top of page
Writer's pictureThe Isaander

The Isaander x Abdul Book : หมอลำมาแต่ไส?


สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่มักออกตัวเสมอว่า เขาเป็น'เจ๊กปนลาว' และข้อเขียนอันจดจารไว้เป็นหลักฐานทั้งในแง่โบราณคดีและประวัติศาสตร์ นั้นเขาก็แนะนำอยู่เสมอๆ ว่าอย่าไปอ้างอิงงานเขานัก เพราะมันผิดหลักวิชาการหมด ไม่รู้ด้วยอะไรโน้มน้าว ที่ทำให้คนอย่างเรา ชอบวิถีและความคิดความอ่านแนวขบถของ 'หนุ่มหน่ายคัมภีร์' ผู้นี้ งานชุด ..... มาจากไหน? ดูจะเป็นกึ่งคำถาม กึ่งประโยคบอกเล่าสุดท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่คุณคิดว่ารู้จักมากพอ แต่แท้จริง มันอาจจะมีเรื่องราวหลบซ่อนจากหน้าฉากที่คุณรู้จักและเห็นเพียงผิวเผิน ก่อนจะไปอ่าน โขน,ละคร,ลิเก,หมอลำ,เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ที่เพิ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์นาตาแฮก(มีนาคม 2563) เราขอชวนทำความเข้าใจก่อนว่า "ประเทศไทย นั้นไม่อินเดีย รวมทั้งไม่อัลไต ไม่น่านเจ้า และไม่แห่งแรกที่กรุงสุโขทัย" และคิดว่าหากไม่คุ้นชินกับ กระแสวิพากษ์ประวัติศาสตร์ส่วนกลาง ก็ขอให้เปิดใจกว้างๆ เว้นที่ว่างให้กับข้อมูลชุดใหม่ๆ ที่อาจทำให้คุณเห็นอะไรกว้างไกลขึ้น หมอลำการแสดง ที่'ไม่ไทย' ในอีสาน สุจิตต์เริ่มเล่าว่า หมอลำมีความยาวนานจากการละเล่นขับลำทำขวัญของคนกลุ่มที่พูดภาษาไต-ไท หลายพันปี ต่อมาปรับเปลี่ยนดัดแปลงเป็นการแสดงมหรสพสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ต้นตอหมอลำมีรากเหง้าเก่าแก่ และมีความฉับไวต่อการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อความทันสมัยและแข็งแรง . อีกด้านลักษณะเสรีของหมอลำมีเหตุจากการปลอดการครอบงำของวัฒนธรรมความเป็นไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพราะดินแดนที่ราบสูงอีสานอยู่นอกอำนาจรัฐใหญ่ และถูกทอดทิ้งหลายร้อยปีจากศูนย์กลาง หมอลำ ส่วนสำคัญในพิธีกรรม ขอฝนวอนฟ้า พญาแถน อย่างที่ได้กล่าวไป หมอลำมีจุดกำเนิดจากการละเล่นลำทำขวัญ ซึ่งเป็นพิธีที่มนุษย์อิงแบบกับธรรมชาติ การเกิด เจ็บ ตาย และขอฟ้าขอฝน กว่า 2,500 ปีมาแล้ว โดยขับลำด้วยคล้องจอง และเป่าแคนคลอ ระยะแรกผู้หญิงเป็นคนขับลำและคนเป่าแคน เพราะหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมและเป็นเจ้าของงานศิลปะและวัฒนธรรมทั้งมวล ผู้ชายไม่มีสิทธิ์! โดยงานที่มีการขับลำประกอบ ก็อย่างเช่น ลงข่วงผีฟ้า และ งันเฮือนดี ที่ปัจจุบันประเพณียังสืบเนื่องยาวนานในหลายพื้นที่ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ หมอลำในฐานะมหรสพที่ทลายกรอบสู่โลกสากล หลังจากเริ่มมีชุมชนหนาแน่นขึ้น วัฒนธรรมหมอลำก็ค่อยๆ ขยายขึ้น จากการขับลำทำขวัญ หมอลำได้กลายเป็นมหรสพที่ผู้นำชุมชน อยากให้มี อยากให้เกิด เป็นเครื่องอันจักเล่นจักหัว และเสพลำคำขับทั้งมวล โดยระยะแรก เนื้อหายังข้องเกี่ยวกับธรรมชาติ นิทานพื้นบ้าน และวรรณกรรมโบราณ ก่อนที่จะเริ่มปรับเป็นการตอบโต้เชิงสังวาส มีการร้องแก้โต้ตอบกันแบบ ชายหญิง เพื่อความสนุกสนาน โดยหลักๆ หมอลำจะมีสมาชิกยืนพื้น ได้แก่ หมอลำหญิง หมอลำชาย และหมอแคน และทำนองเริ่มมีความหลากหลายขึ้น เช่น ลำพื้น, ลำเรื่อง ลำชิงชู้, ลำต่อกลอน,ลำเต้ย ฯลฯ ต่อมาเริ่มเป็นกลุ่ม เป็นคณะ และมีวงดนตรีเข้ามาประกอบด้วย และกลายเป็นลำเพลิน ซึ่งเล่นรวมหมู่กันเลียนแบบลิเก และหมอลำเพลินเป็นต้นเค้าหมอลำในวัฒนธรรมป๊อป ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นหมอลำชื่อต่างๆ หมอลำซิ่ง หมอลำลูกทุ่ง ซึ่งมีการต่อสู้กับวัฒนธรรมอย่างหนัก โดยเฉพาะต่อสู้กับวัฒนธรรมป๊อปกับโลกสากลที่ทรงพลังมหาศาล หลังประเทศไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504) นับแต่นี้ไปมีชื่อเรียกต่างๆได้แก่ หมอลำซิ่ง,หมอลำอินเตอร์ หมายถึงการแสดงทลายกรอบหมอลำเก่าอย่างสิ้นเชิง แล้วมุ่งเข้าสู่สากล อย่างมั่นใจ ไม่กลัวฝรั่ง (อย่างที่ความเป็นไทยกลัวมาก) ทำให้คนเกือบทั้งโลกแล้วมีความสนุกสุดลิ่มทิ่มประตูกับหมอลำ _______________________ หนังสือ โขน,ละคร,ลิเก,หมอลำ,เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ผู้เขียน สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์ นาตาแฮก ราคา 400 บาท ____________________ #TheIsaander #สุจิตต์วงษ์เทศ #หมอลำ #มาจากไหน #หนุ่มหน่ายคัมภีร์ #อับดุลบุ๊ค #abdulbook — at Khon Kaen, Thailand.

123 views0 comments

Comments


bottom of page