(รูปไม่เกี่ยวกับเนื้อหา)
4 มกราคม 2561 นูรฮายาตี หญิงสาวตาบอดอายุ 24 ปี ชาวยะลา ถูกศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา จากความผิด ตาม ม. 112
สำหรับจุดเริ่มต้นของคดี ต้องย้อนกลับไป 2 ปี ในเดือนตุลาคม 2559 หลังการสวรรคตของในหลวง ร. 9 ตามฟ้อง การกระทำของเธอเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 13-18 ตุลาคม 2559
นูรฮายาตี นำเนื้อหาในบทความที่เขียนโดยใจ อึ๊งภากรณ์ บนเว็บไซต์ https://turnleftthai.wordpress.com/ มาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว รวมทั้งใส่ความคิดเห็นประกอบไปด้วย ข้อมูลไม่ได้ระบุว่า ข้อความดังกล่าวเขียนอย่างไร มีคนเห็น หรือแสดงความเห็นต่อข้อความ และกดถูกใจมากน้อยแค่ไหน แต่มันทำให้เธอถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ม. 112
เมื่อทราบว่า นูรฮายาตี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา วันที่ 22 ตุลาคม ปีเดียวกัน ญาติได้พาเธอเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ให้ประกันตัวโดยไม่ต้องฝากขัง หลังจากนั้น มีการนัดเธอเพื่อไปให้ปากคำ และพบพนักงานอัยการหลายครั้ง นูรฮายาตี ปฏิบัติตามหมายนัดไม่เคยหนี หรือขาด
พฤศจิกายน 2560 สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 3 ภาค 9 ส่งฟ้องเธอต่อศาลในข้อหา ม. 112 เธอรับสารภาพในชั้นศาลว่า เธอใช้โปรแกรม Smartvoice สำหรับผู้พิการทางสายตาช่วยในการเขียนข้อความดังกล่าวจริง
“...” ฉันไม่รู้หรอกว่า เธอเขียนข้อความนั้นว่าอย่างไร และอาฆาต มาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์อย่างไร
แต่ในคำตัดสิน ศาลระบุว่า “คดีแบบนี้รอลงอาญาไม่ได้” แม้ เรือนจำและญาติจะต้องการให้เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว (ระหว่างดำเนินการยื่นอุทธรณ์) เพราะไม่อยากให้เกิดความลำบากในการดูแลระหว่างคุมขัง แต่ด้วยครอบครัวของ นูรฮายาตี ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ 3.5 แสนบาท มาประกันตัวได้ เธอจึงถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำ
ความเห็นของฉันคือ ผู้พิการทางสายตาค่ะ ไม่ใช่นาตาชา โรมานอฟ จะได้ต้องกลัวการหลบหนีขนาดตั้งค่าประกันระดับรถอีโค่คาร์
ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดคงต้องขออนุญาตยก เคสทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แล้วหนี อื้อหือ ขับรถซุปเปอร์คาร์ชนคนตาย แถมยังหนีไปซ่อน พยายามให้ลูกจ้างรับผิดแทน คดีนี้ ของคนคนนี้ กลับได้ประกันง่ายๆ ในราคา 5 แสนบาท และทุกวันนี้ยังไม่ต้องรับโทษหรือแม้แต่เข้าประกบวนการพิสูจน์ความผิด แว่วว่า เขาคนนั้น ในฐานะผู้ต้องหายังคงใช้ชีวิตดีๆ อยู่ในต่างประเทศอีกด้วย
แต่ยังก่อนค่ะ ความ “อีหยังวะ” ของคดีนี้ ไม่ได้มีแค่นั้น วันที่ 23 มกราคม 2561 นูรฮายาตี ได้รับการประกันตัวโดย “บุคคลที่ญาติและทนายก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร” แต่โดยรวมแล้ว นูรฮายาตีต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์
หลังจากที่เธอได้รับการปล่อยตัว ทนายความของ นูรฮายาตี เปิดเผยกับสื่อว่า จะยื่นขอต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ แต่ถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าของคดีเพิ่มเติม ปัจจุบัน ทนายคนดังกล่าว กลายเป็น ส.ส. สังกัดพรรคพลังประชารัฐ มีชื่อเป็น กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมี สิระ เจนจาคะ เป็นประธานด้วย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
https://freedom.ilaw.or.th/th/case/813#detail
น่ายินดีเหมือนกันนะคะที่ทุกวันนี้ การเรียกร้องให้ยกเลิก ม. 112 กลายเป็นถนนสุขุมวิทของเส้นทางประชาธิปไตยไทย เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้า ม. 112 พูดได้ว่า แย่กว่าทางหลวงชนบทก็ไม่ผิด ออกแนวถนนหมู่บ้านที่ อบต. สร้างไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ การพูดเรื่อง ม. 112 ในที่สาธารณะ ต้องลดโวลุ่มจนแทบจะเป็นการสื่อสารด้วยโทรจิต คนที่เคลื่อนไหวเรื่อง ม. 112 อย่างจริงจัง มักกลายเป็นเป้าซะยิ่งกว่าสายัณห์ สัญญา สำหรับฝ่ายความมั่นคง
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยถูกต่อย เพราะแค่เสนอให้แก้ไข ม. 112, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เจ้าของประโยค “ยกเลิก 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เคยถูกบุกยิงถึงบ้านพักมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า การเอ่ยถึง ม. 112 อันตรายแค่ไหนในอดีต
เมื่อ ม. 112 กลายเป็นกระแสหลัก
ฉันในฐานะ นักข่าวสาววัยรุ่นตอนปลาย-วัยกลางคนตอนต้น ผู้ติดตามปรากฎการณ์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้มาอย่างใกล้ชิดบ้าง ไม่ใกล้ชิดบ้าง จึงอยากจะขอเกาะเกี่ยวกระแสของมัน ด้วยการเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้ระลึกถึงความ “อิหยังวะ” และ “ไปทั่วไปทีป” ของ ม. 112 และเป็นการชี้ให้ผู้สนับสนุนอำนาจนิยมได้เข้าใจว่า กฎหมายที่ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรานี้ มันย่ำแย่ยังไง
ขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ฉันจะเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ปรากฎการณ์ตื่นรู้ครั้งใหญ่ของสังคมในช่วงปี 2563-2564 นะคะ เพราะฉันเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทุกคนน่าจะผ่านหีผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ
ความเข้าใจเบื้องต้น สำหรับ ม. 112
1. “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” คือ ข้อความทั้งหมดของกฎหมายข้อนี้
2. ม. 112 มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี แต่ถ้าหากนับความผิดเป็นกรรมๆ อาจรวมๆกันได้หลายสิบปี เช่น คดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 87 ปี แล้วลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งแม้จะลดโทษแล้วก็ยังมีระยะเวลายาวนานกว่าคดีฆ่าคนตายหลายคดี
3. ม. 112 เป็นคดีอาญาที่ใครฟ้องก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักพระราชวัง บางครั้งเราจึงเห็นการกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกล และเสียเวลา เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง ม. 112 ที่ขอนแก่น ทั้งที่ตัวเขาเองอยู่ กทม. รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นที่ กทม.
4. ม. 112 มักถูกพิจารณาในชั้นศาลแบบปิดลับ ทำให้สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ไม่อาจทราบได้ว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการพิจารณาดำเนินการไปแบบใด เช่น คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ของไผ่ ดาวดิน ซึ่งพิจารณาแบบปิดลับ อนุญาตให้เพียงไผ่ และทนายความอยู่ในห้องพิจารณา
5. ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินปกติ และบ่อยครั้งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหา ม. 112 จำนวนหนึ่ง จึงเลือกที่จะรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี ด้วยฐานคิดที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" ตัวอย่างของคนที่เลือกสารภาพ คือ ไผ่ ดาวดิน เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ ธเนตร อนันตวงษ์ เลือกที่จะสู้ ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่เขาก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 4 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว
บทความ : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #112 #ม112 #กฎหมายหมิ่น #กฎหมายอาญา #อีหยังวะ #ยกเลิก #แก้ไข #ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ #28กรกฎา
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments