล้านคน แต่มีผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ และจะได้รับเงินกลุ่มแรกเพียง 1.68 ล้านคน แบ่งเป็น วันที่ 8 เมษายน 2.8 แสนคน วันที่ 9 เมษายน. 7.53 แสนคน และ วันที่ 10 เมษายน 6.44 แสนคน โดยรัฐบาลจะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม มาตรการการเยียวยาของรัฐนี้ ยังถูกวิพากษ์-วิจารณ์ว่า ไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด


นักการเมืองเสนอขยายสิทธิให้ครอบคลุมกว่าเดิม


นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบนเฟซบุ๊คแฟนเพจส่วนตัวว่า รัฐควรขยายขอบเขตของผู้ได้รับการเยียวยาเพื่อให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด แทนที่จะยืดระยะเวลาจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือนสำหรับ ผู้มีสิทธิ์เพียง 9 ล้านคน


"สังคมมีคำถามว่า.. ทำไมรัฐบาลจึงเลือกที่จะขยายสิทธิ 5,000 บาทเป็น 6 เดือน แทนที่จะขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิจาก 9 ล้านคนเป็น 18 ล้านคนเพื่อให้ทั่วถึงมากขึ้นอย่างไรก็แล้วแต่ วันนี้จะเป็นวันแรกที่เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทล็อตแรกถึงมือประชาชน และหลายคนจำเป็นต้องใช้ให้พอในครอบครัวตลอดทั้งเดือน ผมจึงอยากให้รัฐบาลเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ หารือร่วมกัน ลดราคาสินค้า โดยเฉพาะหมวดหมู่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้เงิน 5,000 ดังกล่าวเกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อประชาชน" นายกรณ์ ระบุ

ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ได้เขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊คแฟนเพจของตนเอง ระบุว่า รัฐควรขยายขอบเขตผู้ได้รับสิทธิ์การเยียวยาเป็น 14.5 ล้านราย ในระยะเวลา 3 เดือน แทนที่จะจ่าย 6 เดือนสำหรับคนเพียงประมาณ 9 ล้านคน “จำนวนแรงงานทั้งหมดในปัจจุบันที่มีอยู่ 38.4 ล้านคน มีแรงงานอกระบบอยู่ทั้งสิ้น 18.7 ล้านคน โดยอยู่ในภาคบริการ และภาคการผลิต ที่ถือได้ว่า ต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากโควิด-19 แบบเต็มๆ รวมกันอยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคม ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการว่างงานอีกประมาณ 5 ล้านคนเศษ นั่นหมายความว่า จำนวนประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องการการเยียวยามีทั้งสิ้นประมาณ 14.5 ล้านคน” นายวิโรจน์ เขียน “หากเยียวยา 9 ล้านคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 270,000 ล้านบาท และยังมีประชาชนที่เดือดร้อน ต้องร้องขอความช่วยเหลือ… จะดีกว่าหรือไม่ ที่รัฐบาลจะเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเยียวยาแบบถ้วนหน้า ที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคน จำนวน 14.5 ล้านคน ได้รับการเยียวยา ซึ่งกรณีนี้ รัฐบาลจะใช้งบประมาณเพียง 217,500 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าถึง 52,500 ล้านบาท” นายวิโรจน์ ระบุ ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2563 นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาก โดยหากการระบาดยุติในเดือนกรกฎาคม 2563 เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหายไปถึง 7.5-9.9 แสนล้านบาท จะมีธุรกิจปิดตัวอย่างน้อย 5,000-10,000 ราย จาก 50,000 ราย มีพนักงานถูกเลิกจ้าง 1-1.2 ล้านตำแหน่ง รายที่ยังอยู่ก็จะถูกลดรายได้ เช่น ตัดลดเงินเดือน ให้พักงานลางานโดยไม่รับเงินเดือนกว่า 3 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่า หากการระบาดของโรคเข้าสู่ระยะ 3 จนต้องปิดเมือง อาจจะมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 ล้านราย นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ประมาณการว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2563 นี้จะหดตัว -5.3% เนื่องจากการท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจ และครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว ไทยพบป่วยโควิด-19 ยืนยันเพิ่ม 111 ราย เป็นกลุ่มกลับมาจากอินโดนิเซีย 42 ราย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่กลับมาจากอินโดนิเซียติดเชื้อถึง 42 ราย “ตัวเลขผู้ป่วยใหม่วันนี้ 111 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,369 ราย หายป่วยไป 888 ราย เสียชีวิตสะสม 30 ราย เป็นรายใหม่ 3 ราย… ผู้ป่วยที่ตรวจพบจากการกลับจากประเทศอินโดนิเซีย ทั้งหมดกลับมาหลายท่าน ตรวจพบ 42 ท่านในกลุ่มก้อนเดียวกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบแบ่งเป็น กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 69 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 11 ราย ในนั้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย ะอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 21 รายและเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากอินโดนิเซีย และเข้ากระบวนการกักตัวของรัฐ 42 ราย


อีสานป่วยซัมเก่า 98 ราย กรมควบคุมโรคเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ https://covid19.th-stat.com/ ในวันนี้ ระบุว่า ปัจจุบัน ภาคอีสานมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) คงที่ คือ 98 ราย จาก 19 จังหวัด โดยสามารถจำแนกจังหวัดได้ดังนี้ นครราชสีมา 16 อุบลราชธานี 14 บุรีรัมย์ 12 สุรินทร์ 9 ศรีสะเกษ 8 อุดรธานี 8 ขอนแก่น 4 หนองบัวลำภู 4 มุกดาหาร 4 หนองคาย 3 กาฬสินธุ์ 3 ร้อยเอ็ด 3 อำนาจเจริญ 2 ชัยภูมิ 2 เลย 2 สกลนคร 1 นครพนม 1 มหาสารคาม 1 ยโสธร 1


ทั่วโลกยังป่วยเพิ่มทะลุ 1.4 ล้านราย ขณะที่ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 1,446,557 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 184 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 83,149 คน รักษาหายแล้ว 307,982 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ไวรัส #โคโรนา #สายพันธุ์ใหม่ #ไทย #นายก #เอาอยู่ #Covid19 #โควิด #สิทธิเสรีภาพ #สื่อ #สื่อมวลชน #ประชาชน #ครม

35 views0 comments

Hozzászólások


bottom of page