“เห็นที่มีปัญหาในวันนี้ก็เป็นเรื่องของเฟคนิวส์ ผมก็ได้เน้นย้ำ ขอให้ทุกกระทรวงได้ติดตาม ในกรณีที่มีการแพร่คำพูดที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดผลกระทบในการทำงาน ก็ต้องใช้กฎหมายไปดูแล ไม่ใช่เป็นการละเมิดท่าน เพียงแต่ท่านละเมิดใครก็ต้องใช้กฎหมายดำเนินการ
“วันนี้อย่าลืมนะครับ ขณะนี้มี พรก ฉุกเฉินซึ่งมีข้อกำหนดอยู่แล้วในเรื่องนี้ มันค่อนข้างจะแรงกว่ากฎหมายปกติ ก็ขอให้ทุกคนได้ระมัดระวังด้วยแล้วกัน สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดล่ะครับ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาก็มีการจับกุมกันหลายรายการ หลายผู้ต้องหา ทุกคนก็พูดอย่างเดียวคือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งท่านก็ต้องไปพิสูจน์ทราบตัวในศาลก็แล้วกัน
“ช่วงนี้ก็ขอให้อย่าละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เลยนะครับ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราปลอดภัยจนถึงวันนี้ จนได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศ หลายประเทศด้วยกัน ในเรื่องของการดูแลของเรา”
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เรื่องโควิด-19
ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้มีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งยังได้เห็นชอบให้ ขยายขอบเขตการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่จะจ่ายให้กับประชาชน 14 ล้านคน เพิ่มเป็น 16 ล้านคน จ่ายคนละ 5 พันบาท 3 เดือน และเห็นชอบ อนุมัติจ่ายเงิน 5 พันบาท 3 เดือนสำหรับเกษตรกร 10 ล้านคนด้วย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในวันนี้ โดยคำนึงถึงการดูแลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ทั้งได้เห็นชอบการขยายอายุของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายน 2563
“เราจำเป็นต้องมีการต่ออายุของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ในข้อกำหนดดังกล่าวเหล่านั้น หลายข้อกำหนดยังคงสภาพเดิมอยู่ ในเรื่องของการเคลื่อนย้าย ควบคุม ในเรื่องของการแพร่ระบาดของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในอีกส่วนก็จะมีมาตรการในการผ่อนคลาย ปลดล็อคกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีคณะกรรมการในการศึกษาในการทำรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้มาว่ากิจกรรมใดควรจะมีการผ่อนปรนบ้างในระยะต่อไป ขอให้ทุกคนได้รอฟังการแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่ง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“ในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยา วันนี้ เราก็ดูทุกพวกเกษตรกร ประกันสังคม ทั้งนอกระบบ ในระบบ อาชีพอิสระต่างๆ ก็หลาย 10 ล้านคน จากเดิมตั้งไว้เพียงแค่ 3 ล้าน มีเรื่องเสนอเข้า ครม. ไปแล้ว อาชีพอิสระ ลูกจ้างนอกระบบ นักศึกษา 16 ล้าน เกษตรกรอีก 10 ล้าน… แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านก็อีกส่วนแล้ว ในส่วนของกลุ่มเปราะบางก็กำลังพิจารณาอยู่ ต้องมีคณะกรรมการการในการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมยืนยันว่าจะดูแลให้ดีที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการการเยียวยาที่ ครม. เห็นชอบในวันนี้ว่า การเยียวยาจะแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ส่วนของแรงงาน และเกษตรกร
“เดิมที่มีโครงการที่กระทรวงการคลังได้ขออนุมัติไป 14 ล้านคน สำหรับเงินช่วยเหลือต่อเดือนเดือนละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน วันนี้ ครม. ได้อนุมัติเพิ่มเป็นไม่เกิน 16 ล้านคน จึงทำให้เงินโครงการเป็นไม่เกิน 2.4 แสนล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินจะมาจากงบประมาณปี 63 จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 1.7 แสนล้านบาทจะมาจาก พ.ร.ก. เงินกู้ฯ สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการตั้งแต่ 24 มีนาคม - 30 มิถุนายน 63 นี้” นางนฤมล กล่าว
