เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งรับทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแม่น้ำโขงในประเทศจีน คือ สาเหตุสำคัญที่ซ้ำเติมปัญหาความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงตอนล่างที่เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต้องเผชิญ แต่ ทางการไทยเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริงของความแล้งยังสรุปไม่ได้ จนกว่าจะได้ศึกษาร่วมกันระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างกับจีน นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เปิดเผยแก่สื่อหลายสำนักว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อน 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศท้ายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนของจีน กลับไม่ถูกเผยแพร่เท่าที่ควร “พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก… น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้นมีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา ทำให้ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศท้ายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” นายอลัน กล่าว ทั้งนี้ อายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร อ่านข้อมูลงานวิจัยนี้เพิ่มเติมจาก : https://www.stimson.org/2020/new-evidence-how-china-turned-off-the-mekong-tap/#4-the-2019-drought
ไทยไม่เชื่อง่ายๆ ต้องได้ทำวิจัยร่วมจีนก่อน อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเบนาร์นิวส์รายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) กล่าว ถึงงานวิจัยของบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ที่ระบุว่า เขื่อนแม่น้ำโขงในจีนทำให้ความแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่างทวีความรุนแรง โดยระบุว่า ความแล้งในแม่น้ำโขงมาจากหลายสาเหตุ ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของความแล้งดังกล่าว “ตอนนี้ เราไม่สามารถระบุได้ว่า ความแห้งแล้งเกิดจากอะไร เราต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และศึกษาร่วมกันกับประเทศจีน และประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างก่อน เบื้องต้น ความแล้งมาจากสองสาเหตุหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีนเองก็บอกฝนตกน้อย แล้วก็มีการทดลองการเดินเครื่องปั่นไฟของเขื่อนในลาว แต่สาเหตุหลักยังไม่ชัดเจน คงต้องศึกษาร่วมกัน เราจะมีโครงการศึกษาสาเหตุภัยแล้งในแม่น้ำโขงร่วมกัน” นายสมเกียรติ ระบุ “ปัจจุบัน จีนปล่อยน้ำประมาณ 1,000-1,200 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งมันมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยในการประชุมกับจีน เราก็เร่งรัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากขึ้น ส่วนการประชุมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน จะยังไม่มีการกำหนดเพราะภัยโควิด แต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้คุยกันไปแล้วในประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซี(คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง) และเราก็จะได้มีการคุยกันระหว่างไทยกับลาว แต่ทั้งนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าภัยแล้งเกิดจากอะไร” นายสมเกียรติ กล่าว
นักวิชาการชี้อีก จีนปล่อยน้ำเพิ่มเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าสนใจปัญหาคนท้ายน้ำ ซึ่งต่อประเด็นเดียวกัน นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า งานวิจัยของอายส์ ออน เอิร์ธ เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า เขื่อนในประเทศจีนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างปฏิเสธไม่ได้ “งานวิจัยนี้ มีความชัดเจนในแง่ของระเบียบวิธีวิจัย หลักฐานที่นำมาใช้ เห็นอย่างชัดเจนว่า ทความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ส่วนนึงมาจากการที่จีน กักเก็บน้ำไว้ และทำให้เกิดความแห้งแล้งในวงกว้าง ซึ่งจีนทำแบบนี้ไม่ถูกอยู่แล้ว เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของคน 60 ล้านคน เป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของโลก งานชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปี 2019 จีนมีปริมาณน้ำฝน และการละลายของหิมะสูง แต่น้ำถูกกักไว้ แต่จีนยังอ้าง ในต้นปี 2020 ว่า ข้างบนจีนก็แล้ง แต่ยังปล่อยน้ำมาช่วย” นายไชยณรงค์ กล่าว “ชัดเจนว่า จีนเป็นสาเหตุหลักของความแล้ง แต่จีนก็ทวงบุญคุณ เรื่องที่เขาปล่อยน้ำลงมาเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกนัก การปล่อยน้ำของจีนเป็นเรื่องทางการเมืองล้วนๆ และก็ไม่ได้ปล่อยมามากพอที่จะรักษาผลกระทบทางธรรมชาติ เพราะตอนนี้น้ำก็ยังแห้ง ตอนนี้มันแย่กว่าหลายๆปีที่ผ่านมา แย่กว่าก่อนมีเขื่อนในจีน ขณะที่ ตัวแทนไทยที่ไปเจรจากับจีนก็มีข้อมูลไม่เพียงพอ ไปขอร้องขอวิงวอน ทำให้จีนทำเหมือนว่ามีบุญคุณ ดังนั้นคนที่ไปคุย ควรมีข้อมูลให้พร้อม จะเป็นการฟังจากชาวบ้าน หรือจากเอ็นจีโอก็ได้” นายไชยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ปัจจุบัน มีเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน 10 แห่ง รวมกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ในลาว 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เขื่อนจินฮงในประเทศจีนได้ทดสอบระบบ และลดปริมาณการปล่อยน้ำจาก 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 500-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามการเปิดเผยของกรมทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงประเทศไทย-ลาว เข้าสู่ภาวะวิกฤต ทำให้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า นายดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อพูดคุยกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ขอให้จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนมาเพิ่ม เพื่อลดความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจีนระบุว่า จะปล่อยน้ำมาเพิ่ม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้จากปกติที่ปล่อยน้ำอยู่แล้ว 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ฝ่ายประชาชนริ่มแม่น้ำโขง และเอ็นจีโอ มองว่า การปล่อยน้ำเพิ่มของจีนดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง เอ็นจีโอชี้ด้วยคน ชาวบ้านรู้อยู่แล้วจีนทำโขงแล้ง แต่รัฐควรจับมือแก้ปัญหา ขณะที่ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน แม่น้ำโขงมีความผิดปกติ สิ่งที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงขาดคือ ความร่วมมือเพื่อทำให้แม่น้ำโขงตอบสนองความต้องการของประชาชนริมน้ำ “ข้อค้นพบของรายงาน ที่ว่าเขื่อนจีนกักเก็บน้ำไว้มากเกินไป ประชาชนริมโขง ประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองมาตลอด 20 ปีอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญของมันก็คือ น้ำผิดธรรมชาติ ผันผวน ขึ้นแล้วลง ลงแล้วขึ้น น้ำท่วมในหน้าแล้ง น้ำแล้งในหน้าฝน แล้งมากกว่าธรรมชาติ กลับเพิ่มขึ้นในช่วงที่จะแล้ง ชาวบ้านเห็นมาอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงจากรายงานนี้ ทำให้เห็นว่า ปัญหามันมาก สิ่งที่ขาดตอนนี้ไม่ใช่ข้อมูลเชิงเทคนิค แต่เป็นความอยากร่วมมือในทางการเมืองของแม่น้ำโขงว่า จะจัดการแม่น้ำโขงยังไงให้ตอบสนองประชาชนริมโขง” น.ส.เพียรพร กล่าว “พอมีเขื่อนตอนบนสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ กักเก็บน้ำเพิ่มอีก ตอนล่างก็มีเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย และมีที่รอเข้าแถวสร้างต่อ มันแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความพยายามทางการเมืองของรัฐที่จะมองอนาคตไปข้างหน้าร่วมกัน มันเป็นการแย่งชิงทรัพยากร ระหว่างประเทศมหาอำนาจ กับประเทศท้ายน้ำ โดยที่เอาทรัพยากรใหญ่มาเป็นเดิมพัน ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ยิ่งสถานการณ์โควิด มันคือ สิ่งที่ไม่ต้องซื้อ แต่ทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้” น.ส.เพียรพร กล่าวเพิ่มเติม ด้าน นายจีระศักดิ์ อินทะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเขตจังหวัดเชียงราย แม้จะไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต แต่ระบบนิเวศน์ของแม่น้ำมีความผิดปกติ “ช่วงนี้ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 2 เมตร คิดว่า เขาปล่อยน้ำลงมาเพราะต้องการเปิดท่าเรือขนส่งสินค้าจินฮง และไว้ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า แต่เชื่อว่าเป็นเพราะ น้ำโขงตอนบนถูกกักไว้แน่นอน เนื่องจากปริมาณฝนโดยเฉลี่ยมันน้อยอยู่แล้ว น้ำแข็งหิมะในธิเบตซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง น่าจะละลายเยอะ แต่แทนที่น้ำเยอะกว่านี้ กลับไม่เยอะเท่าที่ควร” นายจีระศักดิ์ กล่าว “ปัจจุบัน สภาพน้ำในแม่น้ำโขงใส ไร้ตะกอน ทำให้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องการหาปู หาปลา สาหร่ายก็หาไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อปลากินพืชไปด้วย ตอนนี้ อีสานยังพอจับปลากันได้ แต่ทางเหนือเงียบเลย หาปลาไม่ได้เลย ระดับน้ำก็ขึ้นลงไม่ปกติ คาดการณ์ หรือวางแผนอะไรไม่ได้เลย” นายจีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ ภาวะแม่น้ำไร้ตะกอน หรือที่เอ็นจีโอเรียกว่า Hungry River คือภาวะที่น้ำใสผิดปกติ เนื่องจากตะกอนแม่น้ำถูกกักเก็บเอาไว้โดยเขื่อน ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในแม่น้ำ ทำให้ปลาเคลื่อนย้าย วางไข่ผิดฤดู พืชในแม่น้ำเจริญเติบโตผิดปกติ โดยภาวะแม่น้ำโขงไร้ตะกอน เชื่อว่า เกิดจากการที่เขื่อนหลายแห่งในประเทศจีนกักน้ำและตะกอนเอาไว้มากเกินไป อ้างอิง : https://www.benarnews.org/thai/news/TH-CH-mekong-dams-04132020193443.html https://www.benarnews.org/thai/news/TH-CH-mekong-drought-04172020155657.html
Comments