ทุกท่านน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477(ถ้านับปีใหม่ในเดือนมกราคม เช่น ปัจจุบัน ท่านทรงราชย์ในปี 2478) ตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา
แต่น่าเสียดายที่ ท่านครองราชย์ได้เพียง 11 ปี 99 วัน หลังจากต้องพระแสงปืน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 กระทั่งวันที่ 29 มีนาคม 2493 ได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ขึ้นที่ท้องสนามหลวง
ในหนังสือ “มหาอานันทานุสรณ์ พระราชหัตถเลขา และบทพระราชนิพนธ์” ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช(ในขณะนั้น) ได้ทรงนิพนธ์ถึง พระราชานุกิจของพระเชษฐา ดังนี้
ตามปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นเวลาเช้าระหว่าง 08.30 น. ถึง 09.00 น. นอกจากทรงมีราชกิจบางอย่าง เช่น เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกรมกองทหารหรือสถานที่อื่นๆ ก็ตื่นบรรทมเวลาย่ำรุ่งหรือก่อนย่ำรุ่ง
เมื่อสรงและแต่งพระองค์แล้ว เสด็จมายังห้องพระบรรทมสมเด็จพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีก่อน แล้วจึงเสด็จเสวยเครื่องเช้าพร้อมกันที่มุขพระที่นั่งด้านหน้าเวลาราว 09.00 น. ถึง 09.30 น. บางวันทรงพระอักษร(หนังสือพิมพ์) ก่อนเสวย เสวยเสร็จแล้วเสด็จทรงพระอักษรหรือตรัสเรื่องต่างๆ กับสมเด็จพระราชชนนี
เวลา 10.00 น. ถึง 10.30 น. ราชเลขานุการในพระองค์เฝ้าถวายหนังสือราชการทุกวันอังคารและศุกร์ ถ้ามีงานพระราชพิธี ก็เสด็จพระราชดำเนินตามกำหนด 11.00 น. ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้างสับเปลี่ยนกันเป็นวันๆ ดังนี้ คือ 1. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา 2. ข้าราชการในกระทรวงและกรมต่างๆ ผลัดกันเฝ้าถวายรายงานกิจการตามหน้าที่ บางวันมีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า 3. เสด็จงานพระราชพิธี 4. ถ้าไม่มีการเฝ้าหรือพระราชกิจอื่นใด ก็มักจะทรงอักษร บางวันทรงรถยนต์ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เวลา 12.30 น. เสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชา เสวยเครื่องฝรั่งและไทย ส่วนเครื่องเสวยนั้นโปรดเกล้าฯให้ลดจำนวนโดยเฉพาะเครื่องฝรั่งซึ่งเคยตั้งโต๊ะเสวยมาแต่ก่อนนั้นลงเสียบ้าง ด้วยทรงพระราชดำริว่ามากเกินไป โปรดเกล้าฯให้บรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ที่ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วยบางโอกาส บางวันเสด็จลงเสวยกลางวันอย่างปิคนิคที่ริมสระในสวนศิวาลัย
ตามธรรมดาเสวยเสร็จภายในเวลาประมาณ 45 นาที แล้วเสด็จจากโต๊ะเสวยทรงปราศรัยเรื่องต่างๆ กับผู้ที่มาร่วมโต๊ะเสวยต่อไป ถ้าไม่มีผู้ใดเฝ้าก็ทรงพักผ่อน
เวลา 15.00 น. ทรงปฏิบัติพระราชกิจบ้าง ทรงสำราญพระราชอิริยาบถบ้าง ดังนี้ 1. ทรงศึกษาภาษาไทยและพระพุทธศาสนา 2. ข้าราชการ ชาวต่างประเทศ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า 3. หากไม่มีพระราชกิจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มักจะทรงสำราญพระราชหฤทัยกับสมเด็จพระอนุชา
เวลา 16.00 น. เสวยเครื่องว่างบนพระที่นั่งเป็นปกติ นอกจากบางครั้งเสด็จลงเสวยที่ริมสระน้ำในสวนศิวาลัย เครื่องเสวยว่างแล้ว ถ้าไม่มีงานพระราชพิธีหรือไม่ทรงมีพระราชกิจอื่นใด ก็เสด็จสังสระปทุมเฝ้าเยี่ยมสมเด็จพระอัยยิกาบ้าง เสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติอื่นบ้าง มิฉะนั้นก็เสด็จประพาสพระนคร ทอดพระเนตรพระอารามและสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ถ้าไม่เสด็จประพาสหรือมีพระราชกิจอื่นใด ก็มักจะเสด็จลงทรงสำราญพระราชอิริยาบถกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชา หรือทรงกีฬาบางอย่างเพื่อเป็นการบำรุงพระราชอนามัย แล้วเสด็จขึ้นทรงพักผ่อนเวลาประมาณ 18.00 น.
เวลา 19.00 น. เสด็จลงประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระอนุชา บางวันโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ทรงคุ้นเคยร่วมโต๊ะเสวยด้วย เสวยเสร็จแล้วทรงปราศรัยเรื่องต่างๆ กับผู้มาร่วมโต๊ะเสวย
ภายหลังเวลาเสวยแล้ว ทรงพระราชกิจเปลี่ยนแปลงเป็นวันๆ ดังนี้ คือ 1. พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ หรือผู้ทรงคุ้นเคยเข้าเฝ้า 2. ทรงพระราขสำราญในการดนตรีกับสมเด็จพระอนุชา พร้อมด้วยนักดนตรีหรือผู้สนใจในการดนตรีที่เข้ามาเฝ้าร่วมด้วย 3. บางวันเสด็จลงทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละคร หรือทรงฟังดนตรีในโรงละครสวนศิวาลัย 4. บางวันเสด็จทรงรถพระที่นั่งประพาสพระนครไปรเวต บางทีทรงขับเอง 5. บางวันทรงพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชา และมหาดเล็กภายในบริเวณพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์ แล้วเสด็จมาเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีก่อนบรรทม
เสด็จเข้าที่บรรทมประมาณ 22.00 น. เป็นปกติ
แน่นอน รูป และวิดีโองานพระราชพิธีถวายพระเพลิง อาจจะเคยถูกเผยแพร่ไปบ้างในสื่อ และฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นมุมมองจากช่างภาพชาวไทย แต่ภาพที่ท่านกำลังดูอยู่นี้เป็นภาพจากกล้องของชาวต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่ามีคนไทยน้อยคนที่เคยเห็น เพราะ ภาพเหล่านี้ถูกรวบรวมและเก็บไว้ในฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยมิลวอกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ดิ อีสานเด้อ เพิ่งค้นพบระหว่างการหาข้อมูลประกอบการเขียนงานชุด “ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา” กับ สำนักข่าวประชาไท https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
โดยผู้ถ่ายภาพ คือ Robert L. Pendleton ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา ชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่ยุค 2480 ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการค้นหาและพัฒนาข้าวในประเทศไทย โดยในชุดภาพชุดนี้ เราจะได้ พระราชประเพณี และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งอดีตด้วย
--- #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #รัชกาลที่8 #พระราชกรณียกิจสุดท้าย #รัชกาลที่9 #ในหลวง #ประชาธิปไตย #ปฏิรูป
---
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้ ---
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
コメント