Smanachan Buddhajak เรื่องและภาพ
พอผู้เขียนมาดูรูปบ่อน้ำจริง ๆ ก็พอมีบ้านเรือนอยู่รอบ ๆบ้าง อยู่แต่ไม่เยอะ อาจจะไม่ถึงกับ“ตั้งอยู่กลางทุ่งร้างห่างไกลแห่ง” อย่างที่เขียนตามความทรงจำ แต่ก็ไม่ถึงกับผิดเพี้ยนไปมากนัก
บ่ายคล้อยเข้ายามเย็นของฤดูหนาว เพิ่งข้ามผ่านปีปฏิทินใหม่ได้ไม่เท่าไหร่ ในที่สุดผู้เขียนก็เดินทางมาถึงบ่อน้ำสร้างด้วยปูนกว้างราวเมตรคูณเมตร อันตั้งอยู่กลางทุ่งร้างห่างไกลแห่งนี้...
ท่ามกลางกระแสข่าวการมาถึงของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ช่วงสาย ๆขับรถลงจากภูพานตามเส้นทางหลักผ่านโค้งปิ้งงู ถ้ำเสรีไทย พระตำหนักภูพาน รถในเลนตรงข้ามที่ขับสวนขึ้นมาหนาแน่นเป็นพิเศษ ใกล้หมดวันหยุดยาวปีใหม่ แล้วคนเริ่มทยอยกลับเข้ากรุงเทพ กว่าจะถึงตัวเมืองสกลนครก็บ่ายแล้ว นัดกับเพื่อนว่าจะหาร้านโคขุนย่างกินเป็นอาหารเที่ยง วนรถหาเท่าไหร่ก็ไม่มีเปิดสักร้าน เบนเป้าหมายไปกินปากหม้อร้าน “ปารีส” เจ้าดังประจำจังหวัด คนก็แน่นจนล้นออกมานอกร้าน ได้แต่สั่งใส่ถุงกลับไปฝากคนที่บ้าน
สุดท้ายมาจบที่ร้าน “ข้าวผัดแหนม” หนึ่งในร้านประจำเวลามาสกลนคร กินเสร็จตกลงว่าจะแยกย้ายกันเพียงเท่านี้ หากยังอยู่ด้วยกันต่อเกรงว่าจะอดไม่ไหวที่จะกินเบียร์กันต่อ อยากเริ่มปีใหม่ด้วยการทำงานให้สำเร็จ มีรุ่นน้องคนหนึ่งขอติดตามผู้เขียนไปด้วย แต่ต้องบอกปัดไปด้วยคำพูดโม้ ๆ “มึงไม่รู้หรอกว่ากูกำลังไปเจอกับอะไร”
ออกจากตัวเมืองสกลฯไปตามถนนนิตโยมุ่งไปทางอำเภอพรรณานิคม ขับอยู่ได้ไม่เท่าไหร่ภาพเมืองก็ถอยหนีห่างไป ทิวทัศน์ของทุ่งนาและภูเขาก็ดาหน้าประจันเข้ามาแทนที่ จากทางลาดยางหลักเลี้ยวเข้าทางแยก ตัดผ่านชุมชน ไร่สวน ลาดยาง ลูกรัง ทางดิน สลับผสมกันไป เลาะเลียบภูพานที่เห็นลิบ ๆจากอีกฝั่ง จนมาเจอบ้าน “นาสาวนาน” ในตำบลนาหัวบ่อ จุดหมายหลัก ชะเง้อมองตามริมทางเล็งหาร้านชำ จอดซื้อน้ำเปล่าติดรถพร้อมถามเส้นทาง
เลี้ยวหันออกจากตัวหมู่บ้านเข้าทางไปนาได้ไม่กี่ร้อยเมตร ก็มาถึงลานโล่งเล็ก ๆที่มีบ่อน้ำตั้งอยู่ รอบ ๆตัวบ่อถูกล้อมด้วยกรงเล็ก แต่ชะเง้อมองสำรวจเข้าไปจากด้านนอกได้ ดอกไม้ พาน ธูปเทียนเครื่องไหว้ใช้ทำพิธียังพอเหลือร่องรอย พยายามมองยังไงก็ไม่เห็นถึงก้นบ่อ
ซึ่งว่ากันว่าตรงก้นบ่อนั้นมีอักขระบริพัดมนต์คาถาสลักไว้อยู่ หากใครได้ดื่มกินน้ำจากบ่อนี้จะสามารถไล่วิญญาณผีปอบออกจากร่างได้
หมู่บ้านและบ่อน้ำ เรื่องเล่าอันไม่จะปะติดปะต่อ
แล้วแต่ต่างคนจะเล่าขาน บ้างก็ว่ามาจากที่มีหญิงสาวคนหนึ่งครองตนเป็นโสดอย่างยาวนาน บ้างก็ว่าหญิงคนนั้นชื่อว่า “นาน” - ที่ย้ายถิ่นฐานมาปักหลักทำกิน เปลี่ยนพื้นดินรกร้างป่าดงตีนภูพาน ให้เป็นไร่นาการเกษตร ไม่มีบันทึกลายลักษณ์หรือคำบอกกล่าวมุขปาฐะ ถึงเรื่องราวของหญิงคนนี้ว่าต่อจากนั้น ว่าที่นาดังกล่าวทำใมถึงถูกทิ้งร้างไป แต่สืบต่อมาชาวบ้านก็เรียกถิ่นแดนแถบนี้ว่า “นาสาวนาน”
ต่อมาก็เริ่มมีคนกลับเข้าไปทำกินอยู่บ้างวนเวียนกันไป จนมาในราวปี 2465 นายทองคํา ไชยตะมาตย์ หรือที่ไทบ้านเรียกว่าพ่อใหญ่คำ ย้ายเข้ามาปลูกเหย้าเรือนอยู่อย่างเอกเทศน์ บางข้อมูลก็บอกว่าแกหนีมาอยู่เพราะถูกชาวบ้านหาว่าเป็นผีปอบ ด้วยความที่เป็นคนมีคถาอาคมไม่เกรงกลัวผีสางนางไม้ เริ่มขยับเอาญาติพี่น้องเพื่อฝูงมาอยู่ขยายสำมะโนครัวกลายเป็นชุมนย่อม ๆทำการเกษตรหากินตามภูพานสืบต่อกันมา
จนมาถึงจุดเปลี่ยนของชุมชนมาถึงในช่วงเวลานึงที่ มีพระธุดงค์ หรือ ชีปะขาว แล้วแต่ใครจะเล่าอีกเช่นเคย เดินผ่านมาที่ชุมชนนาสาวนาน ชี้บอกจุดพ่อใหญ่คำให้ขุดดินลงไป เมื่อทำตามบอกก็มีน้ำธรรมชาติผุดขึ้นมา จึงขุดต่อลงไปอีก 14 เมตรจนไปสุดที่ชั้นหินพระลาน พ่อใหญ่คำจึงได้ ได้เขียนจารึกอักขระไว้บนแผ่นหิน และเขียนใส่บนใบลานแผ่นทองเป็นเครื่องรางของขลังทิ้งไว้ก้นบ่อ จนต่อมาภายหลังชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เรียกขานกันว่า“บ่อนํ้าทิพย์”
เลื่องลือไปไกลกันว่า น้ำในบ่อสามารถขจัดทุกข์ภัยไข้เจ็บ หากใครได้ดื่มจะอยู่เย็นเป็นสุข ทั้งปัดเป่าผีสางวิญญาณชั่วร้ายออกจากร่างกาย ทำให้คนที่ถูกหาว่าเป็นผีปอบ เดินทางมาจากทั่วสารทิศเพื่อดื่มน้ำจากบ่อนี้ ด้วยการที่ถูกขับไล่ออกมาจากสังคมเดิม เลยไม่มีที่ดินทำกินหรือต้นทุนชีวิตอื่น ๆ ติดตัวมา หลายคนก็ปลงใจปลักหลักอยู่ที่นี่ นาย แก ไชยตะมาตย์ ลูกชายของพ่อใหญ่คำ ผู้นำชุมชนคนต่อมา เห็นว่าหากไม่รับคนเหล่านี้มาอยู่ พวกเขาจะไร้ซึ่งที่พึ่ง
จึงขยายตัวจัดตั้งเป็นหมู่บ้านนาสาวนาน มีคนพื้นถิ่นเดิมผสมกับผู้อพยพมาอยู่ใหม่ โดยมากมาจากการถูกตีตราหาว่าเป็นผีปอบ หมู่บ้านจึงมีการจัดงานบุญประจำปีขึ้นในวันสงกรานต์ เพื่อรําลึกถึงพ่อใหญ่คําผู้เริ่มขุดบ่อนํ้าทิพย์ และพ่อใหญ่แกผู้มีเมตตารับเข้าอยู่ร่วมชุมชนและให้ที่ดินทํากิน ถือเรียกว่า “วันกตัญญู” มีมหรสพคบงันด้วยหมอลํา มีการตักนํ้าจากบ่อมาทําพิธีรดสรงธาตุบูชาพ่อใหญ่แก และจะมีการตักนํ้าไปใส่โอ่งใส่แอ่งนํ้าที่บ้านเรือนของตนเพื่อความเป็นศิริมงคล
“พระสงฆ์ผู้ปราบผีปอบด้วยการทำงานวิจัย”
ผู้เขียนรู้จักชื่อบ้านนาสาวนานเพราะมาจากการที่ต้องสืบค้น เพื่อเขียนบทความที่ชื่อ “13 ปี สื่อตีข่าว ‘ปอบ’ อย่างน้อย 74 ครั้ง คนถูกตีตรา ‘เจ็บ-ตาย’ รัฐต้องไกล่เกลี่ยหวั่นรุนแรง” ต้องอ่านงานศึกษาเกี่ยวกับผีปอบอยู่หลายชิ้น รวมถึง “กระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของผู้ถูกกล่าวว่าเป็นปอบ”งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เขียนคือพระมหาสัมภาษณ์ ไชยตะมาตย์
หลังเขียนบทความชิ้นนี้เสร็จ สิ่งที่ค้างคาใจผู้เขียนคือนามสกุลของพระมหาสัมภาษณ์ ก็คือ ไชยตะมาตย์ซึ่งไปตรงกันกับนามสกุลของพ่อใหญ่คำ ผู้บุกเบิกหมู่บ้าน ทั้งงานวิจัยของเขาก็ใช้บ้านนาสาวนานเป็นพื้นที่วิจัยหลัก ทำให้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานแบบพล็อตนิยายว่า พระมหาสัมภาษณ์น่าจะเป็นลูกหลานของพ่อใหญ่คำ อยู่บ้านนาสาวนาน ที่ถูกสังคมรังเกียจมาตั้งแต่ยังเด็ก เป็นแรงผลักให้มาทำงานวิจัยเพื่อเป็นปากเสียงให้กับวงศ์ตระกูล และคนในชุมชนที่ถูกตีตราหาว่าเป็นหมู่บ้านผีปอบมาอย่างยาวนาน ถ้าเป็นไปตามพล็อตนี้ชีวิตพระมหาสัมภาษณ์จะเป็นเรื่องราวที่เหมาะนำมาเขียนเป็นบทความเป็นอย่างยิ่ง วัตถุดิบดีดีแบบนี้เสนอ บ.ก สำนักข่าวไหน (ตอนนั้นไม่ได้เหลียวมอง The Isaander เลย) เป็นต้องตาลุกวาว ตีพิมพ์เมื่อไหร่100 ไลค์บน Facebook นอนมา ตอนนั้นคิดพาดหัวบทความรอไว้แล้ว “พระสงฆ์ผู้ปราบผีปอบด้วยการทำงานวิจัย….”
