รัฐควรช่วยชาวนายังไง ? - ชาวนาควรสู้ยังไง ?
“หากเป็นไปได้รัฐควรจัดสรรระบบชลประทานให้เข้าถึงพื้นที่ปลูกข้าว ชลประทานเองก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงไหนเป็นช่วงที่ควรจะปล่อยน้ำให้กับนา ช่วงไหนควรจะลดน้ำเพื่อให้อิทธิพลของความเค็มและความแล้งสร้างความหอม การจัดการน้ำที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของข้าว คือแนวทางที่ดีที่สุด ถ้ามีระบบชลประทานการหยุดปล่อยน้ำ 10 - 14 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวจะส่งผลดีกับข้าวหอมมะลิ แต่ 3 - 4 เดือนแรกควรจัดน้ำให้ประชาชนเลย การสร้างชลประทาน และการจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ” ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ดร.จิรวัฒน์ ชี้ว่า ระบบชลประทานที่ดีจะส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลผลิตในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและเข้าใจกับลักษณะนิสัยของข้าวจะช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้กับชาวนาด้วย อย่างไรก็ตาม ดร.จิรวัฒน์ เห็นว่า การสร้างชลประทานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยังมีอุปสรรคอยู่ เนื่องจากกายภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ไม่เอื้ออำนวย
“ปัญหาเชิงภูมิศาสตร์ ปัญหาระดับพื้นที่เป็นอุปสรรคของการจัดการชลประทาน เพราะไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมดจะสร้างระบบชลประทานได้ มันมีพื้นที่บางพื้นที่สูงและบางพื้นที่ต่ำ แม้จะสร้างเขื่อนได้หรือระบบชลประทานได้ แต่ปริมาณฝนก็เป็นอุปสรรค เนื่องจากภาคอีสานมีปริมาณฝนเฉลี่ยที่น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ (ในขอนแก่น) ไม่สามารถให้น้ำแก่ภาคเกษตรได้เลยตั้งแต่ปี 61 เพราะ 3 ปีมาแล้วที่แล้งต่อๆ กันมา มีปี 64 ตอนนี้เริ่มระบายมาให้เกษตรกรทำนาปรังได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือ ดินในอีสานเป็นดินทรายการซึมน้ำเยอะ ไม่เหมือนภาคกลางที่เป็นดินเหนียว”
เมื่อให้ ดร.จิรวัฒน์ แนะนำ ‘ทางชนะ’ เพื่อให้ ‘ชาวนา’ ชนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวรายนี้ ได้ให้ 3 แนวทางที่อาจจะพอทำให้ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ผ่านพ้นฤดูแล้งไปได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก
“ถ้าไม่สามารถจัดการเรื่องน้ำได้ ถ้าชาวนารู้ว่า ปีนี้จะแล้งแน่ สิ่งที่จะช่วยได้คือ เปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่จะปลูกให้เหมาะสม โดยอาจเปลี่ยนจากหอมมะลิ 105 เป็น กข 15 ซึ่งเป็นข้าวที่พัฒนามาจากหอมมะลิ 105 โดยการอาบรังสี ทำให้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นลง อาจจะสามารถช่วยให้หลบภาวะฝนทิ้งช่วงหรือแล้งได้ระดับหนึ่ง เพราะพันธุ์ที่สามารถทนได้ในสภาพแล้งจัดเราก็ยังไม่มี”
หรือควรจะเปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์อื่น? เราถามอาจารย์จิรวัฒน์ แต่ในทันทีเขารีบตอบกลับว่า
“เกษตรกรทุ่งกุลา ผมไม่แนะนำให้ปลูกข้าวพันธุ์อื่นเลย นอกจากหอมมะลิ 105, กข 15 และข้าวเหนียว กข 6 เพราะข้าวเหล่านี้มีสารหอมระเหยมาก เหมาะกับทุ่งกุลาที่สุด ธรรมชาติให้ของขวัญชิ้นสำคัญกับคนไทยแล้ว นั่นคือผืนดินที่สร้างข้าวพรีเมี่ยม ดังนั้น ชาวนาควรใช้ดินผืนนี้สร้างรายได้ให้กับครอบครัว สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ผมจึงไม่แนะนำการปลูกข้าวไร่ หรือข้าวพื้นเมืองของที่อื่น แต่จะแนะนำให้ชาวนาปราณีตกับการปลูกหอมมะลิมากขึ้น พยายามอย่าใช้สารเคมี พยายามอย่าทำให้ปนเปื้อนข้าวพันธุ์อื่น และเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ใช้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการปลูกข้าวท้องถิ่นจากที่อื่น” อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ท่านเดิมชี้ว่า การเก็บผลผลิตเอาไว้เพื่อรอขายในช่วงที่ได้ราคาดีแทนที่จะขายแบบสด อาจจะเป็นทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตมากกว่าการเปลี่ยนไปปลูกข้าวพันธุ์อื่น
“เป็นธรรมดาที่ผลผลิตจะราคาต่ำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผมแนะนำให้เกษตรกรตากข้าวและเก็บข้าวได้เอง ถือว่าเป็นการออมเงินในแบบข้าว ถ้าเกษตรกรไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินทองมากเกินไป ผมแนะนำให้ชะลอการขายเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น เพราะหากรีบขาย อาจจะด้วยความต้องการใช้เงิน ข้าวสดจะมีราคาต่ำ เพราะถูกตัดราคาด้วยเรื่องความชื้นจากผู้รับซื้อ โดยก่อนฤดูกาลปลูกก็ควรทำความสะอาดนา ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ควรทำความสะอาดเครื่องเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เกิดการปนของข้าวเหนียวหรือพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะทำให้ข้าวถูกตัดราคารับซื้อ” ดร.จิรวัฒน์ ระบุ
ย้อนกลับไปในปี 2559 ที่จังหวัดมหาสารคาม มีชายคนหนึ่งที่ถูกพาขึ้นรถแห่รอบเมือง เขาไม่ใช่นักฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลเป็นแน่ และไม่ใช่เจ้าของแหวนแชมป์ซุปเปอร์โบวล์ 7 สมัยเช่น ทอม เบรดี้ด้วย แต่เขาชื่อ ‘นิยม วรรณปะโพธิ์’ เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคล ในการประกวด ‘ข้าวหอมมะลิระดับประเทศ จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประจำปี 2559’ อะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนั้น อะไรคือเคล็ดลับสู่ชัยชนะ นั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้และเราเชื่อว่า คำตอบของเขาอาจเป็นทางออกให้กับเพื่อนชาวนาได้ไม่มากก็น้อย แม้นาของนิยมจะไม่ได้ตั้งอยู่บนทุ่งกุลาก็ตาม
สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander
รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849
ภาพถ่าย : นนท์ รัฐ / กองบรรณาธิการ ดิ อีสานเด้อ
ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments