หอมมะลิและชาวนา ทุ่งกุลาร้องไห้ในวิกฤตความแล้ง
หลังจากได้คุยกับชาวนาจำนวนมากเท่านิ้วบนมือซ้ายและขวาก็พบว่า ไม่มีสักหนึ่งรายที่เถียงเรื่องความแล้งในปี 2563 ไม่มีสักหนึ่งชาวนาที่บอกว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกผิดเวลาที่ควรจะตก ไม่มีคำพูดทำนองว่า “ทุ่งกุลานี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในเล้ามีไก่ ในไหมีปลาแดก” เพราะเมื่อถามถึงความแล้ง ทุกคนลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์เหมือน ส.ว. ยกมือเลือกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ช่วงที่ผ่านมา ทั้งแล้งและฝนมาช้าผิดปกติ” ส่วนกระทบมากกระทบน้อยก็แตกต่างบ้างตามพื้นที่ พื้นถิ่น เดือดร้อนจากภัยแล้งหรือไม่ ก็ตอบเลยว่า ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนเมืองที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19
“ปี 63 เจอภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นโรคโคนเน่า มิถุนา แล้งหนักฝนทิ้งช่วง ข้าวในนาจะตาย ไหม้เป็นสีแดง พอมากรกฎา-สิงหา ฝนตกติดต่อกันไม่หยุด ฟ้าไม่เปิดเลยนานเป็นเดือน ข้าวก็เป็นโรคเชื้อรา เป็นจุดด่าง เราทำนาน้ำฝน ถ้าเจอปัญหาแล้งก็แก้อะไรไม่ได้ ต้องรอฝนอย่างเดียว” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ กล่าว
“สภาพอากาศในวันนี้กับ 10 ปีที่แล้วแตกต่างกันเยอะ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล แดดเยอะ ร้อนเยอะ ฝนน้อย หนาวน้อย ปกติเดือนพฤษภาจะเริ่มมีการไถและปักดำไปเรื่อยๆ น้ำจะเยอะช่วงกรกฎา- สิงหา เต็มที่คือไม่เกินเดือนตุลา ตอนนี้ ต้องเริ่มไถช่วงมิถุนา-กรกฎา-สิงหา เพราะฝนไม่มา ฝนมาช้า พอช่วงที่ต้องแห้ง คือปลายพฤศจิกา-ตุลา น้ำก็เยอะเกิน พอข้าวจะออก น้ำไหลออกไม่ทัน ข้าวก็ไม่เกิดความหอม” บุญทอม บุญรัตย์ เกษตรกร และข้าราชการบำนาญวัย 63 ปี จากพยัคฆภูมิพิสัย บอกกับเรา
จากคำพูดของชาวนา 10 คน ในต่างพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ โดยผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้มีอายุเฉลี่ย 57 ปี มีคนที่อายุน้อยที่สุดคือ 44 ปี และมากที่สุดคือ 63 ปี ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเห็นสภาพอากาศของทุ่งกุลาร้องไห้มาหลายฝน หลายแล้ง ซึ่งเว็บไซต์ข่าวดิ อีสานเด้อ รายงานว่า 100 เปอร์เซ็นต์บอกว่าปี 2563 มีฝนน้อยและทิ้งช่วง และทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น
เมื่อถามว่า สภาพอากาศของทุ่งกุลาร้องไห้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลานานแค่ไหนแล้ว มีถึง 6 จาก 10 คนที่พูดตรงกันว่า แล้งมาหลายปี แต่ 3 - 5 ปีล่าสุดนี้แล้งกว่าปกติ โดย 2 ใน 10 คน ยืนยันว่า ความผิดปกติของฟ้า-ฝนเกิดขึ้นร่วม 10 ปีแล้ว ขณะที่ 4 จาก 10 ชี้ว่า สภาพอากาศแปรปรวนนี้อยู่กับพวกเขามาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
“บ้านผมทำนามาตั้งแต่ ปู่ ยา ตา ยาย สมัยเด็กๆ เดือนมิถุนาฝนก็มาแล้ว ฝนจะหมดหน้ากฐินคือปลายเดือนตุลา ทุกวันนี้เดือนมกรา บางทีฝนก็ตกแล้ว มันแปรปรวน ฝนน้อยกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนถ้าเป็นหน้าฝน ฝนจะมาเรื่อยๆ ถ้ามาแรงๆ ก็มีน้ำหลากมาท่วมนา แต่ส่วนใหญ่ก็ท่วมไม่กี่วัน 1-2 วัน เหมือนเป็นการเติมปุ๋ยให้กับข้าวไปในตัว ทุ่งกุลาเลยเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เป็นระบบนิเวศน์ที่ดี ไม่มีต้นไม้ที่กินน้ำ เดี๋ยวนี้มีการปลูกต้นยูคา มีการใช้สารเคมี ผมว่ามันทำให้ดินเสียหายเร็วกว่าเก่า ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนผู้หญิงที่ใช้เครื่องสำอางมากเกินไป สารเคมีมันตกค้าง ไม่เหมือนกับของเดิม ธรรมชาติๆ” ณัฐวัฒน์ สีตี สมาชิกวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องเพื่อสุขภาพทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรวิสัย วัย 55 ปี เปรียบเทียบทุ่งกุลาจากอดีตกับปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์และรสนิยมของเขา
นอกจากคำว่า ‘แล้ง’ ตัวเลขผลผลิตข้าวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันผลกระทบได้ชัดเจนกว่าแค่ตัวอักษร โดยจากการสุ่มถามปากเปล่าชาวนา 10 คนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของร้อยเอ็ด ยโสธร มหาสารคาม สุรินทร์และศรีสะเกษ พบว่า โดยเฉลี่ยหากพวกเขาทำนาในสภาพอากาศปกติ ฝนตกตามฤดูกาล พวกเขาจะได้ข้าวเฉลี่ยไร่ละ 488 กิโลกรัม โดยพื้นที่อำเภอมหาชนะชัย ยโสธร ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากที่สุดถึง 700 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนพื้นที่ที่ได้น้อยที่สุด คือพยัคฆภูมิพิสัย เฉลี่ย 350 กิโลกรัมต่อไร่
แต่ปี 2563 พบว่า ชาวนาทั้ง 10 คนเดิมได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 375 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพื้นที่มหาชนะชัย ยังมีผลผลิตมากที่สุดคือ ราว 600 กิโลกรัมต่อไร่ และน้อยที่สุดยังเป็นพยัคฆภูมิพิสัยซึ่งได้ 170 กิโลกรัมต่อไร่ โดยระบุว่า นอกจากแล้งจนข้าวในนาบางแปลงตาย โรคระบาดยังมารบกวน และเมื่อดูคุณภาพของผลผลิตก็ยังพบว่า ไม่สมบูรณ์ เม็ดข้าวมีน้ำหนักน้อยผิดปกติ “บางแปลงเราสูญเสียมาก ไม่ได้เลยก็มี ต้องลงทุนมากกว่าผลผลิตที่ได้ บางแปลงได้ 350 - 400 โล บางแปลงได้ 100 กว่าโล ไม่ถึง 200 กิโล เราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีชลประทาน ต้องพึ่งพาฝนผมมีนา 70 ไร่ ได้ผลผลิต 10 ตัน พื้นที่ตรงนี้ถือว่าแล้งมาก เจาะบาดาลแล้วเจอแต่น้ำเค็ม ถ้าขายข้าวสด คือเกี่ยวมาขายเลยในเดือนตุลาได้โลละ 7 บาท พฤศจิกากระเตื้องมาเป็น 9 - 10 บาท ข้าวแห้งราคาโรงสีสหกรณ์ 12.30 บาท ถ้าขึ้นทะเบียนวิสาหกิจขายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวได้มาตรฐานประกันราคาได้ 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลุ่มก็ไม่สามารถรับจากชาวนาได้ทั้งหมด เพราะยังทำตลาดได้ไม่ดีพอ” สมภพ ลุนาบุตร ชาวนาเกษตรวิสัย กล่าว
หากแปลข้อมูลที่สมภพให้กับเราพบว่า ข้าว 10,000 กิโลกรัมที่เขาเกี่ยวได้จากนาในปี 2563 ถ้าขายในราคาที่แพงที่สุด คือขายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ราคาประกัน 15 บาท เขาจะได้เงิน 150,000 บาท ฟังดูเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่นั่นหมายความว่า เขาต้องใช้เวลาดูแลนาอย่างดี 5 เดือน และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เขาต้องจ่ายระหว่างทาง
“แม่บ้านผมทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่อไร่ คือไถดะ ไถพรวน 3 รอบ รวม 600 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ 280 บาทต่อไร่ ปุ๋ยมูลวัวตกไร่ละ 500 บาท ค่าตัด ค่ากำจัดวัชพืชไร่ละ 150 บาท ถ้านาไหนต้องสูบน้ำใส่ก็มีค่าสูบไร่ละ 100-150 บาท หากไม่สูบผลผลิตก็จะน้อยลงมาก ค่าเกี่ยวอีกไร่ละ 200 บาท นี่เกษตรกรไม่ได้คิดค่าไปนา ค่าดูแล ยังไม่ได้คิดค่าแรงงานของตัวเองเลยนะ” สมภพ กล่าว
จากข้อมูลข้างต้นเมื่อบวกลบ คูณ หาร สมภพจะใช้เงินในการดูแลนาข้าวของเขาตกไร่ละ 1,830-1,880 บาท เขามีนาอยู่ 70 ไร่ ทำให้เขามีค่าใช้จ่ายถึง 128,100 บาทในการดูแล เมื่อหักลบจากเงินที่เขาได้ 150,000 บาท เขาจะเหลือเงินเพียง 21,900 บาทจากสิ่งที่เขาต้องคอยดูแลตลอด 150 วันในปี 2563
“ขอบคุณมากนะครับที่ชวนคุยเรื่องนี้” สมภพขอบคุณเราถึง 3 รอบ ที่เราสนใจปัญหาที่เขาต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม สมภพและเพื่อนชาวนาของเขา ไม่ได้งอมืองอเท้ารอการช่วยเหลือ พวกเขาพยายามหาทางรอดด้วยตัวของเขาเองมาตลอด
“ผมทำนาจริงจังตอนปี 49 แล้วปี 58 เจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำขายได้ 5 บาทต่อกิโล เก็บเกี่ยวได้ก็เอาข้าวใส่รถไปโรงสี ดั้มราคาใส่กัน ได้ราคาถูกก็ต้องขาย เราเคยแบกข้าวสาร 800 กิโลไปขายที่กรุงเทพ มันหนักมากเลยนะ จะให้ขนกลับก็ไม่ไหว เราก็ต้องขาย ทำอะไรไม่ได้ เพราะขนผีไปถึงป่าช้าแล้วก็ต้องเผา” สมภพ เล่าย้อนอดีต
“เรามาคิดว่า เราทำนาขายข้าวได้ราคาถูกมากๆ แต่ข้าวในห้างยังราคาเท่าเดิม ข้าวที่ลูกหลานที่ไปเรียนในกรุงเทพฯ ซื้อกินยังราคาแพงเท่าเดิม เราเลยรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง วางแผนร่วมกันว่าจะทำตลาดยังไง ขายยังไง ปลูกอะไร มาช่วยกันขาย ไม่ต้องไปขายแข่งกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็พอจะเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาในกลุ่มได้บ้าง เรารวมกันสร้างเป็นแบรนด์ท้องถิ่น สร้างสินค้าชุมชน เชิญหน่วยงานมาสอนแปรรูป มาบดเป็นแป้ง ทำแคร็กเกอร์ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่ปัจจุบันเราก็ยังทำตลาดได้ไม่ดีนัก” ชาวนาวัย 44 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าว
สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander
รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
ภาพถ่าย : ดลวรรฒ สุนสุข
ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments