top of page
Writer's pictureThe Isaander

ขึ้นทะเบียน แม่น้ำสงครามตอนล่าง นครพนม เป็น “แรมซาร์ไซต์”



วานนี้( 31 พฤษภาคม 2563) กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึง สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (The Secretariat of Ramsar Bureau) แจ้งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563


โดยขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม เป็น “แรมซาร์ไซต์” หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ลำดับที่ 2,420 ของโลก และนับเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ที่ 15 ของไทย ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนดังกล่าวได้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา


พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง จังหวัดนครพนม ที่ถูกนำเสนอเพื่อการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งใหม่ของประเทศและของโลกนี้ มีขอบเขตเริ่มตั้งแต่ปากน้ำบ้านไชยบุรี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ไปจนถึงบ้านปากยาม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม ความยาวทั้งสิ้น 92 กิโลเมตร โดยการกำหนดพื้นที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์นี้ ครอบคลุมเฉพาะส่วนที่เป็นตัวแม่น้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่ติดกับสองฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ป่าสาธารณะหรือป่าบุ่งป่าทามที่ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านเห็นชอบ และไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของราษฎร รวมทั้งพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และพื้นที่สาธารณะตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) รวมพื้นที่ที่เสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ใหม่นี้ทั้งหมด 34,381 ไร่


ความโดนเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้คือ มีระบบนิเวศหายากได้แก่ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ในระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด เป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารของคนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นแหล่งอพยพเพื่อผสมพันธุ์วางไข่ของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก พบความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด พันธุ์พืช 208 ชนิด จึงมีทั้งความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาค


สำหรับ อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ถูกกำหนดและตั้งชื่อตามชื่อสถานที่จัดให้มีการประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ ต่อมาขยายครอบคลุมกว้างขึ้นโดยเน้นการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดในทุกๆด้าน ตลอดจนเพื่อยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยมีพันธกิจที่สำคัญในการดำเนินงานระดับชาติโดยความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภูมิภาคของโลก


ในภาคอีสานนอกจาก แม่น้ำสงครามตอนล่าง ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลงและกุดทิง ที่จังหวัดบึงกาฬ


ขอบคุณภาพประกอบจาก Thaipbs


_________________________

#TheIsaander #พื้นที่ชุ่มน้ำ #แม่น้ำสงคราม #นครพนม

#RamsarSite — at สะพานนาเพียง แม่น้ำสงคราม.


89 views0 comments

Comments


bottom of page