top of page
Writer's pictureThe Isaander

องค์กรสิทธิ์ชี้ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินบ่แม่นแนวเด้


ถึงแม้อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยจะต่ำมาก หากเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ ขยายอายุของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน โดยอ้างว่า เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะประเทศกำลังจะเข้าสู่มาตรการการผ่อนปรนระยะที่สาม โดยการต่ออายุครั้งนี้ คำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ใช่เหตุผลด้านการเมืองตามที่ฝ่ายค้าน นักวิชาการหรือองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหา


สืบเนื่องจากมติของ ครม. ดังกล่าว องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ จึงได้ออกแถลงการณ์ในวันพุธ ระบุว่า นับตั้งแต่ การประกาศสภาวะฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม 2563 รัฐบาลได้พยายามปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือปิดปากผู้เห็นต่าง โดยเจ้าหน้าที่รัฐพยายามปิดกั้นการวิจารณ์การทำงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณชน โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(พ.ร.บ.คอมฯ)


“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้จัดการกับอิสรภาพขั้นพื้นฐาน โดยปราศจากความรับผิดชอบ… รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมที่จะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมอบอำนาจเบ็ดเสร็จ และไม่ได้สัดส่วนในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญไทย” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในแถลงการณ์


ในแถลงการณ์ระบุว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย และ นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง หลังจากที่ทั้งคู่ทำกิจกรรมประมูลภาพวาดเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 และตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 4 หมื่นบาท รวมถึงการห้าม ชาวบ้านในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา รวมตัวประท้วงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ณ หาดม่วงงาม โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดการกับผู้ที่เห็นต่าง


“สถานการณ์การระบาดในประเทศไทย หากดูจากสถิติผู้ติดเชื้อไม่ได้วิกฤต เหมือนตอนเริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายตัวนี้แล้ว เพราะมีกฎหมายตัวอื่นตอบโจทย์อยู่แล้ว การควบคุมโรคก็ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ ได้ ข่าวปลอม ก็ใช้กฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ. คอมฯ ได้ การควบคุมราคาสินค้าจำเป็นก็ใช้กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ได้ และการนำกฎหมายมาใช้จัดการกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ผิดกาลเทศะ ถูกเอาไปใช้ในทางมิชอบไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล และเอาผิดไม่ได้ ดังนั้นควรจะหยุดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แล้ว” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผย


ขณะที่ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ถึงเรื่องเดียวกันระบุว่า รัฐบาลไทยต้องรับประกันว่า มาตรการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ต้องไม่ถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ต้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ


“หลังมีการล็อคดาวน์มานานสองเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอให้ทางการไทยรับประกันว่า การจำกัดการใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนและจำเป็น นอกจากนั้นยังเรียกร้องทางการให้มีมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถปกป้องตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการระบาดของโรค ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและการเข้าถึงการดูแลและบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ หรือขาดศักยภาพที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ” แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ


“ขอให้ทางการไทยยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมืองโดยพลการ และงดเว้นการใช้มาตรการจำกัดสิทธิโดยพุ่งเป้าไปที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ ทั้งยังมีการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนจากแรงจูงใจทางการเมือง แม้การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิ่งที่กระทำได้ เมื่อจำเป็นและได้สัดส่วนเพื่อคุ้มครองการสาธารณสุข แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุมที่เป็นการละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ จะต้องไม่ถูกลงโทษด้วยการจำคุก” แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ ระบุ


ต่อเรื่องดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงกับฝ่ายค้านในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่อาคารรัฐสภาว่า รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตลอด ตั้งแต่พบการระบาดในประเทศไทย โดยยืนยันว่า ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ลดความเข้มงวดในการป้องกันโรคลง และมั่นใจว่าแม้เกิดการระบาดระลอกที่สองก็สามารถรับมือได้


“การพิจารณาเข้ามาตรการผ่อนคลายระยะ 3 ก็เพื่อรองรับการผ่อนคลาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อมันถึงเวลาที่ต้องเลิก พ.ร.ก. ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารรสุข มีความพร้อมในการดูแลรักษาประชาชนหวังว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤติการตรงนี้แล้ว ไทยจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ เพราะความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และนั่นคือโอกาสที่จะดึงสิ่งที่เคยเสียไปกลับคืนมาขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ ไม่เคยการ์ดตก และขอให้ประชาชน ต้องตั้งการ์ดด้วย ศัตรูคือโควิด19 ถ้านับคะแนน ประเทศไทยยังนำอยู่ ถ้าจะน็อกได้ ต้องมีวัคซีน ประเทศไทย เราเหลืออยู่อย่างเดียวคือวัคซีน ซึ่งได้สนับสนุนงบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติไปแล้ว” นายอนุทิน กล่าว


อย่างไรก็ตาม ดิ อีสานเด้อ พยายามติดต่อไปหา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เพื่อขอคำความเห็นเกี่ยวกับแถลงการณ์ขององค์กรสิทธิมนุษยชนเรื่องการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ


อ่านแถลงการณ์เพิ่มเติมได้ที่


https://www.amnesty.or.th/latest/news/798/


และ https://www.hrw.org/news/2020/05/28/thailand-state-emergency-extension-unjustified


ขอบคุณรูปประกอบจาก https://www.thaigov.go.th/


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #โควิด19 #โคโรนา #ประเทศไทย #สู้เด้อสู #สภาพัฒน์ #ตกงาน #หลายโพด


ติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆได้ดังนี้


เว็บไซต์ https://www.theisaander.com/


แฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander/


อินสตาแกรม https://www.instagram.com/theisaander/


ทวิตเตอร์ https://twitter.com/TIsaander — at Home.


5 views0 comments

Comments


bottom of page