“โครงการที่สอง ครม. เห็นชอบด้วยก็คือ ช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยที่ให้การช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันกับกรณีแรก คือ เดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือนกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร 10 ล้านคน ซึ่งจะประกอบไปด้วย กลุ่มแรกเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง รวมทั้งสิ้น 8.43 ล้านคน เกษตรกรกลุ่มที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินช่วยเกษตรกร 1.5 แสนล้านบาท” นางนฤมล กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เฟซบุ๊คแฟนเพจไทยคู่ฟ้าของทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า มีผู้ที่ลงทะเบียนบนเว็บไซต์ได้รับเงินเยียวยาระหว่างวันที่ 8 - 24 เมษายน 2563 แล้ว 4,900,000 ราย และในช่วงวันที่ 27 - 29 เมษายน 2563 จะทยอยโอนเงินให้อีก 2,600,000 ราย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 8 - 29 เมษายน 2563 จะมีผู้ได้รับเงินเยียวยารวม 7,500,000 ราย คิดเป็นเงิน 38,000 ล้านบาท� ขณะเดียวกัน มีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 940,000 ราย ขอทบทวนสิทธิ 3,400,000 ราย ขอสละสิทธิ 1,675 ราย และ กลุ่มที่ต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1,100,000 ราย
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวว่า ไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเพิ่ม แต่ถือว่ามีอัตราที่น้อยกว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมามาก
“เราพบผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ คือ 7 ราย ทำให้ผู้ป่วยยืนยัน สะสมวันนี้ 2,938 ราย หายป่วยไปแล้วเพิ่มขึ้นวันนี้ 43 ราย รวมเป็น 2,652 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 ราย รวมเป็น 54 ราย… วันนี้ที่เราทำได้ 7 ราย เกิดขึ้นจากเมื่อ 7 และ 14 วันที่แล้ว ที่ท่านร่วมมือกันอย่างดี... เพราะฉะนั้นต้องขอแรงทุกท่านยังต้องทำตัวสม่ำเสมอกว่านี้ จะต้องเข้มงวดอย่างงี้ไปตลอด ซึ่งเราก็จะได้อยู่รอดกันทุกคน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
“การที่จะบอกว่า เบาใจ วางใจ ใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมยังไม่ได้ เพราะ ถ้าจะให้เหมือนเดิมได้ มีทางเดียวต้องมีวัคซีน หรือยารักษาให้หายได้ ตอนนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้นยังต้องเข้มในเรื่องของการป้องกัน ควบคุมอย่างดี เพื่อตัวเลขนี้จะได้คงต่อในอีก 14 วันข้างหน้า” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขว่า หากสถานประกอบการจะกลับมาเปิดจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรการทางสาธารณสุข เช่นกัน โรงเรียนหากจะเปิดเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการจัดการที่ดีมาก เพราะอาจเป็นจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาด
“สถานที่ในโรงเรียนคือมีเด็กเป็นจำนวนมากไปอยู่รวมตัวกัน ถ้าพิจารณาตามตารางความเสี่ยง ที่โรงเรียนถือเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ความที่เด็กมีอาการค่อนข้างน้อย ก็อาจจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโดยที่ผู้ใหญ่ หรือคุณครูตรวจจับไม่เจอ โรงเรียนอาจจะกลับมาเปิดได้ แต่โรงเรียนต้องเข้าใจ ผู้ปกครองต้องเข้าใจ เด็กต้องเข้าใจ ต้องมีระบบในการจัดการกับปัญหาที่ดี ที่น่ากลัวคือถ้ามีการระบาดในเด็ก ผลกระทบจะไปเกิดกับสังคม ครู พ่อแม่ อาจจะอาการรุนแรง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ แนะนำแนวทางสำหรับการกลับมาเปิดสถานประกอบการดังนี้ 1. ต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การทำงานจากบ้าน การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น การเหลื่อมเวลาทำงาน การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 -2 เมตร 2. ต้องมีการออกแบบทางวิศวกรรม เช่น การออกแบบสถานประกอบการให้มีอุปกรณ์มากั้นเพื่อให้แต่ละบุคคลอยู่ห่างกัน 3. ต้องการปรับปรุงระบบงาน โดยการปรับปรุงระบบงานเพื่อให้ทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการมีความเสี่ยงต่ำลง โดยลดโอกาสที่จะสัมผัสกันโดยตรงและนำเทคโนโลยีมาใช้ และ 4. ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล (PPE) คือ การให้ทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการสวมใส่หน้ากากผ้า หรือ สวมใส่เฟซชิลด์ตามความเหมาะสม
ขณะที่ ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 3,060,152 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 185 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 212,083 คน รักษาหายแล้ว 906,022 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดสี่อันดับต้น คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว
תגובות