top of page
Writer's pictureThe Isaander

Eternity Village: หมู่บ้านนิรันดร์กาลและแสงสว่างจากเบื้องบน


บทวิจารณ์ศิลปะ : กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ


หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ คงเป็นที่ที่ไม่แปลกต่างนักจากชุมชนอื่นในภาคอีสานนัก การเข้ามาเป็นแรงงานพลัดถิ่น การเคลื่อนย้ายชีวิตไปตามภาวะเศรษฐกิจเพื่อหวังทำให้ปากท้องดีกว่าที่เป็นอยู่ ดูจะเป็นเรื่องสามัญของคนภูมิภาคนี้ แต่เมื่อเพ่งไปดูองค์ประกอบในชีวิตพวกเขา ระหว่างเป็นแรงงาน ต่างมีวิถีและความต้องการไม่แตกต่างจากชนชั้นกลางในเมืองที่อาศัยอยู่


เช่นเดียวกับสิ่งที่สะท้อนในนิทรรศการภาพเขียน Eternity Village จากศิลปินร่วมสมัย พชร ปิยะทรงสุทธิ์


“ภาพที่พชรวาดเป็นความปกติที่เจือปนด้วยความไม่ปกติ เหมือนท้องฟ้าที่เป็นทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นทั้งความจริงและเหนือจริง”


พชร เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มแรงงานผู้ดูแลหมู่บ้านจัดสรรที่เขาพบเจอเกือบทุกครั้งที่ไปหาคนรัก แต่แรกเขาไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องราวของแรงงานพลัดถิ่นมาใช้ในการวาดภาพ หากแต่เขาต้องการเข้าไปทำความรู้จักความแตกต่างหลากหลายของผู้คน


การใช้สายตาเป็นศูนย์กลาง (ocularcentricism) มาพร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ของโลกตะวันตกที่มีต่อตะวันออกหลังศตวรรษที่ 19 นั้นยังรวมไปถึงการสร้างภาพแทน (representation) ของผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ผ่านการทึกทักกันเอาเองในหมู่เจ้าอาณานิคม


วิธีการของพชร ตอนเริ่มแรกมิได้เป็นไปเพื่อการทำงานศิลปะภาพเขียน (painting) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดก (visual culture) ของเจ้าอาณานิคม เพราะเขาเพียงต้องการพาตนเองเข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตแบบอื่นที่แตกต่างจากตนเอง แต่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในท้ายที่สุดการสร้างผลงานภาพเขียนก็เป็นผลจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participate observation) อันเป็นการยึดโยงผัสสะต่างๆของร่างกายไว้ที่การมองเป็นศูนย์กลาง


ผัสสะอื่นๆ เช่นการดมกลิ่น หรือการสัมผัส ถูกทำให้กลายเป็นของต่ำ เป็นวัฒนธรรมของผู้ไม่มีอารยะ ผลงานหมู่บ้านนิจนิรันดร์ หรือ Eternity Village ของพชร แน่นอนว่าผู้ชมมิได้ใช้ผัสสะอื่นๆ ในการทำความเข้าใจผลงานภาพวาด นั่นเพราะภาพวาดถูก “สร้าง” ขึ้นมาเพื่อไว้ให้ “ดู” ไม่ได้ไว้ชิม หรือสัมผัส ภาพวาดราคาแพงยิ่งจับต้องไม่ได้ ต้องถูกสงวนไว้ราวกับพระเจ้าที่มนุษย์ปุถุชนเอื้อมไม่ถึงความงดงามของพระองค์


แต่พร้อมๆ กัน Eternity Village ของพชร กลับวิพากย์กระบวนการมองและการสร้างภาพจำของแรงงานพลัดถิ่นได้อย่างน่าสนใจ และเขาได้พากระบวนการสร้างงานศิลปะของภาพวาดไปไกลกว่าเรื่องของความงาม หรือแม้แต่การใช้สายตาเป็นศูนย์กลาง


พชร เล่าให้ฟังว่า เขาพูดคุยกับกลุ่มแรงงานผู้ดูแลหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ข้างสนามเทนนิสของหมู่บ้าน ทุกเย็นที่เหล่าชนชั้นกลางเจ้าของบ้านในหมู่บ้านจัดสรรมาออกกำลังกาย เหล่าแรงงานจะได้ยินเสียงของลูกเทนนิสกระแทกผนังบ้านอยู่เสมอ ความเป็นอยู่ของพวกเขาต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ผักสวนครัวต้องแอบเอาไปปลูกไว้ตามรั้วของหมู่บ้าน พวกเขามีหน้าที่เนรมิตหมู่บ้านให้ยังคงสวยสดงดงามเหมือนหน้าปกโฆษณาหมู่บ้านเมื่อราว 30 ปีก่อน หมู่บ้านแห่งนี้เองที่ลูกบ้านจำนวนไม่น้อยทนพิษเศรษฐกิจปี 2540 ไม่ไหว หมู่บ้านแห่งนี้จึงเป็นเสมือนอนุสาวรีย์ของการล่มสลายทางเศรษฐกิจ


แรงงานผู้ทำนุบำรุงหมู่บ้านในช่วงที่พชรเข้าไปพูดคุยด้วยมักอยู่ในวัยสูงอายุ แทบไม่มีหนุ่มสาว ลูกหลานของพวกเขาถูกผนวกรวมในกลุ่มแรงงานอวัตถุ (immaterial labor) ในระบบทุนนิยมความรับรู้ (cognitive capitalism) หมู่บ้านแห่งนี้ที่เหมือนเป็นปราการของการเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมและโลกภายนอก หมู่บ้านที่แปลงกายจากหมู่บ้านของพวกเขาที่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ หมู่บ้านที่เหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ แรงงานคนวัยกลางคนไปถึงวัยเฒ่าถูกจับหยุดนิ่งให้คงสถานะของรูปแบบแรงงานไว้ที่แรงงานผลิตสร้างวัตถุ (material) เพียงแค่รักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์แบบของหมู่บ้าน



สนามเทนนิส สนามบาสเก็ตบอล สวนสาธารณะในหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ออกกำลังกายของชนชั้นกลางถูกวาดขึ้นจำนวนหลายภาพ การออกกำลังช่วยเสริมสร้างพละกำลังของเหล่าชนชั้นกลางที่ทำงานแลกเงินเดือน ชนชั้นที่สามารถจัดสรรเวลามาออกกำลังกายได้ไม่ยากเย็น กิจกรรมการออกกำลังกายนี่เองที่เหล่าแพทย์ฟาดลงบนเหล่าชนชั้นแรงงานให้เจียดเวลา “ดูแลตัวเองบ้าง” นี่จึงเป็นกิจกรรมที่ชนชั้นล่างอย่างพวกเขาเอื้อมไม่ถึง


จุดเด่นที่ปรากฎในภาพของพชรคือ แสงสีทองที่ผาดผ่านตัดข้ามภูมิสถาปัตย์ของหมู่บ้าน แทรกซึมไหลเวียนปล่อยพลังงานเรื่อเรืองไหลออกมา แสงสว่างเดียวกันนี้ยังลอยเด่นบนฟากฟ้า เหล่าชาวบ้านล้อมวงคล้ายกำลังประกอบพิธีบูชามากกว่าการล้อมวงกินข้าว การเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของแสงสว่างจากฟากฟ้าที่ให้พลังงานและชีวิต (คล้ายการบูชาเทพ Gaia) และรอรับของมีค่าที่บังเอิญหล่นจากด้านบนลงมาบ้างดูจะเป็นคำสาปให้ชาวบ้านต้องอยู่สถานะเช่นนี้ อยู่ใน “หมู่บ้าน” แห่งนี้ไปนิจนิรันดร์


แสงสีทองเช่นเดียวกันนี้ยังไปปรากฎจากแสงไฟที่ลุกโชติช่วงมากกว่าจะบอกได้ว่าเป็นแสงจากตะเกียงของชาวบ้านที่กำลังเดินลัดนาข้าวสีทอง แสงบนท้องฟ้าที่บอกเวลาไม่แน่ชัดระหว่างกลางวันหรือกลางคืน บอกไม่ได้ว่ากำลังจะมืดสลัวหรือกำลังจะได้รับแสงอรุณ เช่นเดียวกันกับอีกภาพที่ถูกจัดวางไว้ตรงข้ามกัน ปรากฎเป็นมวลพลังงานกำลังลุกโชนอยู่กลางนาข้าวที่บอกไม่ได้ว่าคือสิ่งใด สองภาพนี้ล้อไปกับภาพของแสงไฟน้อยๆ จากบ้านของแรงงานที่อยู่หลังสนามเทนนิส แสงสีทองที่ดูเหมือนเป็นการยืนยันการมีอยู่ของแรงงานในหมู่บ้านที่สะอาดเรียบร้อยแห่งนั้น และเช่นเดียวกับหมู่บ้านในทุกๆ ที่ ความเป็นที่ไหนก็ได้ (nowhere) ของภาพวาดของพชรบ่งบอกถึงเรื่องเล่าที่มีบางอย่างร่วมกัน (common) สำนึกของความเป็นชุมชน (collective) ที่ยังตกทอดและปะทะสังสรรค์กับสังคมปัจเจก (individual) ของสังคมร่วมสมัยภายใต้รัฐประชาชาติ


พชรเล่าว่าเขาสนใจการวาดภาพที่แสดงถึงการจ้องมอง เช่นเดียวกันกับตอนที่เขาลงพื้นที่ ชาวบ้านก็จ้องมองเขาในฐานะคนที่แปลกแยกจากชุมชน นี่แสดงถึงอำนาจของการสร้างภาพแทนจากวัฒนธรรมทางสายตาของทั้งสองฝั่ง ชาวบ้านไม่ได้เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งในศิลปินเข้าไปทำการศึกษาวิจัย และพชรดูจะตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ของเขาในฐานะศิลปินที่มาจากเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของรัฐไทย


พชรตามมิตรสหายที่เขาผูกสัมพันธ์จากการไปพูดคุยที่ “หมู่บ้าน” ในหมู่บ้านจัดสรร เพื่อนของพชรพาเขาไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ อำเภอกุฉินารายณ์ หมู่บ้านแห่งนี้คือต้นสายของแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ทำงานในหมู่บ้านจัดสรร ที่นั่นพชรเล่าว่าเขาตกใจกับภาพที่เห็นเพราะภาพจำของหมู่บ้านในอีสานร่วมสมัยกับภาพจำที่เขาสร้างขึ้นเองก่อนหน้านี้ขัดแย้งและปะทะกัน


“มีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่มีกองเสื้อผ้ายี่ห้อดังในบ้านกองใหญ่ พวกเขาได้มาเพราะเจ้าของบ้านในหมู่บ้านจัดสรรโละเสื้อผ้าทิ้งบริจาคให้” “มีบ้านอยู่หลังหนึ่งที่สร้างจากไม้แต่ละชิ้นที่เจ้าของบ้านในหมู่บ้านจัดสรรให้เมื่อพวกเขาพยายามจะปรับปรุงบ้าน” “หมู่บ้านที่ผมไป บางครอบครัวก็มีรถยนตใช้ บางครอบครัวมีโทรศัพท์มือถือใช้ หรือมีพื้นที่กว้างขวางกว่าเราอีก” การได้เห็นด้วยตาของพชรได้ทำลายภาพจำของเขาที่มีต่อหมู่บ้านในอีสาน พร้อมๆกันก็แสดงให้เห็นถึงการหล่นลงมาจากฝากฟ้าของวัตถุมีค่าจากผู้หวังดีใจบุญที่เป็นการตอกย้ำขับเน้นลำดับชั้นในสังคม (Hierarchy) ที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางให้เด่นชัดยิ่งขึ้น


ข้อสำคัญของผลงาน Eternity Village ของพชร ที่แตกต่างจากงานศิลปะวิพากย์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมชิ้นอื่นๆ คือการวิพากย์สายตาของชนชั้นกลางผู้ผลิตและชื่นชมงานศิลปะ การเหลียวหันกลับมามองตนเองเป็นจุดเด่นของพชร ข้อสังเกตคือเรื่องราวที่พชรได้พบเห็นจากการไปพูดคุยกับชาวบ้านรวมถึงการตามไปที่ชนบทอีสาน กลับไม่ได้ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาเพื่อเรียกร้องความน่าสงสารสลดหดหู่หรือความเห็นอกเห็นใจ ในทางตรงกันข้ามพชรเลือกจะวาดทัศนียภาพที่ชนชั้นกลางมองเห็นอย่างธรรมดาดาษดื่น ภาพที่พชรวาดเป็นความปกติที่เจือปนด้วยความไม่ปกติ เหมือนท้องฟ้าที่เป็นทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นทั้งความจริงและเหนือจริง


พชรไม่ได้เลือกจะวาดภาพของสภาพบ้านของแรงงาน สวนผักที่ต้องปลูกอย่างหลบซ่อน หรือแม้แต่บ้านของแรงงานที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ เขาเลือกวาดภาพจากมุมมองที่คนอย่างเขา “ชนชั้นกลางที่มาจากกรุงเทพฯ” มองเห็น ลานกีฬา สโมสรหมู่บ้าน และสวนที่ถูกทำความสะอาดจนเรียบร้อยหมดจด ผลงานที่แรงงานเหล่านั้นภูมิใจแม้จะแลกมาด้วยการไร้สวัสดิการสุขภาพจากนิติบุคคลของหมู่บ้านและค่าแรงรายวันราคาถูก



พชรเลือกจะวาดมุมมองของชนชั้นกลางอย่างสัตย์ซื่อ และไม่ได้วาดภาพชนชั้นแรงงานราวกับว่าเขาเข้าอกเข้าใจแบบสัจนิยมสังคมนิยมอย่างเสแสร้ง นี่คือจุดสำคัญที่พชรทำให้ผู้เขียนสัมผัสได้ว่า ชนชั้นกลางอย่างเราไม่มีวันเข้าใจชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้ผลิตสร้างวัตถุ (material labor) ที่กำลังถูกลบเลือนหายในระบบทุนนิยมกำลังเปลี่ยนรูปร่างไปมีหน้าตาแบบอื่นๆ


อ้างอิง


ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. การมองเห็นทางมานุษยวิทยา, ภาพถ่าย และปัญหาในการทำความเข้าใจคนอื่น. 2561


หมายเหตุ Eternity Village นิทรรศการภาพเขียน โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จัดแสดง วันที่ 11 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2020 ที่ ARTIST+RUN ซอยนราธิวาส 22 เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร


—-


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ศิลปะ #วิจารณ์ #ฤตภัทธ์ #EternityVillage #กุฉินารายณ์ #กาฬสินธุ์


---


สามารถติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander


ไมลด์ www.minds.com/theisaander


บล็อกดิต www.blockdit.com/pages/5ece3fc23a6af2483f799581


ยูทูป www.youtube.com/channel/UC8TPsm5N-OLnW4P97BXTtqQ

451 views0 comments

Comments


bottom of page