"ภายใต้การปกครองระบอบใหม่ การเลือกตั้งผู้แทนตำบลในภาคอีสานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงมีผู้แทนตำบลที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในประเทศคือนายสิบตรีพุฒ ทิววิภาต ผู้แทนตำบลจากอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม"
มหาสารคาม- เข็มนาฬิกาของที่แห่งนี้เริ่มหมุนไปกับกงล้อประวัติศาสตร์ชาติเมื่อปี 2408 สมัยรัชกาลที่ 4 ให้ยกขึ้นเป็นเมืองแยกจากจังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนมีพัฒนาการตั้งขึ้นเป็น “เมืองมหาสารคาม” ในความหมายถิ่นฐานที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความดีงามทั้งปวง
เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตักสิลานคร” ด้วยมีแหล่งเรียนรู้ศึกษาหลากหลายแขนงทั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และหากย้อนไปในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มหาสารคามยังเป็นจังหวัดที่ผู้คนค่อนข้างตื่นตัวทางการเมืองและอยากมีส่วนร่วมต่อการปกครองระบอบใหม่สูง โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศในปี 2476 ผู้แทนตำบลที่ได้รับเสียงคะแนนมากที่สุดก็มาจากจังหวัดมหาสารคาม นั่นคือสิบตรีพุฒ ทิววิภาต จากอำเภอโกสุมพิสัย
นอกจากนี้มหาสารคามยังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศในเวลาต่อมาอีกไม่น้อย เช่น จำลอง ดาวเรือง นักการเมืองจากอำเภอวาปีปทุม หนึ่งในรัฐมนตรี "สี่เสืออีสาน" ร่วมด้วย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เตียง ศิริขันธ์ และถวิล อุดล เป็นรัฐมนตรีที่ถูกสังหารเมื่อปี 2492 ทองใบ ทองเปาด์ ทนายความ นักกิจกรรมทางการเมืองที่คานอำนาจรัฐเผด็จการ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี 2527และมีนักการเมืองร่วมสมัยที่มีบทบาททั้งในสภาและนอกสภาอย่าง สุทิน คลังแสง และประยุทธ์ ศิริพานิชย์ โดยเฉพาะท่าทีการโต้ตอบกับวาทกรรมสืบทอดอำนาจของฝ่ายการเมืองพรรคหนึ่งในขณะนี้
ย้อนไปช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏร เพื่อสอดรับกับนโยบายผู้นำประเทศในขณะนั้น นอกจากการให้ความรู้แก่ประชาชนต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย การสร้าง อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ก็ปรากฏอย่างแพร่หลายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะทางภาคอีสาน
ในช่วงปลายทศวรรษ 2470 ไปจนถึงปลายทศวรรษ 2480 หลายอนุสาวรีย์สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(2482) ที่ถนนราชดำเนินเสียอีก โดยแห่งแรกนั่นคือ อนุสาวรีย์เทิดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ซึ่ง The Isaander ขอเรียกเพื่อทำความเข้าใจง่ายๆว่า
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมหาสารคาม ก่อสร้างในปี 2477 นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศ เป็นรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนแว่นฟ้าตั้งอยู่บนฐานสูงทรงสี่เหลี่ยมมีข้อความที่ฐานด้านหน้าว่า "สยามรัฐธรรมนูญ ที่รักและสักการะยิ่ง"ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เริ่มสร้างด้วยความร่วมมือระหว่างข้าราชการและพลเมืองชาวมหาสารคามในสมัยหลวงอังคณานุรักษ์(สมถวิล เทพาคำ) เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เพื่อให้ชาวจังหวัดมหาสารคามรำลึกและเห็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แต่เมื่อพิจารณาช่วงเวลาระหว่างสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้จะพบว่า เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดมหาสารคาม อย่างการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐของบรรดากบฏผู้มีบุญในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์เฉพาะในภาคอีสานเช่นกบฎหมอลำน้อยที่เคลื่อนไหวนำโดยนายชาดา หรือคำสา สุมังกะเศษ มีอาชีพเป็นหมอลำ แต่อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษสั่งสอนและทำนายผ่านกลอนลำให้แก่ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม เนื้อหาของกลอนลำเต็มไปด้วยถ้อยยุยงให้ราษฎรไม่จ่ายภาษี ไม่ส่งเด็กเข้าโรงเรียน ไม่ให้กราบไหว้พระสงฆ์ รวมถึงทำนายว่าจะมีการรบกันระหว่างคนอีสานกับคนภาคกลางและท้ายที่สุดหมอลำน้อยจะเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด
ถึงแม้ว่าหมอลำน้อยจะถูกลงโทษจำคุกในปี 2476 แต่การเคลื่อนไหวแบบกบฏผู้มีบุญยังคงปรากฎขึ้นอีกหลายครั้งในจังหวัดมหาสารคาม เช่น กบฏเกือกขาว อำเภอตลาด ปี 2476 และกบฏพวกสอนธรรมวิเศษ ปี 2477 เป็นกลุ่มคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้วิเศษและชักจูงให้ราษฎรก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ยังปรากฎความไม่สงบในอำเภอโกสุมพิสัย เมื่อผู้นำกบฏพูดจายุยงให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล โดยอ้างถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชว่า พระองค์เจ้าบวรเดชนำฝรั่งเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลพระยาพหลฯ รวมถึงกล่าวหาว่าพระยาพหลฯใช้อุบายให้ทหารฝ่ายกบฏใช้กระสุนกระดาษ แต่ฝ่ายกรุงเทพกลับใช้กระสุนจริง
ทำให้ทหารโคราชเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลยังปกครองไม่เป็นธรรมเรียกเก็บภาษีแพงและริบเอาทรัพย์สินประชาชนมาเป็นของหลวงด้วย เหตุนี้ผู้ก่อเหตุจึงถูกจับกุมและถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี
หลังเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดมหาสารคามยุติลง หลวงอังคณานุรักษ์ เห็นว่าประชาชนส่วนมากยังไม่เห็นคุณค่าของระบอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากเชื่อฟังคำทำนายของของกบฏผู้มีบุญ
ดังนั้นจึงพยายามปลูกฝังให้ชาวมหาสารคามตระหนักและเห็นความสำคัญของระบอบใหม่มากขึ้น โดยเสนอให้กรมการจังหวัดสร้างอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญตลอดจนประกวดกลอนลำเทอดรัฐธรรมนูญและขบวนแห่รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจระบอบใหม่ได้อย่างทั่วถึง
ท้ายที่สุดแม้อนุสาวรีย์ดังกล่าวจะถูกลดบทบาทลง จนอาจถูกหลงลืมว่าเคยมีอยู่ แต่คล้ายๆว่าความรับรู้และบทเรียนจากอดีตของจังหวัดมหาสารคามยังสะท้อนภาพการตื่นตัวและปลดแอกความคิดความเชื่อในทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดคุณอาจจะเห็นได้จากผลการออกเสียงประชามติและการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาของที่นี่และพื้นที่ใกล้เคียง
*ปัจจุบันอนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคามถูกย้ายออกจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดมาตั้งหน้าเทศบาลเมืองมหาสารคาม
*ขอบคุณข้อมูลจาก ศรัญญู เทพสงเคราะห์ *ภาพประกอบจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
Comments