top of page
Writer's pictureThe Isaander

ม. 112 กับคดีอีหยังวะ #1: นักเขียนนิยายที่ซวยที่สุดใน 112 โลก



น่ายินดีเหมือนกันนะคะที่ทุกวันนี้ การเรียกร้องให้ยกเลิก ม. 112 กลายเป็นถนนสุขุมวิทของเส้นทางประชาธิปไตยไทย เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้า ม. 112 พูดได้ว่า แย่กว่าทางหลวงชนบทก็ไม่ผิด ออกแนวถนนหมู่บ้านที่ อบต. สร้างไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ การพูดเรื่อง ม. 112 ในที่สาธารณะ ต้องลดโวลุ่มจนแทบจะเป็นการสื่อสารด้วยโทรจิต คนที่เคลื่อนไหวเรื่อง ม. 112 อย่างจริงจัง มักกลายเป็นเป้าซะยิ่งกว่าสายัณห์ สัญญา สำหรับฝ่ายความมั่นคง


วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยถูกต่อย เพราะแค่เสนอให้แก้ไข ม. 112, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เจ้าของประโยค “ยกเลิก 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เคยถูกบุกยิงถึงบ้านพักมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า การเอ่ยถึง ม. 112 อันตรายแค่ไหนในอดีต


เมื่อ ม. 112 กลายเป็นกระแสหลัก


ฉันในฐานะ นักข่าวสาววัยรุ่นตอนปลาย-วัยกลางคนตอนต้น ผู้ติดตามปรากฎการณ์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้มาอย่างใกล้ชิดบ้าง ไม่ใกล้ชิดบ้าง จึงอยากจะขอเกาะเกี่ยวกระแสของมัน ด้วยการเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้ระลึกถึงความ “อิหยังวะ” และ “ไปทั่วไปทีป” ของ ม. 112 และเป็นการชี้ให้ผู้สนับสนุนอำนาจนิยมได้เข้าใจว่า กฎหมายที่ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรานี้ มันย่ำแย่ยังไง


ขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ฉันจะเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ปรากฎการณ์ตื่นรู้ครั้งใหญ่ของสังคมในช่วงปี 2563-2564 นะคะ เพราะฉันเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทุกคนน่าจะผ่านหีผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ



นักเขียนนิยายที่ซวยที่สุดใน 112 โลก


สิ่งที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของนิยาย หรือภาพยนตร์นะคะ มันคือเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในดินแดนแห่งร้อยยิ้ม


Harry Nicolaides เป็นคนออสเตรเลียเชื้อสายกรีก เคยเป็นพนักงานโรงแรม ขณะเดียวกันก็เป็นนักเขียนไปด้วย เขาออกนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรกในปี 2545 ปีเดียวกับที่ออกจากงานประจำ


ให้หลังหนึ่งปี เขาเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อแสวงหาบางอย่างในชีวิต เขาพบกับคนรัก และได้สอนวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในเวลาเดียวกันยังคงเขียนคอลัมน์ส่งกลับไปตีพิมพ์ที่ประเทศบ้านเกิด และยังคงมุ่งมั่นเขียนหนังสือนิยายเล่มใหม่


ปี 2548 เขาทำสำเร็จตามหวัง ได้ออกนิยายเล่มที่สอง “Verisimilitude” มีตัวละครหลักชื่อ “ปริศนา” และมีประเทศไทยเป็นฉากหลัก


ไม่แปลกหรอกนะ ถ้าคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักหนังสือเล่มนี้ เพราะมันไม่เคยติดชาร์ตขายดีใดๆ และไม่น่าจะเคยถูกพูดถึงจากนักวิจารณ์คนไหน ไม่เคยคว้ารางวัลซีไรต์ หรือเข้าใกล้เกียรติยศชื่อเสียงเช่นนั้น มันเป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งในหลายร้อย หลายพันเล็มที่ตีพิมพ์ในปีนั้น


ไม่เป็นไร แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนนิยายขายดี แต่งานเขียนคอลัมน์ และงานสอนหนังสือ ยังคงเลี้ยงปากท้องของแฮรี่ได้ และเขายังเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นประจำ


ธันวาคม 2550 เมื่อพรรคพลังประชาชน ในฐานะนอมินีทักษิณ ชนะประชาธิปัตย์ แล้วได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ความผิดหวังซ้ำสองของชนชั้นกลางผลักให้ พันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมอีกคราว ในปี 2551


สถานการณ์ทางการเมืองกลับมากรุ่นร้อน ประเทศนี้ถูกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การดำเนินคดี ม. 112 ก็เลยค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่มีใครทันได้สังเกต แฮรี่เองก็ด้วย เขายังคงใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่เชียงราย


สิงหาคม 2551 ขณะที่แฮรี่ กำลังจะเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ออสเตรเลีย เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัว ณ สนามบิน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กองทัพบกพยายามกดดันให้ตำรวจจริงจังกับการเอาผิด ดา ตอร์ปิโด และโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ในข้อหา ม. 112


การจับกุมแฮรี่ ไม่ถูกเอ่ยถึงในสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์สัญชาติไทย ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย


ตั้งแต่วันที่ถูกจับ แฮรี่ ต้องชีวิตในเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ มาโดยตลอด เขาถูกปฏิเสธการประกันตัวอย่างน้อย 3 ครั้ง บิดาและมารดาที่ออสเตรเลียไม่เคยได้คุยกับลูกชายแม้แต่ครั้งเดียว เพราะในเรือนจำแฮรี่ ถูกห้ามใช้โทรศัพท์


สื่อต่างประเทศรายงานว่า ทางการออสเตรเลียพยายามติดต่อกับแฮรี่ และยื่นเรื่องถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยหลายสิบครั้ง ขณะเดียวกัน ครอบครัวของแฮรี่ก็พยายามผลักดันแคมเปญเรียกร้องให้ปล่อยตัวแฮรี่ อย่างเอิกเริกที่ออสเตรเลียจนเชื่อว่า จิงโจ้บางตัวอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้


19 มกราคม 2552 แฮรี่ถูกนำตัวขึ้นศาล เขาให้การรับสารภาพ ผู้สื่อข่าวจากออสเตรเลียเดินทางมาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทั้งรูปแบบรายงานสด และสารคดีข่าว สำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ เกาะติดเหตุการณ์ อีหยังวะ ครั้งนี้อย่างแน่นหนึบ


วันนั้นเอง แฮรี่ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้เหลือ 3 ปี คราวนี้ สื่อไทยร่วมแรงออกข่าวกับเขาด้วย แต่ระบุเพียงแค่ แฮรี่ถูกตัดสินจำคุก เพราะเขียนหนังสือนิยายที่มีข้อความอันทำให้พระมหากษัตริย์ไทย “เสื่อมเสีย”


จากข้อมูลสิ่งที่ทำให้ แฮรี่ ถูกตัดสินจำคุกถูกเขียนอยู่ในหน้า 115 ของ Verisimilitude ซึ่งผู้เขียนพยายามบรรยายบริบทของสังคมไทยว่า “การมีอนุภรรยา เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แม้กระทั่งสังคมชั้นสูงที่สุด”


แฮรี่เลือกใช้คำว่า “concubine” “mianoi” “prince” “disappear” และ “expunged” โดยเล่าว่า บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว และบางอย่างอาจเป็นแค่ข่าวลือ


ความจริงที่น่าเศร้า คือ ก่อนที่หนังสือจะถูกตีพิมพ์ แฮรี่ ได้ส่งจดหมายไปให้กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักพระราชวัง พิจารณาข้อความในหนังสือเล่มนั้นแล้ว เพราะ คาดเดาได้ว่า มันอาจจะสร้างปัญหาในอนาคต แต่หน่วยงานของรัฐบาลไทยกลับไม่ตอบจดหมายของเขา แฮรี่จึงตัดสินใจตีพิมพ์ และคงไว้ซึ่งข้อความดังกล่าว


เรื่องราวของแฮรี่ ถูกกล่าวถึงในสื่อต่างประเทศหลากหลายสำนัก แน่นอนว่าในมุมมองของประเทศที่เจริญ การดำเนินคดีเช่นนี้เป็นเรื่อง อีหยังวะ แต่สำหรับประเทศไทยในเวลานั้น เรื่องของแฮรี่แทบจะไม่เป็นที่รับรู้


19 กุมภาพันธ์ 2552 แฮรี่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และถูกส่งตัวกลับออสเตรเลียในเที่ยงคืนของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 นับเวลาการใช้ชีวิตในเรือนจำไทยเข้าใกล้ 6 เดือน


ความจริงที่น่าอีหยังวะอีกอย่างคือ Verisimilitude ถูกเก็บไว้ใน “หอสมุดแห่งชาติ” ที่ที่มีรัฐเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ และหากมีความพยายามสักหน่อย ประชาชนทั่วไปสามารถหาอ่านได้ไม่ยาก ในเวอร์ชั่นถ่ายเอกสาร และดิจิทัล


นอกจากการที่ต้องมาติดคุกในประเทศไทยเพียงเพราะเขียนนิยายแล้ว ความจริงที่เจ็บปวดอีกเรื่องสำหรับแฮรี่น่าจะเป็น การที่ Verisimilitude ถูกพิมพ์ออกมาแค่ 50 เล่ม และขายได้เพียง 7 เล่ม


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม







ความเข้าใจเบื้องต้น สำหรับ ม. 112


1. “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” คือ ข้อความทั้งหมดของกฎหมายข้อนี้


2. ม. 112 มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี แต่ถ้าหากนับความผิดเป็นกรรมๆ อาจรวมๆกันได้หลายสิบปี เช่น คดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 87 ปี แล้วลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งแม้จะลดโทษแล้วก็ยังมีระยะเวลายาวนานกว่าคดีฆ่าคนตายหลายคดี


3. ม. 112 เป็นคดีอาญาที่ใครฟ้องก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักพระราชวัง บางครั้งเราจึงเห็นการกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกล และเสียเวลา เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง ม. 112 ที่ขอนแก่น ทั้งที่ตัวเขาเองอยู่ กทม. รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นที่ กทม.


4. ม. 112 มักถูกพิจารณาในชั้นศาลแบบปิดลับ ทำให้สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ไม่อาจทราบได้ว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการพิจารณาดำเนินการไปแบบใด เช่น คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ของไผ่ ดาวดิน ซึ่งพิจารณาแบบปิดลับ อนุญาตให้เพียงไผ่ และทนายความอยู่ในห้องพิจารณา


5. ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินปกติ และบ่อยครั้งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหา ม. 112 จำนวนหนึ่ง จึงเลือกที่จะรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี ด้วยฐานคิดที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" ตัวอย่างของคนที่เลือกสารภาพ คือ ไผ่ ดาวดิน เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ ธเนตร อนันตวงษ์ เลือกที่จะสู้ ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่เขาก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 4 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว



บทความ : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี


ขอบคุณภาพจาก https://www.neweurope.eu/





ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้



เว็บไซต์ www.theisaander.com

เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander

381 views0 comments

Comments


bottom of page