top of page
Writer's pictureThe Isaander

รัฐขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 31 พ.ค. 63 ชี้ คน 70 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า ที่ประชุม ศบค. มีมติเสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 คงเคอร์ฟิว 22.00 - 04.00 น. โดยระบุว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) สำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันปฏิบัติงานตลอด 1 เดือนของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจากเดิมที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ประชุม ศบค. มีมติให้ต่ออายุออกไป โดยมาตรการต่างๆ หากจะลดความเข้มข้นลงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ “มีมติในที่ประชุมเห็นควรว่าจะพิจารณาขยายเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 นี้ มีรายละเอียดสี่มาตรการที่ยังต้องคงไว้ 1. ควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร 2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 - 04.00 นาฬิกา 3. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และ 4. งดการดำเนินกิจกรรมในคนหมู่มาก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว “เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา) นำเสนอผลการนำใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บอกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ การดำเนินการตามข้อสังการของนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพ และทันท่วงที เป็นผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง สำรวจความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า 40,000 คน พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม โดย นพ.ทวีศิลป์ ได้แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันที่ 27 เมษายน 2563 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย หายป่วยเพิ่ม 15 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 2,931ราย เสียชีวิตรวม 52 ราย รักษาหายแล้ว 2,609 ราย และยังอยู่ในโรงพยาบาล 270 ราย โดยผู้ที่หายป่วยคิดเป็นร้อยละ 89.01 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด สำหรับ ผู้ป่วยรายใหม่ สามารถจำแนกกลุ่มได้เป็น ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบลผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 3 ราย การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนที่จังหวัดยะลา 4 ราย และผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าศูนย์กักกันโรค(State Quarantine) 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา โดยจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงปัจจุบัน มีผู้กักตัวสะสม 3,379 ราย อยู่ระหว่างการกักตัว 2,150 ราย กลับบ้านแล้ว 1,229 ราย มีห้องพักสำหรับกักตัวของรัฐ 5,468 ห้อง เข้าพักอยู่ 2,132 ห้อง และมีผู้ที่ถูกตรวจการโรคแล้ว 178,083 ตัวอย่าง นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ศบค. ได้พยากรณ์สถานการณ์การติดเชื้อออกเป็น 3 แนวทาง โดยระบุว่า แนวทางที่แย่ที่สุดของติดเชื้อในประเทศไทย คือ พบการติดเชื้อคล้ายการระบาดจากสนามมวย และสถานบันเทิง “หากการติดเชื้อ หรือการระบาดเกิดขึ้นพบว่ามี 3 กรณี ถ้าเราคุมได้ดีจะเกิดโรครายใหม่ 15-30 รายต่อวัน อันนี้ถือว่า คุมได้ดี ทำเหมือนทุกวันนี้ทำ กรณีที่ 2 ควบคุมได้ มีความเสี่ยงต่ำ การระบาดในวงจำกัด การสาธารณสุขพอรับรองได้ มีชะลอเข้าประเทศไทย ด้วยสเตท ควอรันทีน เปิดให้ธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำดำเนินการได้ อาจจะมีคนติดเชื้อรายใหม่ 40-70 รายต่อวัน และกรณีที่ 3 ควบคุมได้ยาก ประมาณ 500-2,000 รายต่อวัน มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ไม่มีการกักกันติดตาม ถึงกรกฎาคมจะมีคนป่วยรวมกัน 46,596 ราย อันนี้คือการพยากรณ์แบบแย่ที่สุดที่กระทรวงสาธารณสุขจะรับได้” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ ในวันเดียวกัน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามในประกาศ กพท. เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 4 โดย ห้ามอากาศยานบินเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 พฤษภาคม 2563 จากเดิมที่ประกาศ กพท. ฉบับที่ 3 ห้ามถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึง 1. อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร 2. อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน 3. อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง 4. อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 5. อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนา และ 6. อากาศยานขนส่งสินค้า อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารอากาศยานที่ได้รับการยกเว้น ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ คือ ต้องกักตัว 14 วัน ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า มีสายการบินจีนเริ่มขอบินกลับเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2563 แล้ว “ขณะนี้มีข่าวดีจาก 5 สำนักงานของ ททท. ในจีนที่ได้รับรายงานว่า สายการบินในจีนได้ติดต่อขอบินกลับเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งก็ต้องมาดูต่อไปว่า ไทยจะพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้เลยหรือไม่ โดยเชื่อว่าหลังจากนี้การต้อนรับนักท่องเที่ยวก็จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและสุขภาพของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนหน้านี้ท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับประเทศไทยมาก ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ได้รับผลกระทบมาก” นายยุทธศักดิ์ กล่าว ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม 2563 นายยุทธศักดิ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม- 29 กุมภาพันธ์ 2563 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉพาะจากจีนลดลง 81 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ การท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบ 6 เดือน หรือสิ้นสุดการแพร่ระบาดในเดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดต่ำที่สุดในเดือนพฤษภาคม จะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 30 ล้านคน หรือติดลบ 24% จาก 39.8 ล้านคนในปีก่อน และจะมีรายได้ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่ ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 2,994,690 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 185 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 206,811 คน รักษาหายแล้ว 870,204 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดสี่อันดับต้น คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ไวรัส #โคโรนา #สายพันธุ์ใหม่ #ไทย #นายก #เอาอยู่ #Covid19 #โควิด #สิทธิเสรีภาพ #สื่อ #สื่อมวลชน #ประชาชน #ครม

53 views0 comments

Comments


bottom of page