“ถ้าสมมติว่า คนที่อุ้มวันเฉลิมไป หรือคนที่สั่งการได้ยินได้รับรู้ บอกด้วยว่า แม่เขาอายุมากแล้ว มีลูกชายที่จะต้องเป็นหลักชัยของครอบครัว ถ้ายังมีชีวิตอยู่ปล่อยเขามา อย่างน้อยๆคนที่สั่ง คนที่ทำก็ได้สร้างความดีให้กับประเทศนี้ ผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับชีวิตน้องคนนี้ แต่คาดหวังว่า อยากให้(วันเฉลิม)เป็นคนสุดท้าย และอย่าให้เป็นอีก มันเกินพอแล้ว” นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. อุบลราชธานี บ้านเกิดของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ระบุในสภาผู้แทนราษฎร
ในวันพุธนี้ นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า ไทยจำเป็นต้องรอฟังความคืบหน้าจากรัฐบาลกัมพูชา กรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย ซึ่งถูกลักพาตัวไปในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ในกรุงพนมเปญ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดนอกประเทศ ทั้งระบุว่า นายวันเฉลิมไม่ได้มีความสำคัญต่อความมั่นคง
นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบกระทู้สดซึ่งนายสมคิด เชื้อคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับกรณีการลักพาตัวนายวันเฉลิมว่า รัฐบาลกัมพูชาได้เริ่มเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้แล้ว จึงจำเป็นต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่กัมพูชาดำเนินการ
“เรื่องของคุณวันเฉลิมไม่ได้มีลำดับของความสำคัญมากนัก… ไม่น่าจะเป็นผู้ที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง เรื่องที่มันเกิด เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมานั้นจะมาจากเหตุผลอันใด ก็เป็นเรื่องที่เรากำลังรอฟังคำตอบจากทางการของกัมพูชาจากการตรวจสอบ โดยสถานเอกอัครราชทูต รับทราบมาว่า ทางการกัมพูชาก็จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ผลจะเป็นอย่างไรก็คงต้องให้เวลาทางฝ่ายกัมพูชา… ทางการไทยทำได้อย่างมากก็อย่างที่ได้ทำไปแล้ว ก็ได้ถามไถ่ไปยังรัฐบาลกัมพูชา” นายดอน กล่าว
นายดอน ยังระบุว่า นายวันเฉลิมไม่ได้มีสถานะ หรือร้องขอสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยจริง
การตอบคำถามของนายดอน เป็นการตอบกระทู้สดแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ นายสมคิด เชื้อคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้สอบถามเกี่ยวกับกรณีการลักพาตัวนายวันเฉลิมที่ประเทศกัมพูชา
“วันที่ 4 มิถุนายน มีการลักพาตัวเป็นชายชุดดำพกอาวุธปืน 3 คน ที่บริเวณหน้าคอนโดที่เป็นที่พักอาศัยของคุณวันเฉลิม ซึ่งมีคนจำนวนมากพบเห็น มีภาพวงจรปิดต่อสื่อสาธารณะทั่วไป… เหตุการณ์นี้อาจจะมีเงื่อนงำเนื่องจากว่า คุณวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัย นับตั้งแต่มีการรัฐประหารคือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คุณวันเฉลิมถูกออกหมายจับในคดีที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ปี 2557 และปรากฎว่า คุณวันเฉลิมถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ… คดีการอุ้มหายในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทั้ง 9 คดีก่อนหน้านี้ มีรายละเอียดความคืบหน้าล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง” นายรังสิมันต์ สอบถาม
“วันเฉลิมนั้นไม่มารายงานตัวเมื่อ คสช. ยึดอำนาจ เมื่อ 22 พฤษภา 57 นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สร้างความกลัวให้คุณวันเฉลิม… ต้นเหตุมันอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ ยึดอำนาจแล้วใช้คำสั่ง คสช. เข้ามาดำเนินการ รัฐมนตรีต่างประเทศผมอยากจะเรียนสอบถามท่านอย่างนี้นะครับว่า หน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากจะดูแลคนทั่วไปในต่างประเทศ… ท่านจะดูแลเขาอย่างไรเพื่อให้เขามั่นใจว่าจะไม่ถูกกระทำอย่างที่เกิดขึ้น” นายสมคิด สอบถาม
ทั้งนี้ ในการตอบกระทู้สด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้ตอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายสมศักดิ์ ระบุว่า นายวันเฉลิมไม่เคยขอรับการช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม และเหตุลักพาตัวเกิดในต่างประเทศจึงต้องรอรัฐบาลกัมพูชาดำเนินการและแจ้งมายังรัฐบาลไทย
“กระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลกัมพูชายังไม่ยืนยันในเหตุการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่… กรณีที่อุ้มหายในต่างประเทศเป็นกรณีไม่ปกติเพราะไม่มีใครทราบข่าวก่อนกรณีที่เกิดเหตุ และไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนบนอธิปไตยของประเทศอื่น สิ่งที่ทำได้คือ ต้องทำการร้องเรียนโดยผ่านกระทรวงต่างประเทศ” นายสมศักดิ์ กล่าว
โรมถามอย่าง ดอนตอบอย่าง
นายรังสิมันต์ ยังได้สอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ กรณีการถูกลักพาตัวของนายวันเฉลิมจะเกี่ยวข้องกับการที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาว่า นายวันเฉลิมเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งนายดอน ระบุว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายเฉพาะของไทย และคน 67 ล้านคนไม่มีปัญหา
“ถ้าพูดถึงคนที่ห่วงใย และห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาตรา(112) ในกฎหมายอาญาคงจะแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆได้ จะเรียกว่ากลุ่มใหญ่เท่ากันก็คงจะไม่ได้ กลุ่มแรกก็คือ กลุ่ม 67 ล้านคนที่ไม่เห็นเป็นปัญหาอีกกลุ่มนึงก็อาจจะไม่ถึง 100 คนที่บอกว่ามีปัญหา เพราะ 67 ล้านคนก็ถือว่า เรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับสถาบันที่เขารับรู้มาตลอดกี่สิบปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ให้กับประเทศของเขาก็คือประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นคนของเขาเอง ซึ่งก็เป็นคนไทย อันนั้นคือจำนวนที่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็นส่วนน้อยอีกฟากหนึ่งก็ถือว่ามีปัญหาในมุมมองของเขา” นายดอน ระบุ
คสช. และคนหาย
ทั้งนี้ หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวมข้อมูลระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า ขณะที่ มีผู้ลี้ภัยชายไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้ว 9 คน เมื่อรวมนายวันเฉลิม ซึ่งประกอบด้วย 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน
และระบุว่า หลังจากยึดอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยมีต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองในเรือนจำ 28 คน มีนักโทษคดีอาญามาตรา 112 จำนวน 17 มีผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไท และคดีอาญามาตรา 116 รวม 3 คน มีผู้ต้องขัง 8 คน ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาวุธ
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจ มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยสถิติดังกล่าวนับจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562
อุ้มวันเฉลิม
เมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 และ เป็นอดีตผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดในคดีตามพระราชบัญญติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) ปี 2561 จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ” ซึ่งเขียนข้อความใส่ร้ายรัฐบาล โดยนายวันเฉลิมได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศลาว เมื่อปี 2557 และย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาในเวลาต่อมา ก่อนจะถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ
การลักพาตัววันเฉลิม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์อย่างมากมายบนอินเทอร์เน็ต และได้เกิดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม บนทวิตเตอร์ ที่มีผู้เขียนข้อความด้วยแฮชแท็กดังกล่าว กว่า 1 ล้านครั้ง มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรนักศึกษา-นักเรียนหลายองค์กร ประชาชน และบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และกัมพูชา ดำเนินการตามหาตัวนายวันเฉลิม และชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ขอบคุณภาพจาก : https://www.facebook.com/talearm
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ต้าร์ #เสรีชนคนอีสาน #แอดมิน #เพจ #กูต้องได้100ล้านจากทักษิณแน่ๆ #โดนอุ้ม #ใน #กัมพูชา #ขอให้ปลอดภัย #หยุดฆ่าทุกชีวิตมีค่า
ติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆได้ดังนี้
เว็บไซต์ https://www.theisaander.com/
แฟนเพจ https://web.facebook.com/theisaander/
อินสตาแกรม https://www.instagram.com/theisaander/
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/TIsaander — at สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา.
Comentarios