ทั้งค้นในอินเตอร์เนต และเข้าไปถามเอากับอาจารย์ คณะมนุษย์ ม.ขอนแก่น พยายามหาทางติดต่อพระมหาสัมภาษณ์อยู่นานถึงขั้นไปหาตามทะเบียนพระสงฆ์ก็ยังหาทางติดต่อไม่ได้ สุดท้ายแล้วเพื่อบทความเกี่ยวกับผีปอบระดับปรากฎการณ์(ที่กำลังจะเกิดขึ้น)ชิ้นนี้ เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องขับรถจากขอนแก่นข้ามภูพานมายังบ้านนาสาวนานแห่งนี้ เพื่อทำภารกิจตามหาตัวพระมหาสัมภาษณ์พระสงฆ์ผู้ปราบผีปอบด้วยการทำวิจัยผู้นี้นี่เอง
งานวิชาการใต้ร่มกาสาวพัสตร์
ออกจากบ่อน้ำทิพย์กลับเข้าเส้นทางหลักแกนกลางของหมู่บ้าน แวะถามผู้สูงอายุที่รวมตัวกันอยู่รอบศาลาหมู่บ้าน ได้เบาะแสสำคัญว่าพระมหาสัมภาษณ์ตอนนี้จำวัดอยู่ที่บ้านโนนเรือ หมู่บ้านที่ห่างออกไปไม่มากนักในตำบลเดียวกัน
“คนตำบลนี้ก็นามสกุลไชยตะมาตย์กันเกือบหมด” พระมหาสัมภาษณ์บอกกับข้าพเจ้า หลังมาถึงวัดบ้านโนนเรือได้ไม่นาน ก็เจอกับเป้าหมายหลักของภารกิจที่เดินมาทักทายถึงที่รถ “หลวงพี่รูปนั้นก็นามสกลุไชยตะมาตย์” พร้อมชี้ไปยังพระอีกรูปที่กำลังกวาดวัดอยู่ให้ข้าพเจ้าดูเป็นการยืนยัน สรุปแล้วพระมหาสัมภาษณ์ไม่ได้เป็นญาติอะไรกับพ่อใหญ่คำ สมมุติฐานของข้าพเจ้าที่คิดมาตลอดนั้นไม่จริง
“เราไม่ได้ทำวิจัยเพื่อตอกย้ำว่าบ้านนาสาวนานเป็นบ้านผีปอบ แต่มาบอกว่ามันเดือดร้อนยังไงบ้าง การที่ถูกหาว่าเป็นผีปอบ” พระสัมภาษณ์ชวนเข้าไปนั่งคุยกันด้านในศาลาวัด แกะแพคขวดน้ำที่ญาติโยมเอามาถวายยื่นให้ผู้เขียน ก่อนจะเริ่มเล่าถึงการทำวิจัยเรื่องหมู่บ้านผีปอบ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการล้างบาดแผลให้กับวงศ์ตระกูลอะไรเลย
เหมือนกับวัยเยาว์ของชีวิตอื่น ๆในชนบท ที่หากใฝ่จะเรียนให้สูงเกินกว่าระดับชั้นที่ภาครัฐกำหนดบังคับ ก็มีเส้นทางอยู่ไม่มากนัก เด็กชายสัมภาษณ์ตัดสินใจบวชเป็นสมเณรเมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 6 ย้ายจากสกลนครเข้ามาเรียนที่วัดในจังหวัดขอนแก่น ในทางธรรมได้เปรียญ 4 ใยทางโลกจบปริญญาตรีครุศาสตร์เอก สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยาเขตขอนแก่น
หลังเรียนจบก็ลาครูบาอาจารย์ในขอนแก่นที่พักพิงพึ่งพามาตลอด 10 ปี ออกไปเป็นครูตามวัดในหลายจังหวัด จนได้วนกลับมาสอนวัดโพธิ์คำ บ้านนาหัวบ่อ ตำบลบ้านเกิดตามที่ตั้งใจจะได้กลับพัฒนาบ้านเกิด “ตอนสัมภาษณ์เข้าเรียนปริญญาโท ก็บอกว่าอยากเห็นสังคมกว้าง คนเป็นพระเณรมาตั้งแต่เด็กจะมองสภาพสังคมไม่ออก” ผ่านไปกว่า 10 ปีที่สอนประจำอยู่วัดโพธิ์คำ ในวัย 36 ปี พระมหาสัมภาษณ์เริ่มรู้ตัวว่าอายุมากขึ้นทุกที สอนพระ-เณรผ่านไปก็หลายรุ่น สังคมโลกเปลี่ยนไปมาก ได้แต่มองความเป็นไปต่าง ๆผ่านรั้ววัด ใคร่ครวญกับตัวเองว่าอยากลองออกไปศึกษาสังคมภายนอกรั้ววัด จึงขอลาครูบาพระผู้ใหญ่กลับมาเรียนต่อที่ขอนแก่น
“พอไปเรียนทางสังคมมันเป็นอีกแบบ ไม่มีการกำหนดผิดกำหนดถูก ของทางพระเรามันมีบาปมีบุญกำหนดผิดกำหนดถูก มันค่อนข้างจะย้อนแย้งกัน” การเรียนคณะมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในมหาลัยขอนแก่น ที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและข้อถกเถียงมากมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่เติบโตมากับระบบการศึกษาของสงฆ์ ถึงจบระดับปริญญาตรีด้านสังคม จากมหาจุฬาลงกรณ์ แต่อาจารย์ส่วนใหญ่ก็มาจากพระจึงไม่หลุดออกจากกรอบศาสนามากนัก เป็นปัญหาในการเรียนอยู่พอควร แต่ยังพอปะคับปะคองตัวเองให้พอสอบผ่านมาได้
“เขาจะไม่พูดเรื่องนี้ เขาไม่ให้เรื่องนี้มันสืบต่อเลย” ตั้งแต่เด็กแล้วพระมหาสัมภาษณ์ที่โตมาในบ้านโนนเรือ พอจะได้ยินเรื่องราวของหมู่บ้านนาสาวนานที่ฟุ้งกระจายอยู่ทั่วชุมชนมาอยู่แล้วบ้าง เวลาที่จะไปนาหรือขึ้นภูพานต้องผ่านบ้านนาสาวนานอยู่บ่อย ๆถึงจะมีความเชื่อเรื่องผีสางตามฉบับคนทั่วไป แต่ไม่ได้หวาดกลัวหรือมองคนจากบ้านนาสาวนางผิดแปลกไปจากอื่น
เมื่อการเรียนมหาบัณฑิตมาถึงขั้นที่ต้องเริ่มทำงานวิทยานิพนธ์ โยมเพื่อนรวมชั้นก็ต่างทยอยได้หัวข้อวิทยานิพนธ์กันไปหลายคนแล้ว แต่ละคนต่างมีพื้นที่ความสนใจก่อนมาเรียนเป็นทุนเดิม ต่างกับตนเองที่บวชเป็นพระมาตลอดชีวิตไม่ได้มีประเด็นความสนใจอะไรเป็นส่วนตัว ถึงนึกเรื่องบ้านนาสาวนานที่อยู่ไกล้ตัวขึ้นมาได้ หลังจากอาจารย์ที่ปรึกษาอนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ มหาสัมภาษณ์ก็ได้ไล่อ่านงานวิจัยที่เกี่ยวกับผีปอบหลายสิบชิ้น จนได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าต้องกลับไปลงพื้นเก็บข้อมูลที่บ้านนาสาวนานด้วยตัวเอง
เมื่อถึงเวลาจริงต้องเก็บเรื่องวิทยานิพนธ์ทดไว้ในใจ การจะสอบถามเก็บข้อมูลกับคนหมู่บ้านที่ถูกตีตรา ขับใสออกจากสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย มหาสัมภาษณ์ให้พระผู้ใหญ่ในตำบลฝากเข้าไปจำที่วัดบ้านนางสาวนาน ที่ตอนนั้นมีพระจำพรรษาอยู่ก่อนเพียงรูปเดียว พอพระมหาสัมภาษณ์ย้ายเข้ามาพระรูปนั้นก็ย้ายไปจำวัดที่อื่น “พาเขาปรับปรุงห้องน้ำ บูรณะศาลาวัดอะไรไปอย่างนั้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้กลับเข้าวัด ถึงค่อยๆบอกว่าเรากำลังเก็บข้อมูลอะไรอยู่ ” เริ่มจากพัฒนาวัดด้านต่าง ๆจนเป็นที่รู้จักและไว้ใจ จึงค่อยๆชวนพูดคุยถึงความหลัง ย้อนถึงเมื่อคราวถูกขับใสจากสังคมเดิม จนย้ายมาสู่บ้านนาสาวนาน ถึงการต่อสู้เพื่อหาที่ทางของตัวในสังคม
ใช้เวลาราว 2 ปีได้เก็บข้อมูลไทบ้านนาสาวมากกว่า 20 คน พระมหาสัมภาษณ์ถึงได้ลาผลัดออกมาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จออกมาเป็น “กระบวนการสร้างพื้นที่ทางสังคมของผู้ถูกกล่าวว่าเป็นปอบ” แต่สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของพระมหาสัมภาษณ์มากกว่าการทำวิทยานิพนธ์ได้เสร็จสิ้น คือการได้เข้ามาพัฒนาบ้านนาสาวนาน หมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่เป็นทางเบี้ยล่างเศรษฐกิจในหลาย ๆด้านจากการถูกตีตรา ด้วยการใช้พื้นที่ทางศาสนาที่มหาสัมภาษณ์มองว่าควรเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างปรับเปลี่ยนไปตามสังคม เพื่อโอบรับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย
ให้มันจบที่รุ่นเรา
หากผู้อ่านเคยเปิดใช้ Google map ตามพื้นที่ห่างไกล จะเข้าใจว่าการนำทางของมันจะไม่ได้เที่ยงตรงเหมือนกับที่เปิดใช้ในเขตเมือง บางครั้งสัญญาณขาดๆขายๆ ไม่ก็พาเข้ารกเข้าพงไปเส้นทางแสนกันดารเกินกว่ายานพาหนะของเราฝ่าไปได้ หลังคุยกันอยู่นานผู้เขียนก็กราบลาพระมหาสัมภาษณ์ หลวงพี่ฝากมาว่าหากเขียนอะไรก็ให้ช่วยระวังหน่อย ไม่อยากให้กลายเป็นไปตีตราไทบ้านซ้ำอีก
ความหมายของ “ผีปอบ” ในทางความเชื่อมีหลายรูปแบบมาก ๆ แต่หลัก ๆแล้วจะแบ่งออกเป็น ‘ปอบเชื้อ’ และ ‘ปอบมนต์’ โดย ‘ปอบเชื้อ’ เป็นปอบที่เกิดจากคนที่มีญาติพี่น้องเคยเป็นปอบมาก่อน โดยเฉพาะแม่เคยเป็นปอบ เมื่อแม่ที่เป็นปอบตายไป เชื่อกันว่าปอบของคนที่ตายไปจะไปสิงอยู่กับลูกสาวหรือญาติพี่น้องต่อมา ส่วน ‘ปอบมนต์’ หรือปอบเกิดใหม่ จะเกิดกับคนที่เรียนมนต์วิชาประเภทอาคมของขลัง แต่ได้กระทำผิดในข้อห้ามจากคุณวิเศษของคาถา จนมีวิญญาณร้ายเข้ามาสิงสู่
ในทางวิชาการแล้วความเป็น “ปอบ” คือการตีตราให้กับคนที่มีพฤติการณ์กรรมผิดแปลกเบี่ยงเบนออกมาจากมาตรฐานทางสังคม
ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าปอบนั้นเหมือนกับปรากฎการณ์อย่างการล่าแม่มดยุคกลาง ที่ไม่อาจรู้ว่าแม่มดมีจริงอย่างไร แต่ที่แน่ ๆคือมันถูกใช้เป็นเครื่องมือข้ออ้างในการประหัตประหารผู้คนมาอย่างมากมาย ผู้เขียนไม่กล้าบอกว่าผีปอบในทางความเชื่อนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ที่แน่ ๆคือมันถูกใช้เป็นเครื่องมือขับใส ผู้ถูกมองว่าเป็นอื่นออกจากสังคม หลายคนถูกหาว่าเป็นผีปอบเพราะชอบปลีกตัวมาอยู่อย่างสันโดษ มีวิถีชีวิตความเชื่อที่ต่างจากคนอื่นออกไป หรือแม้แต่บางคนที่ถูกตีตราเพราะมีแนวคิดแตกต่างจากอุดมการณ์ของรัฐ อย่างคนที่เข้าป่าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “ปอมคอม”
หรือถูกใช้ตีตรากำจัดผู้ขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น กับครอบครัว รัฐ ไปจนถึงมีความขัดแย้งกับผู้อิทธิพล มักมีตัวอย่างเช่น ครอบครัวไม่ยอมเวียนคืนที่ดินให้กับโครงการรัฐ คนไม่ยอมทำตามคำสั่งของนักการเมืองท่องถิ่น หรือคนที่แบ่งมรดกไม่ลงตัวกับครอบครัว
พระมหาสัมภาษณ์ให้เล่าฟังอีกว่าคนบ้านนาสาวนาง มีวิถีปฏิบัติในแนวทางพุทธมากกว่าที่อื่นเสียด้วยซ้ำ เพราะในชุมชนมีกฎห้ามมีการเล่นไสยศาสตร์หรือวิชาอาคมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการบูชาพระรัตนไตร เพื่อป้องกันการถูกตีตราว่าเป็นปอบ การดื่มน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ก็เป็นกระบวนการณ์ในการสร้างพื้นที่ทางสังคมหนึ่งอย่างนึงเพื่อบอกว่ากับสังคมภายนอกว่า หมู่บ้านนี้เป็น “หมู่บ้านรักษาปอบ” ไม่ใช่ “หมู่บ้านผีปอบ” อย่างที่คนอื่นเข้าใจ “ปกติเขาจะไม่พูดถึงเรื่องนี้กันเลย เพราะอยากให้เรื่องมันจบแค่นี้ ไม่อยากให้ไปถึงรุ่นต่อไป” เพราะคนที่ได้รับกระทบมากที่สุดก็คือเด็กรุ่นถัดโตมาโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วย เด็ก ๆเวลาไปโรงเรียนมักจะถูกรังเกียจถูกล้อเลียนว่ามาจากบ้านผีปอบ
วนรถยนต์ออกจากโนนเรือกลับมาถึงนาสาวนาง ฟ้าเริ่มจะสีเข้มขึ้นทุกที ไม่อยากขับขึ้นภูพานมืดเกินไป วนรถไปมาหลายครั้งก็หาทางออกหมู่บ้านไม่เจอ โพล้เพล้แล้วหมู่บ้านก็เปลี่ยวเงียบ หยุดรถอยู่กลางทาง ก้มดูมือถือเปิด Google map หาหมุดที่จะเข้าไปในตั้งหลักในเมืองก่อนสกลนคร ถ้าปักหมุดทางไปภูพานเลย มันจะพาทะลุทุ่งนาไป เงยจากหน้าจออยู่ ๆก็เจอเด็กวัยรุ่นผมกระเซิงมาโผล่อยู่ข้างกระจกรถ แอบสะดุ้งนิดหน่อยแต่ก็ลดกระจกลงมาคุยด้วย “พี่ตรงไปใช่มั้ยเจอโรงเรียนแล้วเลี้ยวเข้าไปข้างโรงเรียนตามทางไป” น้องเขาบอกทาง หลังเห็นผมวนรถไปมาหลายรอบ เลยเข้ามาเสนอความช่วยเหลือ
ขับไปตามทางที่ถูกบอกมา ถนนกลับมีแต่จะแคบลงแคบลง หมดระยะทางลูกรังก็มาเจอทางดินยาว จนไปถึงเถียงนาไม้ว่างร้างปุพังตั้งอยู่อย่างโดดเดียวหลังนึง มองเข้าไปแล้วขนลุก อากาศเย็นลงอีกจนไอเย็นรุกคืบทำให้กระจกเริ่มเป็นฝ้า รีบวนรถหันหัวออกทางเดิม กลับเข้าทางหลักของหมู่บ้าน มาเจอเด็กหนุ่มคนเดิมยืนรออยู่ ค่อยๆเดินมาที่รถ “พี่ ๆอันนั้นมันทางไปนา ข้างโรงเรียนผมหมายถึงข้างขวาใกล้ ๆนี่เอง”
ชี้นิ้วบอกซอยข้างโรงเรียนที่ถูกให้ผู้เขียน ผมขอบคุณน้องเขายกใหญ่ที่อุตส่าห์มายืนรอบอกทางท่ามกลางอากาศหนาวแบบนี้ เด็กหนุ่มโค้งรับอย่างเจียมตัวแล้วเดินจากไป ก่อนเลือนกระจกลงเพิ่งได้เหลือบสังเกตเห็นเสื้อสีดำที่เด็กหนุ่มนั้นใส่อยู่ มีกราฟฟิกเขียนคำว่า “Sex pistol”
Comments