ในอดีตผืนดินทุ่งกลาร้องไห้ แห้งแล้ง และเค็มมาก จนหลายพื้นที่สามารถทำ “นาเกลือ” แทน “นาข้าวได้” และนี่คือนาเกลือในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี 2483 (ที่มา: Robert L. Pendleton ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)
The Beginning of ทุ่งกุลาร้องไห้
“ทุ่งกุลา ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้ง แต่ความจริงแล้วเคยเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มากเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว มีประชากรหนาแน่นที่สุดใน Mainland Southeast Asia”
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการหนังสือ ‘ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ 2,500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหมอ’ กล่าวประโยคข้างต้นผ่านไมโครโฟนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดในงานเสวนา ‘ทุ่งกุลากับอาเซียน’ เมื่อปี 2558 เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์เชิงภูมิศาสตร์-วัฒนธรรมของ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ โดยชี้ว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อนทำให้รู้ว่า ดินแดนที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตเหล็กและเกลือสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเหล็กเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ค้าขาย และการสร้างเมืองใหญ่ๆในยุคอดีต
“คน (ที่อาศัยอยู่ใน) ทุ่งกุลา (แต่ไม่ใช่คนที่ถูกเรียกว่าเผ่ากุลา) ดั้งเดิมจะค่อยๆ เคลื่อนย้ายไปหลัง พ.ศ. 1700 โดยประมาณ หรือช่วงที่สุโขทัยกำลังก่อตัวขึ้น โดยอพยพไปหาพื้นที่ที่มีน้ำ เช่น ทะเลสาบกัมพูชา และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากนั้นมีคนกลุ่มใหม่เคลื่อนย้ายเข้ามาแทนที่คือ คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงหรือลาว กระทั่งสืบทอดมาเป็นจังหวัดต่างๆ จนปัจจุบัน”
จากคำอธิบายของสุจิตต์ ทำให้เราสามารถจำแนกกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้ 3 กลุ่ม คือ 1. คนในยุคเมื่อ 2,500 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบัน อพยพไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำแล้ว 2. คนลาวที่เข้ามาอยู่แทนที่คนพื้นถิ่น ซึ่งกลายเป็นบรรพบุรุษ-บรรพสตรีของคนอีสาน และ 3. คนที่ถูกเรียกว่า ‘กุลา’ อันเป็นที่มาของชื่อทุ่งกุลาร้องไห้
“คำว่า ‘กุลา’ มันเข้ามาอยู่ในสยามตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเอกสารก็มีคำว่า กุลา แล้ว แต่หมายถึงกลุ่มเบงกอล แต่สำหรับทุ่งกุลาร้องไห้ คำว่า กุลานี้มันมีความหมาย 1. คือ กลุ่มไทใหญ่ 2. กลุ่มต้องสู้ ตระกูลธิเบต-พม่า”
สุจิตต์ อธิบายว่า ชาวกุลา (ไทใหญ่) อพยพไปทั่วพื้นที่ ไทย-กัมพูชา โดยในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า เป็นช่างเจียรไนพลอยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ในสมัยปัจจุบันยังพบวัฒนธรรมประเพณีไทใหญ่ในประเทศกัมพูชา ส่วนในอีสานพบกลุ่ม ‘กุลา’ ที่รู้ว่าตัวเองเป็น ‘ไทใหญ่’ หลายกลุ่มแต่กลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ในอำเภอ ‘เขื่องใน’ จังหวัดอุบลราชธานี
“ท้องทุ่งแห้งแล้งที่ภาคอีสาน มีชื่อกล่าวขาน ทุ่งกุลาร้องไห้
เหลียวสุดขอบฟ้ารำไร แผ่นดินกว้างใหญ่ แล้งดั่งไฟแผดผลาญ
เขาเล่าไว้เป็นนิทาน ท้องทุ่งนี้มีช้านาน ไร่นาแสนกันดาร แห้งแล้งใจหาย
ครั้งหนึ่งพ่อค้าชาวเผ่ากุลา เดินดั้นด้นมา ทุ่งกันดารแสนเหนื่อยหน่าย
ร้อนแดดแผดเผาเจียนตาย ดั่งทะเลทราย หาจุดหมายเมื่อยล้า
เห็นขอบฟ้าไกลลิบตา แสนเหนื่อยเพราะเดินหลงมา หมดความหวังปัญญา กอดเข่า ร้องไห้”
กังวาลเสียงของศักดิ์สยาม เพชรชมพู แล่นผ่านลำโพงมากระทบหูของเรา ด้านหนึ่งคือเพลงเศร้าเคล้ารันทด ด้านหนึ่งคือ เศษเสี้ยวของตำนานอันเป็นที่มาของชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’
ความจริงแล้วตำนานทุ่งกุลาร้องไห้มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายราว หลายตัวละคร แต่ถ้าเป็นสากล และย่นย่อที่สุดคงต้องบอกว่า ชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ มาจากสมัยอดีตที่ ‘ชาวกุลา’ ในฐานะพ่อค้าเร่เลือดพม่าเดินทางผ่านดินแดนแห่งนี้ แล้วต้องพบกับความแห้งแล้งที่ทำร้ายพวกเขาจนต้องหลั่งน้ำตา บ้างว่าการเดินทางผ่านทุ่งแห่งนี้ยากลำเค็ญเพราะภูมิอากาศแสนโหดเหี้ยม จนต้องทิ้งสินค้าที่ขนมาเพื่อลดภาระการแบกหาม เรื่องเล่าเหล่านี้ถูกกล่าวขานว่าเป็นที่มาของชื่อ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’
สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander
ภาพถ่าย : ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries ถ่ายโดย Robert L. Pendleton
รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
---
ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments