เรื่องและภาพ : สมานฉันท์ พุทธจักร
ฟ้าสงบไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืน แต่จมูกยังได้กลิ่นฝน พบตัวเองอยู่ริมอ่างเก็บน้ำใกล้กับตีนภูเขา ลึกเข้าไปในพื้นที่ทำการเพาะปลูก กว่าจะมาถึงได้ต้องจอดรถถามเส้นทางกับผู้คนรวมๆแล้วเกือบสิบปาก ในอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่ชายแดนเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ ไทย - ลาว – กัมพูชา ที่ถูกเรียกว่า “สามเหลี่ยมมรกต” แน่นอนว่าหากข้ามภูเขาลูกดังกล่าวไป จะพบตัวเราตกอยู่ในเขตแดนของเพื่อนบ้าน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเขตแดนของกัมพูชาหรือลาวกันแน่
ว่ากันว่าอ่างเก็บน้ำนี้เคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประจำ “หมู่บ้านแปดอุ้ม” แม้จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไรหลงเหลือเป็นพยาน รอบๆที่น่าจะเคยเป็นบ้านเรือนผู้คนก็กลายเป็นไร่สวนเกษตรไปหมด แต่ทุกคนที่หยุดแวะถามระหว่างทางต่างบอกตรงกันว่า ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแปดอุ้ม เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ใช้กำลังอาวุธกวาดต้อนชาวบ้านแปดอุ้ม ไปอยู่ในฝั่งเขมร ทิ้งหายให้กลายเป็นหมู่บ้านร้างผู้คน
ไปตามเส้นทางปฏิวัติ
หลังเสียงปืนแตกอันเป็นจุดเริ่มสงครามประชาชน ได้ราว 3-4 ปี พา พลศรี หนุ่มวัยกระทง ชาวบ้านอำเภอพิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี ตัดสินใจทิ้งวิถีนักเพาะปลูกตามท้องไร่นา ไปเป็นนักปฏิวัติในผืนป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.)
“ตอนนั้นรู้สึกว่ารัฐบาลกดขี่ขูดรีดประชาชน เวลาทหารเข้ามาในหมู่บ้าน ก็เข้ามาทำตัวเป็นเจ้านาย มาข่มขู่ ทำอะไรตามอำเภอใจได้หมดทุกอย่าง ชอบลูกสาวใครก็ใช้อำนาจเอา เราก็ไม่พอใจสภาพแบบนั้น”
จนเริ่มมีคนจาก พคท.แอบเข้ามาในหมู่บ้าน ชักจูงให้เข้าเป็นแนวร่วมขบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองประเทศ หลังจากติดต่อลับๆกับคนของ พคท. ได้พักใหญ่ วันหนึ่งพ่อได้มาบอกกับ พา ถึงเรื่องที่มีข่าวออกมาว่าทางการรู้เรื่องการติดต่อลับนั้นหมดแล้ว และเจ้าหน้าที่จะมาจับตัวพาในวันรุ่งขึ้น ก่อนรุ่งจะสางพากับพี่ชายจึงตัดสินใจหนีเข้าป่า
เขตงาน 11 ของ พคท.คุมพื้นที่ตามแนวชายแดนอีสานใต้ พาเรียนการเมือง-การทหารที่นั่นแล้วเคลื่อนไหวกับ พคท. ใช้ชื่อว่า “สหายเลือดไท” ก่อนจะถูกส่งไปเรียนการทหารและการแพทย์ที่เวียดนาม เวลานั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กว่าจะได้กลับมาไทยก็ร่วมเข้าปี 2517-2518 กลับมาเคลื่อนไหวพื้นที่เดิมคือเขตงาน 11
“ขึ้นลงเขา หาตีหารบกับทางการ ทำงานจัดตั้งคนแถวนั้นไปด้วย” ตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของพคท. ด้วยการค่อยๆเข้าทำงานหาแนวร่วมทีละหมู่บ้านไปเรื่อยๆ จนหมู่บ้านแถบนั้นเริ่มกลายเป็นพื้นที่สีแดงตามๆกัน
จนมาถึงแปดอุ้ม หมู่บ้านสุดท้ายติดกับเขตเขมร ที่ยังคงเหนียวแน่นเป็นพื้นที่สีขาวขึ้นตรงกับทางรัฐไทย ร่วมต้านไฟคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน “แปดอุ้มเป็นบ้านที่ไม่รู้จะพูดยังไงเพราะเป็นบ้านที่พอพคท.เข้าไป จะถูกทำร้าย ไม่ก็จะไปเรียกทางการ ให้มาตีให้มาทำร้าย หมู่บ้านอื่นเวลาเราเข้าไปก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ นั่งคุยดีๆไม่ได้ไล่ไม่ได้ทำร้ายไม่ได้แจ้งทางการ” การทำงานทางความคิดกับหมู่บ้านแปดอุ้ม ล้มเหลวไม่เป็นท่า สะบักสะบอมออกมา แค่เห็นคนของพคท. เข้ามาชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีการไถ่ถาม ยิงไล่ หรือไปแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการมาจัดการ
ถาม “เดช” ตอบ “อุบล” รหัสลับกวาดต้อนบ้านแปดอุ้ม
2521 ลมหนาวเพิ่งจากไป เสียงปืนก็ดังขึ้นที่บ้านแปดอุ้ม พคท.นำกำลังร่วม 30 คนนำโดย พา เข้าปิดล้อมบ้านแปดอุ้ม หลังจากได้คุยกับทาง พคท. แล้วว่าต้องใช้กำลังทางอาวุธเข้าจัดการ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ต้องผ่านบ้านแปดอุ้ม สำหรับการเคลื่อนไหวข้ามมาในฝั่งไทย ช่วงเวลานั้น มี พคท.บางส่วนยังใช้พื้นที่ของเขมรเคลื่อนไหว
“เข้าไปตีบ้านแปดอุ้มประมาณ 30 คน เข้าไปตีจริงๆ 10 ถึง12 คน คนอื่นๆรอเฝ้าอยู่รอบๆ คอยลำเลียงคน คอยรักษาพยาบาล” หลังจากยิงปะทะกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายแปดอุ้มที่มีชาวบ้านอาสาป้องกันหมู่บ้านเพียงไม่หยิบมือก็ต้องพ่ายแพ้
ถาม “เดช” ตอบ “อุบล” เป็นรหัสลับที่พา กับพรรคพวกใช้ขานเรียกโต้ตอบกันกัน เพื่อเช็คว่าใครเป็นฝั่งเดียวกัน ไม่ให้หลงยิงพวกเดียวกัน หลังจากที่เสียงปืนสงบลง ชาวบ้านบางคนสับสนนึกว่าถูกเรียกไป อำเภอ เดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เลยออกมามอบตัว นำไปสู่การควบคุมตัวชาวบ้านแปดอุ้มได้เกือบทั้งหมด ลำเลียงทั้งหมดไปยัง “ถ้ำบอน” ลานหินธรรมชาติที่อยู่รอยต่อของดินแดนไทยกับเขมร
เพื่อนับจำนวน รวมได้ 300 กว่าคน จากนั้นเร่งพาชาวบ้านข้ามภูเขาโดยเร็ว เพื่อหนีการติดตามของทางการไทย เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตเขมรห่างจากชายแดน 5 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าที่ถูกเว้นร้างไว้ ของฝ่ายเขมรแดง หลังจากเขมรแดงเข้าปกครองประเทศก็ได้ย้ายคนจากหมู่บ้านนี้เข้าไปอยู่ในเมืองหลวง หลังจากภารกิจกวาดต้อนชาวบ้านแปดอุ้มสำเร็จแล้ว พาก็ข้ามกลับมาเขตไทยเข้าประจำเขต 11 ปฎิบัติหน้าที่กับพคท.เช่นเดิม
“มี” ผู้พิทักษ์หมู่บ้าน
“มี” จันทรา นิรานัน อายุได้ 18-19 ปี ในช่วงการกวาดตอน อาศัยอยู่ทำการเกษตรที่บ้านแปดอุ้ม ในพื้นดินที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า “ตอนนั้นเป็นทอศป. เป็นผู้ช่วยรัฐบาล ถ้าเทียบตอนนี้ก็ประมาณอพปร. มีหน้าที่ถือปืนรักษาหมู่บ้าน” ในคนละความเชื่อขนานไปกับพา มี เป็นอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน ทำหน้าที่ปกป้องหมู่บ้านจากภัยสังคมนิยม ได้รับการฝึกและติดอาวุธจากทางการ ให้ดูแลบ้านแปดอุ้มอันห่างไกล “แต่ก่อนมันเป็นบ้านป่า เจ้าหน้าที่ก็ไม่ค่อยมี นานๆจะเข้ามาที ทางอำเภอเขาจะแจกอาวุธให้ ให้ดูแลกันเอง”
มีกับเพื่อนวัยคราวเดียวกัน ทำหน้าที่รักษาหมู่บ้านอย่างแข็งขัน ขณะที่คนของพรรคคอมมิวนิสต์ เริ่มส่งคนเข้ามาแทรกซึมปลุกระดมให้คนชาวบ้านเข้าไปสู้ในป่า จนเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธหลายครั้ง ขับไล่คอมมิวนิสต์ออกไปได้ตลอด ทำให้แปดอุ้มไม่กลายเป็นพื้นที่สีแดงตามหมู่บ้านอื่นๆรอบข้าง
เมื่อเสียงปืนดังขึ้น แต่เป็นการยิงเข้ามาจากนอกหมู่บ้าน ราว 3 ชั่วโมงที่ยิงต่อสู้กัน “ก็สู้เขาไม่ไหว” มีต้องเสียเพื่อนไป 2คนจากการปะทะในคืนนั้น ก่อนจะจำต้องยอมแพ้เข้าไปหลบกับชาวบ้านคนอื่นๆในหลุมหลบภัย “ใช้เวลาเดินทางทั้งคืน ฝั่งนั้นถือปืนขนาบข้างนำทางไป ลูกเล็กเด็กแดงไปหมด ตอนนั้นทุกคนกลัวกันมาก จะหนีก็กลัวกับระเบิดข้างทาง กลัวโดนเขายิง”
ชีวิตและฉากในอีกฟากเขตแดน
ชีวิตในอีกเขตแดนของชาวแปดอุ้ม เหมือนชีวิตทั่วๆไปในไทย แต่ถูกควบคุมโดยสหายของพคท. ไม่ให้หนีออกไปไหน ตื่นเช้าทำธุระส่วนตัว ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ทำกินเหมือนที่ไทย หลังพักเที่ยงจึงออกไปทำงานส่วนรวม ทำหน้าที่เป็นเหมือนทัพหลัง ทำงานส่งผลผลิตให้กับแนวหน้า นอกจากนั้นจะมีการอบรมแนวคิดทางการเมืองให้กับชาวบ้านแปดอุ้ม “เขาจับจ้องผมเหมือนกัน แต่ผมรู้ตัวก่อน” ร่วงเลยไปกว่า 3 เดือน มีเริ่มรู้ว่าตัวเองถูกจับจ้อง แม้แต่พ่อเขาที่ถูกจับมาด้วยกันยังสัมผัสได้ จากเคยเป็นหัวโจกใหญ่เป็นไม้เป็นมือให้กับรัฐบาลไทย ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ฝั่งไทย ทำร้ายสหาย พคท.ไปหลายคน บางคนที่ยังแค้นอยู่ก็ข้ามมาฝั่งเขมรด้วยเหมือนกัน
วันหนึ่ง มี กับเพื่อนอีก 7 คนที่ถูกหมายหัว ตัดสินใจใช้ช่วงเวลาที่ปล่อยให้พัก ก่อนที่จะรวมกันอีกครั้งเพื่อทำงานส่วนรวม ลอบหนีเข้าไปในป่า... ยังไม่ทันได้กินเสบียงที่ขโมยหมดทุกคนก็เดินเท้าถึงไทย
“ไม่มีพ่อไม่มีแม่ไม่มีพี่น้อง ก็คิดถึงพ่อแม่อยู่แต่ทำยังไงได้” แผ่นดินไทยตอนรับมี ด้วยความว่างเปล่า หมู่บ้านร้างผู้คน ครอบครัวที่เหลือยังอยู่ฝั่งกัมพูชากันหมด ผู้เป็นพ่อบอกกับมีว่าเลือกที่จะอยู่อีกฝั่ง เพื่อรอลูกชายอีกคนที่ถูกให้ไปทำงานที่แนวหน้า มีต้องอาศัยอยู่กับญาติที่หมู่บ้านข้างๆ ช่วยงานในไร่นาสักพักใหญ่ๆ เขาและเพื่อน 3 คนที่หนีออกมากจากฝั่งเขมรด้วยกัน ตัดสินใจจะไม่รออยู่ฝั่งนี้เฉยๆ สมัครเป็นทหารพรานเข้าร่วมกับกองทัพไทย
“ตอนนั้นคิดว่ายังไงกูต้องเอาพ่อแม่กูกลับมาให้ได้” หลังฝึกเสร็จมีกับเพื่อนเก็บข้าวของเตรียมพร้อม จะข้ามเขาไปนำตัวครอบครัวกลับมา แต่สงครามครั้งนี้ใหญ่เกินไปสำหรับพวกเขาแล้ว “เคยไปขออาวุธที่อำเภอน้ำยืน ไปบอกผู้กองว่า 'นายผมอยากไปเอาพ่อเอาแม่กลับคืนมา’ ผู้กองบอก ‘มึงจะรีบไปตายหรือ เดี๋ยวรัฐบาลเขาจัดการเอง’ ตอนนั้นวัยรุ่นใจร้อน” ก้มหน้าเก็บความแค้น ทำหน้าที่ทหารลาดตะเวนตามแนวชายแดน จากภูเขาลูกแล้วสู่ลูกเล่า ตลอดเขตอำเภอน้ำยืนไปถึงอำเภอนาจะหลวย แม้ครอบครัวจะอยู่ไกล้แค่แนวเขากั้นไว้
สู่วันหวนกลับ
แล้วสายลมทางการเมืองก็เปลี่ยนทิศพัดหวนให้ชาวแปดอุ้มคืนถิ่น ในปี 2522 เขมรแดงหมดอำนาจ กระแสปฎิวัติประชาชนในไทยกำลังจาง หมู่บ้านฝั่งเขมรที่ชาวแปดอุ้มอยู่ก็เริ่มสั่นคลอน คนก็เริ่มทยอยออกมาในช่วงนี้ บางคนก็อยู่ฝั่งเขมรแค่ ปีเดียว บางคน 2 ปี หรือบางคนเข้าร่วมเป็นสหายร่วมปฎิวัติ ไปทำงานกับ พคท. ก็อาจจะนานถึง 4-5 ปี ครอบครัวของมี ใช้เวลาราว 2 ปีจึงได้กลับมาพร้อมหน้ากันครบ
ปัจจุบันบ้านแปดอุ้มตั้งอยู่ติดถนนเส้นหลักหมายเลข 2248 น้ำยืน – นาจะหลวย ไม่ได้อยู่ลึกเข้าไปติดเส้นชายแดนใกล้ตีนเขาเหมือนเมื่อก่อน “พอกลับมาเขาไม่ให้อยู่ที่เดิม ช่วงแรกเคยขอกลับมาอยู่ที่เดิม ตำรวจชายแดนก็บอกว่าเขาจะไม่รับผิดชอบ ถ้าเกิดอะไร” ทางการจึงจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำการเกษตร ให้กับคนที่กลับมาจากเขมร เขยิบเข้ามาใกล้ตัวอำเภอมากขึ้น กลายเป็นบ้านแปดอุ้มใหม่ ทิ้งให้หมู่บ้านเก่าร้างไป จนกลายเป็นพื้นที่การเกษตร และอ่างเก็บน้ำโครงการหลวงในทุกวันนี้
แปดอุ้มใหม่เป็นเหมือนกับหมู่บ้านตามชายแดนอื่นๆทั่วไป เรื่องการกวาดต้อนครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องเล่าประจำท้องถิ่น บอกเล่ากันเองในชุมชน ไม่ได้มีการยกขึ้นมาให้ความสลักสำคัญอะไร สามารถขอให้สมาชิกบ้านแปดอุ้มรุ่นที่ถูกกวาดต้อน ย้อนความฉายภาพเหตุการณ์ซ้ำให้ฟังได้ แม้จะอายุมากกันแล้ว แต่ยังมีจำนวนเหลืออยู่ไม่น้อยในชุมชน
“มันก็เหมือนกับนักมวยนั่นแหละ ตอนอยู่บนเวทีก็เอาเป็นเอาตายกันไม่มึงก็กูนี่แหละที่ต้องตาย แต่ลงเวทีก็กอดคอกันเป็นเพื่อนกัน”
พา บอก เล่าชีวิตหลังการกวาดต้อนชาวแปดอุ้ม แล้วกลับมาทำงานในเขตงาน 11 กลับพคท. ไม่กี่ปีก็เบื่อหน่ายการปฎิวัติ กลับมาไปอยู่อุบลฯ ในช่วงมีประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นิรโทษกรรมความผิดให้ออกมาจาก
“สหาย” มาเป็น “ผู้พัฒนาชาติไทย” แต่เส้นทางชีวิตก็นำเขาให้ต้องกลับมายังถิ่นสามเหลี่ยมมรกตอีกครั้ง ปี 2528 ในช่วงเวลาที่สงครามสิ้นสุด ไฟขัดแย้งไม่ได้หลงเหลือ พา ตามภรรยาในหมู่บ้านแกงเรืองติดแปดอุ้ม ไกลกันไม่ถึง 3 กิโล
“จำได้ตอนมาใหม่ๆ เขาก็ไม่ได้ว่ายังไง ไม่ได้เครียดจะฆ่าจะแกงอะไร ไปเที่ยวเล่นงานบุญอะไรก็ปกติ คนป่วยเข้ามาหาผมก็รักษาให้ฉีดยาให้เหมือนกัน” พา เข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ควบคู่ไปด้วยการใช้ความรู้ที่ได้มาจากตอนเป็นสหาย รับรักษาอาการป่วยบางอาการ ให้กับชาวบ้านในละแวกนั้น
“ไม่ความรู้สึกโกรธแค้นอะไรกัน บางทีชาวบ้านก็คุยกันเป็นเรื่องตลก เจอเขา(พา)ก็แซวกันอย่ามาพาไปไหนเด้อ ไม่เอาแล้ว” มีกล่าว ซึ่งเขาเองก็เหมือนกับชาวบ้านแปดอุ้มคนอื่นๆ ที่ย้อนมองการกวาดต้อนครั้งนั้น จัดมันให้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
พา เป็นอาสาสมัครช่วยทหาร เข้าเก็บกู้ทุนระเบิดตามแนวป่าชายแดน และอาจจะทุนระเบิดที่เขาเป็นคนติดตั้งเอง สมัยที่เคลื่อนไหวกับ พคท.
“พอแล้วไม่อยากให้มีอีกแล้ว” มี กลับใช้ชีวิตเกษตรกร บ้านแปดอุ้มแต่ไม่ได้อยู่รวมกันกับชาวบ้านคนอื่นๆ ในพื้นที่รัฐจัดสรรให้ ออกมาอยู่ในบ้านกลางสวนยางห่างออกจากหมู่บ้าน อยู่ไม่ไกลกับบ้านแปดอุ้มเก่า ถือได้ว่าเป็นบ้านหลังสุดท้ายของดินแดนไทย แม้ความขัดแย้งที่ตัวเองมีส่วนจะจบลง แต่พื้นที่แถบนี้ยังตามมาด้วยขัดแย้งระลอกอื่นๆ ทั้งช่วงเขมรแดงแพ้สงคราม ถอยร่นเข้ามาอยู่แถบชายแดนล้นเข้ามาถึงเขตแดนไทย เกิดการปะทะกันกองทัพเวียดนาม – เขมรแดง ตามแนวชายแดน ไปจนถึงยุทธการ “เนิน 500” การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับเวียดนาม มีอยู่หลายคืนต้องนอนฟังเสียงกระสุนปืนใหญ่ที่ลอยข้ามหลังคาบ้านไป
แม้การประจันหน้ากันในพื้นที่แถบนี้ได้ห่างหายไปนานแล้ว แต่เสียงระเบิดยังคงดังขึ้นให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ
“สงครามมันยังแตกอยู่เหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ยังมีระเบิดกันขาขาดบ้างเสียชีวิตบ้าง”
มีชี้มือขึ้นไปบนภูเขา ที่ผู้คนยังคงทนทุกจากสงคราม ซึ่งไม่ว่าจะสงครามครั้งไหนๆ ก็ต่างเหลือร่องรอยเป็นทุนระเบิด ที่ปนเปื้อนไปทั่วตามแนวเขตป่า พรากชีวิตและแข้งขาผู้คนมาถึงทุกวันนี้ จนมีใครสักคนเคยบอกไว้ว่าเป็นสงครามที่ยังไม่รู้จบ….
Commentaires