ธรรมรุจา ธรรมสโรช เรื่องและภาพ
*บทความชิ้นนี้ผลิตโดยนักเขียนที่เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development 2024
พฤศจิกายน 2567 เป็นช่วงที่ไทยเรากำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู เราเพิ่งผ่านภัยน้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ ซึ่งจากสถิติและจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ นับว่าน้ำท่วมสูงที่สุดและก่อความเสียหายสูงสุดเท่าที่เคยมีมา แน่นอนว่าเป็นสถิติที่ไม่มีใครอยากทำลาย ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วช่วงสึนามิ
มกราคม 2548 สมัยนั้นผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาอยู่ชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากคลื่นยักษ์สงบไม่นานก็มีรถบัสคันใหญ่ขับพานักศึกษาอาสาสมัครไปยังเขาหลัก อ. ตะกั่วป่า จ. พังงา เพื่อปักหลักสร้างบ้านพักชั่วคราวให้คนในพื้นที่ซึ่งเพิ่งประสบความสูญเสีย ส่วนใหญ่สูญเสียทั้งที่อยู่อาศัยและสูญเสียคนในครอบครัว นับเป็นโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติที่บาดลึกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์…
ผู้เขียนตั้งคำถามว่าวิกฤตการณ์เหล่านี้ป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน.. เมื่อเกิดเหตุควรตั้งรับอย่างไร
และด้วยความที่ประเทศไทยของเรามีภูมิประเทศภูมิอากาศหลากหลายบทความนี้จะพาไปสำรวจ 6 จังหวัดผ่านมุมมองของคนท้องถิ่น เริ่มจากภาคใต้ที่พังงา สตูล ต่อด้วยภาคอีสาน อุบลราชธานี ยโสธร จบที่เชียงราย เชียงใหม่
หมุดเวลาภัยพิบัติใหญ่
2547 สึนามิ > 2549 ดินถล่มที่อุตรดิตถ์ > 2550 พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย > 2553 ดินถล่มที่สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ > 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ > 2560 น้ำท่วมนครศรีธรรมราช > 2562 น้ำท่วมอุบลราชธานี > 2567 น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ
ภาคใต้
พฤษภาคม 2567 ผู้เขียนเลื่อนจอมือถือไปเจอบัตรเชิญจากที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเลอันดามัน คุณ‘เรียง สีแก้ว’ เชิญชวนพ่อแม่พี่น้องเข้าร่วมกิจกรรมชาติพันธุ์อุรักลาโว้ยที่เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล งานจัด 2 วันเต็มคือ 30- 31 พฤษภาคม
ผู้เขียนรีบเคลียร์งานตรงหน้าแล้วจองตั๋วเครื่องบินที่พัก เดินทางเกือบ 1,000 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ สู่หาดใหญ่ จากหาดใหญ่สู่สตูลแล้วนั่งเรือต่อไปยังเกาะหลีเป๊ะด้วยความช่วยเหลือของคุณ‘สมยศ โต๊ะหลัง’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิอันดามัน เมื่อไปถึงก็นั่งฟังพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์ทั้งอุรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน เล่าวิถีประมงยั่งยืน ประเด็นประทับใจเห็นจะเป็นวิธีหนีคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งชาวมอแกนสังเกตเห็นความผิดปกติซึ่งน้ำทะเลลดลงฮวบฮาบจึงพากันปีนขึ้นต้นมะพร้าวและเมื่อคลื่นมาก็แทบไม่มีใครเสียชีวิต เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ ณ ขณะนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการเผยแพร่ การจัดการรัฐเป็นแบบบนลงล่าง ขาดการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ยังดีที่หลังจากสึนามิมีความตื่นตัวของทั้งรัฐและชุมชนจึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้น
(บรรยากาศงานชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล)
ตุลาคม 2567 ผู้เขียนติดต่อไปยังผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย คุณ‘ไมตรี จงไกรจักร์’ เพื่อสอบถามถึงการจัดการภัยพิบัติและบทสนทนาก็เข้มข้นตั้งแต่คำแรก
จุดเริ่มต้น
“ตอนสึนามิมีคนไทยตาย 5,400 อยู่ที่อำเภอผม 4,900 เดิมผมเป็นนักธุรกิจในชุมชน มาเล่นการเมืองท้องถิ่นแล้วก็มาเจอสึนามิ ญาติผมตาย 40 กว่าคน พ่อด้วย ผมรู้สึกว่าเรามุ่งมั่นทำงานแล้วอยู่กันดีๆ ก็ตายเป็นร้อยเป็นพัน ผมรู้สึกว่าผมทำงานไปทำไม พอคนตายช่วงนั้นมีแต่คนพูดถึงความดีของคน เราจะมีตังค์มีอำนาจไปทำไม มาทำประโยชน์สังคมจริงๆ ดีกว่า หลังเป็นอบต. ได้ 3 ปีก็ลาออก ลาออกช่วงพรบ. 2550 ออกพอดี (พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เลยมาช่วยชุมชนทุกเรื่อง ทั้งสิทธิที่ดิน เรื่องชุมชนพื้นที่เสี่ยง หมู่บ้านผมเกือบถูกรื้อเพราะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็เลยมาทำประเด็นชุมชนรับมือป้องกันภัยพิบัติ เราเป็นชุมชนโมเดลแรกของประเทศก่อนมีพรบ. พอมีภัยพิบัติที่อื่นก็ไปช่วย”
(ภาพการทำงานป้องกันและกู้ภัยพิบัติ จากมูลนิธิชุมชนไท)
ภาพรวมของการทำงาน
“ภัยพิบัติเนี่ยการจัดการมี 3 ระยะ ก่อนเกิด ขณะเกิด หลังเกิด ศักยภาพการจัดการของรัฐไม่เท่ากัน
ทุกครั้งตอนก่อนเกิดรัฐจัดการไม่ได้สักครั้งเลยเข้าสู่ช่วงที่ 2 คือขณะเกิดภัย ซึ่งพอเกิดภัย ภัยพิบัติแบ่งเป็น 5 ระดับ 1 ระดับท้องถิ่นมีนายกอบต. จัดการ
ระดับ 2 คือมากกว่า 1 ท้องถิ่นเป็นระดับอำเภอ นายอำเภอจัดการ
ระดับ 3 ระดับจังหวัดผู้ว่าจัดการ ต่อไปก็ระดับประเทศและภูมิภาค
มีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ให้ข้อมูล ช่วยเหลือ กู้ภัย ฟื้นฟู ระดับ 2-3 ใช้งบจังหวัดได้เลย เอาทรัพยากรมาใช้ได้ เจ้าหน้าที่รัฐเวลาอบรมต้องส่งคนที่มีอำนาจสั่งการไปอบรม ถึงเวลาถ้าคนสั่งการไม่มีความรู้จะทำอะไรไม่ได้”
งานหลักที่ทำ
“เราเป็นองค์กรเล็กๆ นะ มีพนักงานประจำรวมผม 9 คน มูลนิธิเรามีภารกิจหลักเพื่อเสริมกำลังชุมชนเราให้ความสำคัญกับการเตรียมการ แต่เราทำได้แค่ 139 ชุมชนเองด้วยทรัพยากรที่จำกัด ประเทศไทยมีพื้นที่ชุมชน 90,000 หมู่บ้านโดยประมาณ เสี่ยงภัยอยู่ 40,000 เศษ อันนี้รวมทุกภัย โดยหลัก(รัฐ)ควรจะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้ในการเตือนภัยด้วยตัวเอง เช่น ที่ไหนคือจุดปลอดภัย ที่ไหนเสี่ยงภัยอะไรบ้าง ภัยมีหลายภัย ดินถล่ม แผ่นดินไหว น้ำท่วม น้ำหลาก
ฉะนั้นหนึ่ง ถ้าเราให้คนในชุมชนวิเคราะห์เองจะทำให้เขาตระหนัก
สอง ถ้าเขาเตรียมพร้อมเขาจะรู้ว่าจะจัดการอย่างไร
สาม ถ้าเขาได้เตรียมจะมีแผน จะจัดการระบบได้ เช่น มีครัวกลางไหม มีระบบเฝ้าระวังความสูญเสียของชุมชนไหม มีโจรปล้นไหม คนที่ไม่ยอมออกจากบ้านเพราะห่วงทรัพย์สิน ไม่มีคนไปดูแลให้เขา”
ปัญหาที่พบ
“รัฐให้งบประมาณไปที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปีหนึ่งประมาณ 10-20 ชุมชน แต่เรามีเสี่ยง 40,000 ตอนนี้ชุมชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเสี่ยงอย่างไร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่รู้เพราะคนเขียนแผนคือเจ้าหน้าที่แผน ไม่ได้มีส่วนร่วม ผมว่ารัฐพยายามทำแต่ให้ความสำคัญน้อยเกินไป คนทั้งประเทศตั้งรับไม่เป็น พอมีเหตุก็จะพูดกันว่ามันไม่เคยมีตั้งแต่เกิดมา
ระบบเตือนภัยเวลาเตือนจะเตือนไปที่ผู้ว่าฯ แล้วประชาชนรู้ตอนไหน ศูนย์เตือนภัยตอนแรกอยู่ใต้สำนักนายกฯ แล้วต่อมาย้ายมาอยู่กับกระทรวงดิจิตอล สุดท้ายย่อมาเป็นกอง ความสำคัญมันลดลง
การสื่อสารก็สำคัญ เวลาพูดเรื่องหน่วยมันไม่มีใครมาบอกว่าน้ำจะท่วมบ้านฉันกี่โมง ฝนตก 70% ตกตรงไหนหรือต้องมานั่งเดา”
ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่พบบ่อย
“จริงๆ ระเบียบกฎหมายมีเขียนไว้ว่าผู้ประสบภัยต้องได้กินข้าววันละ 3 มื้อ มีงบจ่ายได้มื้อละ 50 บาทแต่เวลาทำมีข้าวกล่องไปแจก ซึ่งไม่ทั่วถึง เราต้องมีระบบครัวกลางให้ผู้ประสบการช่วยกันทำ ประสบการณ์มูลนิธิผมทำแบบนี้ ที่วารินชำราบ อุบลฯ เราทำนะ เราระดมของไปให้ชาวบ้านแล้วตั้งครัวกลางให้เขาทำกินกันเอง และก็สร้างโรงเรียนต่อเรือ ชาวบ้านก็มาเรียนเขาจะได้มีเรือของเขาเอง พอมันเป็นของเขาเขาก็ซ่อมดูแล บำรุงรักษาของเขา ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เรือก็มีหลายแบบ ถ้าเป็นเรือรัฐของปภ. จะเป็นเรือเหล็กใหญ่ๆ ซึ่งเข้าไม่ได้ทุกพื้นที่ ไม่เหมาะกับบริบท ใช้ได้ไม่ทั่วประเทศ นึกถึงสถานที่นะ เรือแม่น้ำเจ้าพระยาแบบหนึ่ง เรืออันดามันแบบหนึ่ง เราก็สอนชาวบ้านทำเรือไฟเบอร์ ในเมืองจะต่อเรือสั้น ริมแม่น้ำมูลจะต่อเรือยาว นี่ตัวอย่างแค่เรื่องเรือ เรามีฝึกคนให้กู้ชีพเป็น กู้เรือเป็น ทำครัวเป็น โรงเรียนนี้มูลนิธิหาเงินไปช่วยสร้างให้ชาวบ้าน เราทำโมเดลบ้านลอยน้ำด้วย โมเดลอู่ต่อเรือ โมเดลโรงเรียนเรือ”
อุปสรรคใหญ่ที่สุด
“จุดเปลี่ยนประเทศไทยเนี่ย… เราต้องบังคับ รัฐต้องให้งบจากงบกลาง เพราะว่าท้องถิ่นส่วนใหญ่ยากจน เราต้องให้คน ให้ความรู้ ให้ระเบียบ ให้กฎหมายนโยบาย ผมว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดคือระเบียบกฎหมายนี่แหละ พรบ. 2550 ไม่ครอบคลุม ผมทำทีหนึ่งนะ ร่างแก้พรบ. นี้ ล่ารายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ นายกฯ ประยุทธ์ไม่เซ็นก็ตกไป นายกฯ ใหม่มาก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง รัฐต้องเข้าใจว่าถ้าประชาชนเติบโตเข้มแข็งจะช่วยลดภาระรัฐ เราต้องมีระเบียบหรือนโยบายออกมาให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หรือดำเนินการให้เสร็จภายในกี่ปีก็ว่าไป รัฐบาลต้องหนุนงบ เช่น 7,000 ชุมชน ชุมชนละ 1 ล้าน คือ 7,000 ล้าน ทำ 3 ปีให้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชน ให้ท้องถิ่นช่วยกันจัดการหาเครื่องมือ ถ้าแบบนี้ 3 ปีก็เสร็จ”
คิดว่าจะป้องกันภัยพิบัติได้อย่างไร
“ภัยพิบัติอย่างเชียงรายเนี่ยป้องกันได้ ถ้าองค์ประกอบครบ ส่งเสริมการเรียนรู้ประชาชน มีระบบเตือนภัย มีระบบการจัดการน้ำ แต่พอรัฐไม่ให้ความสำคัญสุดท้ายต้องให้อาสาสมัครช่วย ผมชื่นชมคนที่ไปช่วยแต่ทำไมเราต้องให้คนทั้งประเทศไปช่วยทุกที่”
ปัญหาหลักของรัฐ
“รัฐชอบมองว่าภัยพิบัติเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้าไปช่วยประชาชน นี่คือเรื่องอำนาจและงบประมาณ อีกเรื่องคือกฎหมายพรบ. ภัยพิบัติปี 2550 ไม่เอื้อให้รัฐเข้ามาจัดการ ไม่ระบุว่าต้องมีหน้าที่อะไร ถึงเวลาท้องถิ่นใช้งบไม่ได้เพราะสตง. ไม่อนุมัติบอกว่ายังไม่เกิดภัย ผมมองว่ากฎหมายคือปัจจัยหลัก
เราไม่ควรให้ประชาชนเป็นแค่ผู้ร้องขอรอรับ ถึงเวลาเอาถุงยังชีพไป รอรัฐทางเดียว ทัศนคติแบบนี้มันโบราณ ตัวอย่างที่ดีคือญี่ปุ่นนะ มาตรฐานเขาสูง ประชาชนเชื่อมั่นรัฐ รัฐก็น่าเชื่อถือ มีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันเขาเลยรอด”
ความกังวลเกี่ยวกับภาคใต้
“กังวลประเด็นเดียวกันทุกภาค ปัญหาเดียวกันทุกภาค แต่ถ้ามองมุมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมอแกน มอแกลน อุรักลาโว้ย เขาไม่มีบทบาททั้งที่เขามีภูมิปัญญาเรื่องคลื่นยักษ์เจ็ดชั้น มีเรื่องเล่ามานานแล้ว ทุกเรื่องเลยเรื่องการพัฒนา ถ้าไม่ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งคุณจะออกแบบแบบเดียวใช้ทั่วประเทศ ต้องใช้ฐานภูมิปัญญา ฐานประสบการณ์ของที่นั่นและต้องสื่อสารให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แผนที่เข้าใจแต่คนเขียน”
สื่อมวลชนจะช่วยได้แค่ไหน
“สื่อมวลชนต้องชี้ให้เห็นปัญหา สื่อสารกับรัฐไปในทางเดียวกัน คิดว่าสื่อเน้นเล่าเรื่องในภาวะวิกฤตทำให้คนเข้าใจว่ามีมุมแค่นั้น เช่น หาอาสาสมัคร กลายเป็นเห็นด้านเดียว แต่เรื่องการป้องกันล่ะ ระบบดูแล ระบบข้อมูลล่ะ เหล่านี้คือการฝึกความรู้ร่วม ถ้าสื่อแสดงประเด็นเหล่านี้ให้เห็น เช่น ครัวกลางของชุมชนช่วงภัยพิบัติ อันนี้จะช่วยได้”
(ภาพการทำงานอาสาสมัครมูลนิธิกระจกเงา จ. เชียงใหม่และจ. เชียงราย จากคุณวิทยากร โสวัตร)
ภาคอีสาน
หลังเก็บข้อมูลจากฝั่งที่ทำงานด้านการป้องกันภัยพิบัติ ผู้เขียนเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่แดนอีสานโดยมีจุดหมายเป็นร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย ก่อตั้งโดยคุณ‘วิทยากร โสวัตร’ ซึ่งเป็นนักเขียนและนักกิจกรรมคนสำคัญของภาคอีสาน อีกบทบาทหนึ่งคืออาสาสมัครล้างบ้านจากมูลนิธิกระจกเงา สำนักงานจ. อุบลราชธานี
ทำไมถึงมาเป็นอาสาสมัคร
“ถ้าพูดถึงตัวผม ผมทำตั้งแต่เป็นเณร ต่อมาเป็นนักศึกษาชอบทำกิจกรรม มีระบบ เขาจะสอนทักษะในการไปทำงานอาสา สมัยก่อนผมก็ทำงานกับอาจารย์ถนอม (ชาภักดี)
จริงๆ ผมทำทุกอย่างนะ เรื่องโครงสร้าง เรื่องวิชาการเราก็ต่อสู้แต่ว่าเรื่องงานอาสาสมัคร เหมือนคุณเห็นคนลำบากผมก็มองว่าต้องทำ ถ้าผมรอคุณปรับเรื่องโครงสร้างอาจจะมีลูก 5 คนไปแล้วความฝันของผมคือถ้าไม่มีตังค์ต้องลงแรง ปีหนึ่งทำงาน 11 เดือน เดือนที่ 12 แบ่ง 3 ส่วน พาลูกเมียไปเที่ยว ที่เหลือไปลงแรง เราไม่ต้องทำงาน 12 เดือนนะ ถ้าคุณมีวินัยคุณจัดสรรได้
แต่ไปๆ มาๆ ปีนี้ผมทำงานไม่ถึง 8 เดือน ที่เหลือทำงานอาสา (ยิ้ม) ก็วางแผนได้ว่าเดือนไหนจะไปดับไฟ”
พูดเหมือนไฟป่าวางแผนได้
“เพราะเรารู้อยู่แล้วครับ มีนาฯ มาแล้ว เมษาฯ มาแล้ว”
มองรัฐบาลอย่างไร
“จริงๆ รัฐบาลก็ทำงาน ผมว่ารัฐเขาตั้งใจอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากให้บ้านตัวเองไม่ดี แต่พรรคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคือพรรคราชการซึ่งมันต้วมเตี้ยม มันผ่านกระบวนการ แต่มีสมัยปี 45 ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาแล้วน้ำท่วมอีสาน รัฐบาลลดกระบวนการ สั่งการเลยว่าทุกอย่างเคลียร์หมดก่อนน้ำมา บ้านหลังไหนที่สุ่มเสี่ยงต่อการลอยผูกสลิงใหญ่กับต้นไม้เลย คำนวณเสร็จว่าน้ำท่วมสูงเท่าไร แต่ปี 62 และ 65 ที่ผ่านมา เรารู้อยู่แล้วว่าน้ำจะมา เขื่อนไม่คุยกัน ไม่มีการประสานงานกัน คนที่บริจาคเงินเลยบริจาคท้องถิ่น ถ้าให้จังหวัดต้องผ่านส่วนกลางแล้วกว่าจะเบิกงบลงมาอีกที มันไม่คล่องตัว”
กระจกเงาทำงานที่ไหนบ้าง
“สำนักงานเรามีที่กรุงเทพฯ อีสานที่อุบล เหนือที่เชียงราย เอาของเล่นขึ้นดอยทุกวันเด็ก จะประกาศหาอาสาสมัครตลอดกับพวกเด็กๆ ส่วนใหญ่งานเป็นล้างบ้าน กำลังหลักจริงๆ สมมติเดือนนั้นไม่มีอาสาสมัครจากด้านนอกเราจะมีเด็กชาติพันธุ์นี่แหละมาเป็นอาสาสมัคร ส่วนอื่นๆ ก็มีงานดับไฟป่า งานของกระจกเงาลดขั้นตอนไปหลายอย่าง ปกติบินโดรนต้องขออนุญาต แต่มูลนิธิลดขั้นตอนพวกนี้ไปหมดเลย
ส่วนของผมผมล้างบ้านก็ทำที่อุบลฯ ด้วย ที่เชียงใหม่เชียงรายด้วย ดับไฟผมขึ้นดอยเชียงใหม่ 3 ดอย ขึ้นไปดับไฟ วิ่ง 10 กิโลขึ้นดอยเมื่อต้นปีนี้แหละ ที่แม่แตงหนักมากตอนไปนี่สี่แยกไฟแดงอยู่ตรงหน้ามองไม่เห็นไฟแดงเลย ทำได้ทีละฟุตและไฟติดเร็วมาก ลมพัดนี่ติดไฟข้ามไปอีกจุดเลย ตอนนั้นดับไฟเราก็ดับไม่ได้สนิท เราพยายามปิดทางคือทำแนวกันไฟ เจ้าหน้าที่ทำงานหนักมากบางทีคนเดียว 2 ดอย คนไม่พอ”
ไฟก็ไว น้ำก็ไว
“เหนื่อยสุดที่ไปคือดับไฟ 3 ดอยนี่แหละ เมษาฯ ปีนี้ผมขึ้นไปฉีดน้ำ ผมและอาสาเนี่ยลงดอยมามองไม่เห็นอะไรเลย ลงมาเพื่อดับไฟตีนดอยไม่ให้มันขึ้นไปอีกดอยหนึ่ง กันพื้นที่ไม่ให้ไฟลาม มีบินโดรน หลายครั้งเข้าไปดับไฟเขาจะเอาทหารเข้ามาเคลียร์เขาก็ประสานกันกับมูลนิธิ
ถ้าเปรียบเทียบเรื่องล้างบ้าน บ้านที่อุบลฯ น้ำท่วมจะไม่เหมือนที่เชียงราย
น้ำอุบลฯ มันแช่ 2-3 เดือน น้ำขังแต่น้ำค่อนข้างสะอาด แต่มันฝังผนังเป็นเชื้อรา ออกแรงมากกว่า เอาน้ำยาตักใส่ถังราด เอาน้ำเปล่าล้างให้แห้งก็จบ
เชียงรายเป็นโคลน น้ำลดเร็วแต่คราบดูไม่ได้ ต้องฉีดน้ำ ส่วนตัวพื้นต้องเอาดินออก ต้องใช้อุปกรณ์ขูด ต้องใช้แปรงขูดออก ซอกก็ต้องขัดโคลนออก พื้นที่เชียงรายออกแรงหนักกว่า”
สาเหตุของภัยพิบัติในไทย
“ภูมิประเทศเป็นส่วนใหญ่ ภูมิอากาศก็ด้วย ตอนนี้ตัวกรองน้ำ ตัวทานน้ำ ต้นไม้พัง หน้าดินพัง น้ำก็ท่วมหนัก”
นิยามคำว่าระบบที่ดี
“ต้องมีตัววัดที่ดี ของเราบางทีเราไปวัดไปคำนวณในพื้นที่ประเทศอื่นไม่ได้ เข้าไปคือเป็นการรุกล้ำทันทีและเราไม่มี MOU ที่จะเข้าไป บางที่มีร่องความกดอากาศที่ทำให้ฝนไม่กระจาย ปัจจัยหลักคือความชื้นสัมพัทธ์ เรารู้ความชื้นสัมพัทธ์ในเชียงราย เชียงใหม่ ในบ้านเรา เราไม่รู้ความชื้นสัมพัทธ์ที่พม่า ของเขาเราเดา
ตอนนี้เราไม่มีสัญญาณเตือนภัย เราอาจจะอยู่ในความเชื่อว่าเราอยู่ในประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศที่ดีที่สุดในโลกเลยไม่มีจุดเตือนภัย ล่าสุดตอนนี้แม่สายเพิ่งมีจุดเตือนภัย มีที่เดียวอยู่ต้นน้ำแม่สาย ถ้ามันหวอปลายชุมชนจะได้ยินไหม นี่เป็นวาระแห่งชาติ”
ทางรอดการจัดการภัยพิบัติในไทย
“ทางรอดเราก็เหมือนอย่างอื่น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโลก ภูมิอากาศขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมโลก ฉะนั้นทุกจุด ไฟ น้ำ ลม ต้องเริ่มแล้วว่าทุกจุดต้องมีสิ่งเตือนภัย ต้องมีศูนย์ภัยพิบัติที่มีความเชี่ยวชาญ และสแตนด์บาย 24 ชม. จะทำสิ่งนี้ได้ต้องปฏิรูประบบราชการ ไม่ใช่ล้มเลิกนะแต่ลดขั้นตอนให้ข้าราชการเป็นข้าประชาชน”
เมื่อขับจากอุบลราชธานีไปราว 2 ชม. ผู้เขียนได้พบกับคุณอุบล อยู่หว้า เกษตรกรชาวยโสธรและผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก จ. ยโสธร มุมมองของคุณอุบลสะท้อนภาพความจริงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
( คุณอุบล อยู่หว้า เกษตรกรชาวยโสธรและผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก จ. ยโสธร )
เล่าภาพรวมของสภาพภูมิอากาศที่อีสาน
“มันแย่ลงไม่ต้องสงสัยเลย การเปลี่ยนแปลงชัดเจนถามได้ทุกคนเลย อย่างแรกคือการตกของฝน ฝนตกไม่เหมือนเดิม ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนนี่แปลว่าแผนการเพาะปลูก แผนชีวิตของชาวนาที่ผูกกับแผนพอแปรปรวนสูง ก็คือไม่ได้ผล เช่น ฝนมาเร็ว เพิ่งหว่านเมล็ดไป 25-30 กิโล ท่วมทิ้งหมดเลย
อย่างเพื่อนผมหว่านข้าวไปน้ำท่วม พอไม่แน่นอนก็เกิดความเสียหาย เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำชีบ้านผมแต่ก่อน 10 ปีท่วม 3 ครั้ง ตอนนี้ปีเว้นปีหรือปีต่อปี มันรุนแรง มันถี่ มันก่อความเสียหาย ทำกินแทบไม่ได้”
การสร้างเขื่อนมีผลไหม
“มีผล ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากเขื่อน เมื่อก่อน 3 คืนจึงจะพ้นยอดข้าว ตอนนี้คืนเดียว ท่วมเร็ว ท่วมนานพื้นที่ราบลุ่มแต่ก่อนคนไปอยู่เยอะเพราะอุดมสมบูรณ์ตอนนี้พื้นที่ราบลุ่มกลายเป็นพื้นที่ประสบภัย ชาวบ้านต้องดิ้นรน หาทางออกให้ตัวเอง”
กระทบปัญหาหนี้สินมากน้อยแค่ไหน
“น้ำท่วมปีหนึ่งเขาจะจนไป 3 ปี เนื่องจากถ้าเขาไม่ได้ผลผลิตเขาต้องดิ้นรนหาข้าวกิน เรื่องเศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีผลผลิตจะขาย บางพื้นที่ฟื้นตัวแทบไม่ได้นะกับที่ที่ท่วมทุกปี เพราะกำลังจะฟื้น เพิ่งซ่อมบ้านน้ำท่วมอีกก็โงหัวแทบจะไม่ได้เลย”
ปัญหาอื่นๆ นอกจากน้ำท่วม-น้ำแล้ง
“มีที่ขอนแก่น ปลูกข้าวโพดอยู่บนที่สูงมีการระบาดของแมลงจนข้าวโพดเสียหายอย่างหนัก แมลงไม่เคยมีมากขนาดนั้น ผีเสื้อบินมาวางไข่ทั้งวัน หนอนระบาด ล้วนแล้วแต่มากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนบนที่สูงก็บ่นว่าร้อนขึ้น”
ปัญหาหนักที่สุดของเกษตรกรอีสาน
“ช่วงที่อุณหภูมิสูงเกสรข้าวจะลีบ จะตายไปก่อน ไม่ติดเมล็ด จะเกิดสภาพข้าวไม่ก้ม ก็คือข้าวไม่สร้างแป้งในภาษานักวิชาการ ตอนนี้เกิดข้าวลีบเยอะ ที่อีสานหนักสุดก็คือข้าวไม่สร้างแป้งนี่แหละ”
แล้วจะพอเพียงต่อการกินในบ้านไหม
“ต้องตัดข้าวทิ้งเป็นหญ้าให้วัวกิน กินเองไม่ได้”
มองรัฐบาลอย่างไร
“จริงๆ รัฐก็ทำงาน งานของกรมการข้าวก็มีวิจัยอยู่ แต่จะอยู่แค่ในพื้นที่ของเขาแต่ไม่ได้มาร่วมกับชาวนาหรือมาวิเคราะห์โจทย์ร่วมกันเท่าที่ควร”
ตอนน้ำท่วมรัฐแจ้งเตือนภัยไหม
“ระบบเตือนภัยแทบจะไม่มี อย่างปี 65 แจ้งผ่านไลน์กำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วตอนนี้น้ำท่วมไม่เหมือนเดิม อย่างศรีสะเกษอยู่ริมแม่น้ำมูล หมู่บ้านตั้งอยู่ที่สูงไม่เคยท่วม ปรากฏว่าท่วม บางครัวเรือนมิดหลังคา ระบบเตือนภัยล้มเหลว ช้า ไม่ทันการณ์ ตอนนั้นพืชตระกูลส้มตายหมดนะ ส้ม มะนาว มะกรูด ตายทั้งสวน ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูดินนาน 3 ปีได้ ไผ่ก็เหมือนกันครับที่กินหน่อไม้ ก็ 3 ปี
ที่ว่าแจ้งเตือนนี่มี แต่บอกเป็นเมตรเป็นหน่วย แต่จินตนาการของชาวบ้านจะดูจากต้นไม้ จากเสา จากขอบประตู นี่คือข้อมูลที่ประชาชนเข้าใจ ส่วนที่แจ้งแจ้งเป็นลูกบาศก์เมตร”
แสดงว่าการสื่อสารมีปัญหา
“ระบบการสื่อสารที่ผ่านมาทำผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน แจ้งในที่ประชุม มีนายอำเภอนั่งหัวโต๊ะ มันช้ามาก เขาต้องสร้างระบบเตือนภัยแบบใหม่ ผมว่าต้องส่งข้อมูลตรงกว่านั้น กลุ่มไลน์ กลุ่มเฟส หรือหน่วยงานต้องตรงไปที่ประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่โครงสร้าง เราขาดแผนเผชิญเหตุในทุกพื้นที่ มีNGOทำเรื่องนี้กับรัฐอยู่ แต่ยังไม่คืบหน้า เราต้องรู้ว่าแต่ละพื้นที่มีผู้สูงอายุกี่คน สัตว์กี่ตัว ต้องอพยพปศุสัตว์ไหม ต้องคิดกันในระยะยาว เราต้องมีคลังสำรองอาหาร ทั้งของมนุษย์และสัตว์ อย่างปี 65 เราไม่มีอาหารให้ควาย ควายตายก็ลอย ตัวที่ไม่ตายชาวบ้านก็ต้องล่องแพไปให้อาหารควาย ระหว่างทางมีงู อันตรายทั้งคนทั้งสัตว์”
การจัดการของภาคอีสานสามารถพูดได้ไหมว่าคือการแก้หลังเกิดเหตุ
“ใช่ ระบบการเตรียมการไม่ดี แผนเผชิญเหตุ เช่น เรือจะมาจากไหน อพยพคน ปศุสัตว์ไปที่ไหน ตอนปี 65 ท่วมแล้วค่อยคิดว่าอพยพวัว 200 ตัวไปไหน ต้องเอาถังมาผูกเป็นคอกวัวแล้วใช้เรือยนต์ลากวัวออกไป สอบถามกันแต่ละครัวเรือนว่าจะไปผูกที่ไหน วัว 200 ตัวใช้เวลา 2 วัน วัวตัวละ 300- 400 กิโล”
รัฐควรทำอะไรเพิ่ม
“รัฐต้องสื่อสารกับประชาชน ในทางวิชาการควรมีข้อมูลที่จะบอกเกษตรกร เช่น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฝนจะตกน้อยลง สื่อสารความรู้ว่าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงจะกระทบอะไร รวมทั้งช่วยหาทางออก งานวิจัยควรมีเชิงปฏิบัติการที่ทำร่วมกับประชาชนในพื้นที่”
สื่อมวลชนควรทำอะไรเพิ่ม
“การสื่อสารเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนี่ยเข้าใจยากอยู่แล้ว สื่อมวลชนต้องเข้าใจความจริงแล้วสื่อสารออกมาก็จะช่วยได้มาก สื่อในภาษาที่เกษตรฟังรู้เรื่อง เข้าใจทันที”
เครือข่ายเกษตรกรทางเลือกเน้นทำงานด้านไหนบ้าง
“กลุ่มพวกผมเป็นการรวมตัว ชาวบ้านที่มีกลุ่ม มีองค์กร จะมีพลังในการวิเคราะห์มากกว่าชาวบ้านเดี่ยวๆ ของพวกผมมีการสรุปบทเรียน มีการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตัวเอง เดือนไหนเลื่อนไป ต้นปีเป็นอย่างไร ตรงไหนร้อนขึ้น เราช่วยกันพยากรณ์โดยแลกเปลี่ยนกันเองกับนักวิชาการ มันทำให้พวกที่มีการรวมกลุ่มจะได้รับข้อมูจากภายนอก เช่น
ที่พวกผมทำคือการรวบรวมพันธุ์ข้าว รวบรวมได้เป็นร้อย แค่ภาคอีสานเป็นร้อยแต่ถ้ารวมจากที่อื่นก็ 300 พันธุ์ได้ ในยโสธรมีอีก 100-150 พันธุ์ อยู่ในแปลงทดสอบพันธุ์เพื่อมาดูว่าสภาพอากาศแบบนี้ข้าวพันธุ์ไหนรอดบ้าง เรามีแกนนำที่ทำงานตรงนี้อยู่ พอรวมกลุ่มเกษตรกรได้เราสามารถขายข้าวได้ตรงกับผู้บริโภค เช่น ขายตามงานอีเว้นท์ ขายร้านอาหาร นี่คือกลุ่มที่มีการจัดการร่วมแต่ก็มีภาระเพิ่มในการจัดทำมาตรฐานอินทรีย์ ซึ่งบางครั้งราชการช่วยบ้าง”
(พ่อราญและพ่อสาในแปลงทดสอบพันธุ์ข้าว จ. ยโสธร)
เมื่อจบการสนทนาคุณอุบลได้แนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกับปราชญ์ท้องถิ่นอีก 3 ท่านในพื้นที่จังหวัดยโสธร นั่นคือ พ่อราญ ‘ดาวเรือง พืชผล’ พ่อสา ‘บุญสา หูตาชัย’ และพ่อวัน ‘วรรณา ทองน้อย’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ผู้ใหญ่ทั้ง 3 ได้พาเดินชมแปลงทดสอบพันธุ์ซึ่งในบรรดาข้าว 100- 150 พันธุ์ พันธุ์ซึ่งเป็นที่นิยมก็คือข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว
พ่อราญเล่าว่า “ที่เราต้องปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ในพื้นที่ดินเดียวกัน น้ำเดียวกัน อากาศเดียวกัน มันจะเห็นศักยภาพของสายพันธุ์ที่หลากหลาย พันธุ์ไหนตอบสนองกับพื้นที่ พันธุ์ไหนมีลักษณะเด่นที่ทนโรคทนแมลง เราจะพัฒนาและคัดเลือกพันธุ์ไปด้วย ฤดูหน้าเราจะเลือกกอ กอหนึ่งมาจากเมล็ดเดียว เราเลือกกอเลือกรวงที่ดีที่สุดเสมอ นี่คือการคัดเลือกพันธุ์ การปลูกแบบนี้คือการป้องกันผลกระทบจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ”
(ภาพน้ำท่วม จ. เชียงราย โดยคุณเทเรซ่า สมศรี)
ภาคเหนือ
ทางด้านภาคเหนือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเชียงราย คุณเทเรซ่า สมศรี ได้ให้ข้อมูลว่าบ้านที่ริมแม่น้ำกก บางหลังน้ำสูงถึงหลังคา 4-5 เมตร
ที่ผ่านมาน้ำสูงขนาดนี้ไหม
“ไม่มีเลยค่ะ อยู่มา 20- 30 ปี ก่อนหน้านี้ไม่หนักขนาดนี้”
การกู้ภัยช่วงนั้นเป็นอย่างไร
“ส่วนใหญ่เป็นมูลนิธิที่ช่วยนะคะ จะมีคนเชียงรายเองด้วยที่เป็นอาสา ทั่วไทยเข้ามาที่นี่หมดเลย จะมีคนมาช่วยทำโซลาร์เซลล์ตามพื้นที่ที่ไม่มีไฟ อย่างบ้านเพื่อนที่ท่วมหนักใช้เวลา 4-5 วันต่อ 1 หลัง เป็นดินโคลน เชียงรายกลุ่มเปราะบางเยอะ กลุ่มผู้สูงอายุ”
การอพยพผู้สูงอายุ
“เรือทหารเข้าไปค่ะ กับเรือมูลนิธิ บางคนติดเครื่องช่วยหายใจ”
มีผู้เสียชีวิตไหม
“ตอนนั้นน้ำเข้ามาเร็วมาก 3 ชั่วโมงท่วมสูง กว่าจะรู้ข่าวไม่ทันแล้ว การสื่อสารไม่ทัน ไฟตัด ในหมู่บ้านก็มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเสียชีวิตค่ะ”
มาตรการการป้องกัน
“ไม่มีอะไรเลยนอกจากแจกกระสอบทราย คนในชุมชนมีแต่กลุ่มเปราะบาง ส่วนใหญ่ผู้หญิงและก็ผู้สูงอายุเยอะ ทางขับรถไปลำบากเพราะไม่เห็นทาง โชคดีมีพี่ผู้ชายที่เอารถไปขนกระสอบทรายมากั้นทั้งหมู่บ้านเพื่อปิดทางน้ำแล้วเราช่วยกันเองทั้งนั้นเลย ไม่มีอะไรมาจากทางการ”
ครั้งหน้าอยากได้อะไร
“อยากให้มีเทคโนโลยีมาช่วยดูระดับน้ำค่ะ อาจจะประสานกับประเทศอื่นๆ ด้วยว่าการปล่อยน้ำเป็นอย่างไร น่าจะมีการปล่อยน้ำจากต่างประเทศ เราควรมีการสร้างทางระบายน้ำกับการเจรจาระหว่างประเทศ เคยไปช่วยแม่สายน่าสงสารมาก มีทั้งคนไร้สัญชาติ มีเด็กเล็ก กลุ่มนี้สาหัสค่ะ”
และเมื่อสอบถามไปยังฝั่งนโยบาย ทางอาจารย์ ดร. ภัทร ชมภูมิ่ง อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสศาสตร์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ผู้เชี่ยวชาญประเด็นการจัดการภัยพิบัติ ได้แบ่งปันข้อมูลที่สอดคล้องกับทุกคนก่อนหน้า โดยได้เล่าว่าภาคเหนือมีภัยพิบัติหลัก 3 ประการ ได้แก่
น้ำท่วมน้ำแล้ง ดินถล่มและภัยธรรมชาติ หมอกควันและไฟป่า ข้อที่น่าเป็นห่วงคือข้อสุดท้ายซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลที่บันทึกไว้ระบุว่าปัญหาหมอกควันและไฟป่านี้มีมาราว 20 ปีแล้วและได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง กระทบสุขภาพของคนในพื้นที่และเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง นอกจากหมอกควันความเสียหายของน้ำท่วมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็รุนแรงจนน่าเป็นห่วง
สาเหตุของน้ำท่วมภาคเหนือคืออะไร
“ต้องมองไปที่ดินถล่มก่อน ดินถล่มมักเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรและสร้างที่อยู่อาศัย การทำไร่เลื่อนลอยที่เกิดขึ้นอย่างมากมายหลายกรณี แม้ภาครัฐจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไข แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด บางครั้งชาวไร่เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนในการถางป่าจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายหยั่งลึกลงในชุมชนเกษตรกรรม”
ผลกระทบที่รุนแรง
“เมื่อเกิดดินถล่ม จะทำให้บ้านเรือนและชีวิตของผู้คนเสียหายอย่างหนัก และสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล แม้ในกรณีของประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนืออาจจะไม่มีเหตุดินสไลด์เข้าหมู่บ้านมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการถล่มบริเวณทางสัญจร แต่ก็ไม่สามารถจะแน่ใจได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต”
ควรป้องกันอย่างไร
“ปลูกป่าเพื่อป้องกันการเกิดดินถล่ม และเตรียมการรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า เช่น ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
รัฐควรทำอะไรเพิ่ม
“ระเบียบการทำงานของภาครัฐที่มีแผนปฏิบัติการและคู่มือในการรับมือวิกฤตการณ์ต่างๆ ยังขาดการบูรณาการและการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์จริงอาจไม่ราบรื่นนัก แต่ก็นับว่าเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ออกมารับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรค การเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่าและหมอกควัน หรืออุทกภัย นอกจากนี้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการตั้งรับและทรัพยากรยังขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์ขนาดใหญ่”
การแก้ปัญหาระยะยาวจะทำได้อย่างไรบ้าง
“มี 3 ข้อหลักคือ 1. พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้ครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
2. เพิ่มการฝึกซ้อม โดยจัดให้มีการฝึกซ้อมรับมือวิกฤตการณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความพร้อมและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ จะช่วยในการเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการวางแผนและปฏิบัติงานด้านการป้องกันและรับมือวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต การสร้างคู่มือรับมือวิกฤตการณ์ครัวเรือนอาจจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญ กับประชาชนเราต้องสร้างความตระหนักรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และสุดท้ายต้องบูรณาการความรู้กับทุกภาคส่วน”
หลังจากผู้เขียนได้เดินทางไปสัมผัสทุกภาคทั่วประเทศไทย สรุปได้ว่าปัญหาภัยพิบัตินั้นเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องดำเนินการทั้งทางนโยบายและทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยออกกฎกติกาเพื่อป้องกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำ มีแผนเผชิญเหตุที่จับต้องได้ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นเพื่อให้ดำเนินการได้ทันท่วงทีตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ จนถึงหลังเกิดเหตุ หากทำได้จริงก็จะสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขอขอบคุณ
คุณเรียง สีแก้ว
คุณสมยศ โต๊ะหลัง
คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา
และผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคน
Commentaires